คลื่นลูกที่สามของไวรัสโคโรนา การประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้งในกรุงโตเกียวและอีก 3 จังหวัดใกล้เคียง ทำให้มีคำแนะนำให้ “ทำงานจากที่บ้าน” มากขึ้น การทำงานทางไกล (telework) อาจช่วยให้ท่านไม่ต้องเจอกับความยุ่งยากในการเดินทาง และยังประชุมออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย (ซึ่งหลายคนคงชอบ)
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีคนที่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ พวกเขาคือคนโสดที่ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) อยู่ในห้องเช่าแบบสตูดิโอตามอพาร์ตเมนต์เล็กๆ หลังจากผ่านคลื่นลูกที่หนึ่งและลูกที่สองมาได้แล้ว มาถึงตอนนี้กับ “คลื่นลูกที่สาม” ทั้งกายและใจของพวกเขาก็กำลังจะไปต่อไม่ไหวแล้ว
นาย A ชายวัยสามสิบกว่าๆ ซึ่งทำงานให้กับบริษัทไอทีแห่งหนึ่งตั้งแต่ฤดูร้อนของปีก่อน เขาได้เช่าห้องสตูดิโอค่าเช่าห้องเดือนละ 90,000 เยน (ราว 26,000 บาท) ในใจกลางกรุงโตเกียวใกล้ที่ทำงาน หลังจากที่เขาต้อง Work From Home ดูเหมือนว่าเขาจะปรับอารมณ์ไม่ค่อยได้ ความเครียดทำให้เขากินข้าวกินเหล้ามากขึ้นแล้วน้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้นอีก 7 กิโลกรัม ความเจ็บปวดสองต่อที่ต้องจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 90,000 เยนกับการนั่งอุดอู้ทำงานในห้องเล็กๆ นั้นมันช่างหนักหนาสาหัส
“ห้องสตูดิโอมันไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการทำงานจากที่บ้านตั้งแต่แรกแล้ว ต่อให้ทิ้งของต่างๆ ในห้องเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับทำงาน แต่แค่ยังมีฟูกนอนอยู่ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ผมเคยคิดเรื่องจะเอาเตียงลอยมาใส่ แล้วตรงใต้เตียงก็ใช้เป็นที่ทำงานคอมฯ แต่ห้องก็ไม่ค่อยมีแดดส่องแล้วต้องมาอยู่ที่ไฟสลัวๆ อีกมันก็น่าหดหู่”
“ผมพยายามเปลี่ยนอารมณ์ด้วยการไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟ หรือใช้บริการเทเลเวิร์คตามบิสิเนสโฮเทล แต่ค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่เล่นๆ บอกตรงๆ ผมอยากไปทำงานที่บริษัทมากๆ แต่มันเป็นไปไม่ได้เพราะเชื้อยังแพร่กระจายอยู่ ผมรู้ว่าพื้นที่เล็กๆ มันทำอะไรไม่ได้มาก บางทีก็หงุดหงิดจนอยากต่อยกำแพง ผมจะไม่ไหวละเนี่ย ทั้งเงินทั้งจิตใจ”
นางสาว B หญิงวัยยี่สิบกว่าๆ ซึ่งทำงานบริษัทเกี่ยวกับเว็บไซต์ ก็บ่นด้วยสีหน้าเศร้า เธออาศัยอยู่ในห้องสตูดิโอในย่านใจกลางเมืองโตเกียวและทำงานจากที่บ้านตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา
“ฉันไม่มีสมาธิในการทำงานเพราะมีสิ่งหลอกล่อมากเกินไป แล้วชีวิตฉันก็เป็นคนที่ค่อนข้างปิด ไม่ได้พูดคุยกับผู้คน อารมณ์ก็หมองหม่น กลางคืนก็นอนไม่หลับ”
เมื่อปลายปีที่แล้ว นางสาว B ตัดสินใจออกแบบการใช้ชีวิตทำงานจากที่บ้านในห้องเดี่ยวขึ้นมาเอง
“ฉันแต่งตัวให้ดูเรียบร้อยและแต่งหน้าอ่อนๆ ฉันฝึกพูดฝึกยิ้มในกระจก ฉันออกไปซื้ออาหารแบบหิ้วกลับบ้านบ้าง สั่งอาหารให้มาส่งบ้าง กินอาหารดีๆ แพงๆ ได้บ้างสัปดาห์ละครั้ง พยายามเก็บเงินและตั้งเป้าว่า “หมดโควิดเมื่อไหร่ ฉันจะไปเที่ยวเมืองนอก” พอพยายามทำชีวิตให้มีความสุข ก็เริ่มมีสติ รู้สึกว่าอารมณ์ดีขึ้นเล็กน้อย”
