ดอกบ๊วยเป็นดอกไม้เด่นที่มีให้ชมในญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม ศาลเจ้าหลายแห่งที่ปลูกดอกบ๊วยไว้จำนวนมากมักจะจัดเทศกาลดอกบ๊วยในช่วงนี้ ซึ่งมีการขายของและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากดอกบ๊วย รวมถึงพันธุ์ต้นบ๊วยด้วย อย่างไรก็ดีในปี 2021 นี้ ศาลเจ้าหลายที่งดจัดเทศกาลดอกบ๊วยเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังเปิดให้ผู้คนชมดอกบ๊วยได้ เมื่อมาเยือนญี่ปุ่นในช่วงนี้ไม่ได้ ผู้เขียนก็ขอเอาความสวยงามของดอกบ๊วยมาให้ชมกันนะคะ
รู้จักบ๊วยและการนำมาใช้ประโยชน์กันก่อน
บ๊วยเป็นดอกไม้ที่ญี่ปุ่นนำเข้ามาจากจีนเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนเพื่อใช้ทำยาสมุนไพร ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีสายพันธุ์บ๊วยที่ให้ดอกสวยงามกว่า 500 สายพันธุ์ ดอกบ๊วยมีทั้งชนิดที่มีกลีบดอกเพียง 5 กลีบและชนิดที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้น โดยกลีบดอกดูบอบบาง มีก้านชูเกสรที่ยาวสั้นตามชนิดพันธุ์ มีกลิ่นหอมละมุน และมีสีต่างๆ ได้แก่ ชมพูอ่อน ชมพูเข้ม ขาว และแดง เป็นต้น แม้จะมีหลากหลายพันธุ์แต่มีเพียงไม่กี่พันธ์ุที่คนญี่ปุ่นนำผลบ๊วยมาใช้แปรรูปเป็นบ๊วยดอง น้ำเชื่อมบ๊วยและเหล้าบ๊วย โดยตัวอย่างพันธุ์บ๊วยที่คนญี่ปุ่นนิยมนำผลมาใช้ประโยชน์มีดังนี้คือ
นันโคอุไบ (Nankoubai, 南高梅, なんこうばい)
นันโคอุไบ หรือ นันโคอุเมะ เป็นบ๊วยที่ปลูกได้มากที่จังหวัดวาคายามะ เป็นพันธุ์ยอดนิยมที่มีผลใหญ่ ผิวเปลือกบาง และมีเนื้อนุ่ม คนญี่ปุ่นนิยมนำบ๊วยชนิดนี้มาทำเหล้าบ๊วย บ๊วยดอง และบ๊วยเชื่อม เป็นต้น
โคจิโระไบ (Kojirobai, 古城梅, こじろばい)
โคจิโระไบเป็นบ๊วยที่มีผลขนาดเล็กสีเขียวและผลิตได้มากที่จังหวัดวาคายามะ บ๊วยพันธุ์นี้จะถูกนำมาทำเหล้าบ๊วยคุณภาพดี
โออุชุคุไบ (Oushukubai, 鶯宿梅, おうしゅくばい)
บ๊วยพันธุ์นี้จะมีเนื้อแข็งไม่เหมาะสำหรับนำมาดอง แต่เหมาะที่จะนำมาทำเหล้าบ๊วยและน้ำเชื่อมบ๊วย
ชมความงามของดอกบ๊วยพันธ์ุต่างๆ
ที่ดอกบ๊วยมีสีสันและลักษณะดอกที่แตกต่างกันนั้นเป็นเพราะว่ามีหลากหลายพันธุ์ดังตัวอย่างต่อไปนี้
พันธุ์ Kagoshimakoubai (鹿児島紅梅, かごしまこうばい)
พันธุ์ Chojubai (長寿梅, チョウジュバイ)
พันธุ์ Mikaikoubai (未開紅梅, みかいこうばい)
พันธุ์ Suoubai (蘇芳梅,すおうばい)
พันธุ์ Oosakazuki (大盃, おおさかずき)
พันธุ์ Kasukano (春日野, かすがの)
พันธุ์ Hakutaka (白鷹, はくたか)
พันธุ์ Yaematsushima (八重松島, ヤエマツシマ)
หากต้องการชมดอกบ๊วยสวยๆ หลากหลายสายพันธุ์ แนะนำให้ไปชมตามสวนพฤกษศาสตร์หรือสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เพราะทางสวนเหล่านี้มักจะปลูกต้นบ๊วยเพื่อให้คนชมและให้ความรู้ด้วย แต่หากต้องการดูความสวยงามของสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นกับดอกบ๊วยก็แนะนำให้ไปชมที่ศาลเจ้าค่ะ ไว้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นเมื่อไหร่ ขอชวนมาหลงดงบ๊วยกันนะคะ