นาย C ชายวัยยี่สิบกว่าๆ ทำงานที่โรงงานผลิตสินค้า ซึ่งต้องไปทำงานที่โรงงานเดือนหนึ่งๆ หลายครั้ง แต่หลักๆ แล้วเขาทำงานจากที่บ้าน “ทุกวันนี้ผมอยู่ห้องเดี่ยวขนาด 7 เสื่อ (ราว 11 ตารางเมตร) ในโตเกียว ผม Work From Home ไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกเหงา แต่เวลาได้นั่งกินเหล้าอยู่กับบ้านก็ค่อยสบายใจหน่อย”
“Work From Home ใน “บ้านกระต่าย” นี่มันเจ็บปวดจริงๆ บางทีก็ตั้งวงเหล้ากันผ่านแอพฯ Zoom ประมาณว่ารู้กันในหมู่เพื่อนฝูงว่าใครจะเข้าจะออกเมื่อไหร่ก็ได้ไม่ว่ากัน บางทีก็นั่งบ่นเรื่องบริษัทบ้าง เรื่องความลำบากของชีวิตในห้องเช่าบ้าง มันก็ทำให้ใจมันดีขึ้นบ้างนิดหน่อย”
มาถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้อ่านคงจะได้เห็นความลำบาก คุณภาพชีวิตที่แย่ของคนทำงานของญี่ปุ่น จะว่าไปไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น รูปแบบของชีวิตคนทำงานวัยหนุ่มสาวในกรุงเทพฯ บ้านเรา หรือตามนิคมอุตสาหกรรมตามจังหวัดใหญ่ๆ อย่างชลบุรี ระยอง หลายคนก็ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกับกรณีของคนญี่ปุ่นที่หยิบยกขึ้นมาเท่าไหร่นัก สำหรับคนทำงานระดับปฏิบัติการ หรือคนทำงานฝ่ายผลิตในโรงงาน ไลฟ์สไตล์ของ “คนบ้านๆ” แบบพวกเขาเน้นการสังสรรค์รวมกลุ่ม ตั้งวงเหล้า นั่งกินข้าวเป็นหมู่อยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่ค่อยขาดแฟน ดังนั้นชีวิตปกติของพวกเขาก็ไม่เงียบเหงาเท่าไหร่ ภาวะโควิดอาจแค่ทำให้พวกเขามีความสุขน้อยลง แต่คนทำงานระดับสตาฟตามบริษัทใหญ่ๆ ในเมือง โดยเฉพาะคนโสดที่มาอยู่ตัวคนเดียว ห่างจากครอบครัวมาเพื่อทำงานหาเงิน ชีวิตปกติของพวกเขาดูแล้วคงไม่ได้มีความสุขเท่าไหร่นัก เพราะไลฟ์สไตล์ของ “คนเมือง” ชีวิตมีแค่ที่ทำงานกับหอพัก ถ้าจะหาสีสันให้ชีวิตหน่อยก็อาจไปออกกำลังกาย เข้ายิม (ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนจะทำแบบนั้น หรือทำแบบนั้นได้) แต่พอโควิดมา ชีวิตที่ปกติก็ไม่ค่อยมีความสุข (เครียด เหงา ไม่มีเพื่อน ไม่มีแฟน หรือใครก็ได้ที่อยู่กันแล้วสนุก เฮฮา หรือสบายใจ) อยู่แล้ว ก็ยิ่งเหมือนมีภาวะโควิด ล็อกดาวน์ มาซ้ำเติมให้จิตใจมีแต่ความทุกข์เข้าไปอีก
ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายอ่านกรณีของคนทำงานวัยหนุ่มโสดสาวโสดของญี่ปุ่น แล้วมาหวนคิดถึงความสุขในฐานะมนุษย์กันสักสองข้อ ดังนี้ครับ
๑ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ถ้าคิดว่าสังคมการทำงานมันไม่เติมเต็มจิตใจ ลองไปเข้าสังคมด้วยการทำกิจกรรมดู ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ไปยิมบ่อยๆ มีกลุ่มเพื่อนสังสรรค์บ้างที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ทำงาน อาจจับกลุ่มเพื่อนเก่าที่โรงเรียนหรือมหาลัยก็ได้ ถ้ามีโอกาสอันเหมาะสม แนะให้หาแฟน คนเราเป็นสัตว์สังคม ต้องมีเพื่อน มีคู่ครับ
๒ คิดถึงคำว่า Work-life Balance ให้มาก ชีวิตคนทำงานของญี่ปุ่นจัดได้ว่ามี Work-life Balance อยู่ในระดับที่แย่ เพราะถูกกรอบวัฒนธรรมตีว่าให้ทำงาน ทำงาน และ ทำงาน (ขนาดมีไอเดียว่าต้องเอาโดรนมาไล่คนออกจากที่ทำงานตอนเย็น) ต่อให้เราอยู่ตัวคนเดียว ก็จงรักตัวเองให้มากครับ รักตัวเอง รักสุขภาพของตัวเอง รักษาใจของตัวเองให้ดี ทำร่างกายให้แข็งแรง ทำจิตใจให้บริหารความเครียดประจำวันให้ได้ ชีวิตปกติของเราจะมีความสุข เมื่อมีภัยมา อย่างภัยโควิด เราก็จะยังมีกำลังกายและกำลังใจที่เข็มแข็งพอจะอดทนไว้จนกว่าจะผ่านไปได้นะครับ
ขอให้ท่านผู้อ่านรักษาสุขภาพกายสุขภาพใจกันให้ดีนะครับ
สรุปเนื้อหาจาก news.yahoo.jp
ผู้เขียน TU KeiZai-man