ทำความเข้าใจซาลาริมังผ่านคลิปพิกเซลอาร์ต “ประวัติศาสตร์ 100 ปีการทำงานในญี่ปุ่น”

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท SmartHR ประเทศญี่ปุ่นได้ปล่อยคลิปแอนิเมชั่นแบบพิกเซลอาร์ต 働く100年史|100 YEARS of WORK in JAPANประวัติศาสตร์ 100 ปีการทำงานในญี่ปุ่น สร้างขึ้นโดยทีมแอนิเมชั่น Motocross Saito เป็นคลิปความยาว 2 นาทีที่ทำให้ผู้ชมได้ย้อนรอยไปถึงเกือบเมื่อร้อยปีก่อน หรือปี 1920 ซึ่งเป็นยุคที่คำว่า Salaryman – サラリーマン ที่เราคุ้นเคยกันในการเรียกแทนพนักงานบริษัทญี่ปุ่นได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งคำนี้ก็ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

คลิปนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการทำงานของบริษัทญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคแรก ๆ จนถึงปัจจุบัน จะมีการเปลี่ยนผ่านตามกาลเวลาอย่างไรบ้าง มาดูกัน

ช่วงปี 1920 : การกำเนิดของมนุษย์เงินเดือน – Salaryman

ประมาณเกือบร้อยปีที่ผ่านมา หรือช่วงยุคปี 1920 ได้เกิดศัพท์ใหม่ที่ใช้แทนพนักงานบริษัทญี่ปุ่นหรือ “มนุษย์เงินเดือน” ขึ้น เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Salaryman – サラリーマン (ซาลาริมัง) หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงเมื่อปี 1919 บริษัทอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมีการจ้างพนักงานในแผนกธุรการเพิ่มขึ้น ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นต้นแบบของมนุษย์เงินเดือนในบริษัทนั่นเอง จะเห็นได้ว่าพนักงานผู้ชายจะแต่งตัวตามแบบตะวันตกแล้ว คือใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว ส่วนพนักงานผู้หญิงยังใส่ชุดญี่ปุ่นอยู่ ภายในสำนักงานก็จะใช้อุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เป็นส่วนใหญ่

ช่วงปี 1930 : ยุคเติบโตของผู้หญิงทำงาน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดอาชีพหรืองานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยเฉพาะในเขตเมือง อย่างเช่นงานเกี่ยวกับการสื่อสาร ในอดีตที่การสื่อสารยังไม่ทันสมัย การจะโทรศัพท์ติดต่อกันได้นั้นต้องผ่านเจ้าหน้าที่โอเปอเรเตอร์ช่วยส่งผ่าน ไม่สามารถโทรหากันได้โดยตรงเหมือนในปัจจุบัน อาชีพ “พนักงานหญิงผู้ให้บริการโทรศัพท์” จึงถือกำเนิดขึ้น เนื่องจากจำนวนแรงงานหญิงก็เพิ่มขึ้นมากในยุคนั้น โดยอาชีพนี้ต้องอาศัยทั้งความสุภาพ ความเข้าใจ และการใช้ไหวพริบ อาชีพนี้มีมาจนถึงในช่วงปลายยุค 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่โทรศัพท์ได้รับการพัฒนา

ต้นช่วงปี 1940 : งานในช่วงสงคราม

ในช่วงสงครามแปซิฟิก หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ถึงสภาพแวดล้อมจะเลวร้ายมาก แต่บริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นก็ยังคงดำเนินการทำงานต่อไป เนื่องจากทรัพยากรมีน้อย เสื้อผ้าต่าง ๆ จึงต้องเรียบง่าย ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้กำหนด “แนวทางในการแต่งกายประจำชาติ” โดยกำหนดให้สีกากีเป็นสีเครื่องแบบมาตรฐานของผู้ชาย ในสองปีให้หลังจึงได้มีการกำหนดเครื่องแบบของผู้หญิงด้วย เป็นแบบชุดทำงานแบบกางเกงหลวม ๆ หรือที่เรียกว่า もんぺ – Monpe แต่ก็ยังมีบางบริษัทหรือพนักงานบางคนที่ไม่ทำตามแนวทางนี้ จึงทำให้เห็นการแต่งกายในชุดทำงานที่หลากหลายในเขตเมือง มีทั้งแบบชุดสูท ชุดเดรส ชุดสีกากี และชุด Monpe ซึ่งจากคลิปจะเห็นว่ามีป้ายของทางรัฐบาลที่เขียนไว้ว่า “ความหรูหราคือศัตรู” เนื่องจากในช่วงนั้นรณรงค์ให้เน้นความเรียบง่ายนั่นเอง

ปลายช่วงปี 1940 – ต้นช่วงปี 1950 : จากสงครามสู่สันติภาพ

จากคลิปจะเน้นที่ช่วงเท้าของคนทำงานในยุคนั้น ตอนแรกเป็นช่วงสงครามที่ผู้ชายจะใส่ผ้าพันขาแบบทหารที่ช่วยป้องกันหน้าแข้ง เปลี่ยนผ่านมาจนถึงยุคที่เป็นถนนเดินเท้าที่ปรับปรุงใหม่ ผู้ชายใส่รองเท้าหนังที่เป็นเครื่องแบบมาตรฐานของซาลาริมังมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 1947 ทันทีหลังจากสิ้นสุดสงคราม ญี่ปุ่นได้ประกาศใช้กฎหมายมาตรฐานแรงงานขึ้นเพื่อปกป้องคนทำงาน โดยมีกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมาตรฐาน ชั่วโมงทำงาน วันหยุด และข้อกำหนดอื่น ๆ เกี่ยวกับการทำงาน

ช่วงปี 1950 : การจ้างงานตลอดชีพและระบบอาวุโสในที่ทำงาน

ในช่วงปี 1950 ญีปุ่นค่อย ๆ ฟื้นตัวจากความวุ่นวายหลังสงคราม เศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เราจะเห็นบริษัทญี่ปุ่นในช่วงกลางฤดูร้อน พนักงานพยายามทำการขายทางโทรศัพท์ มีเหงื่อออกมากเนื่องจากสภาพอากาศ ในบริษัทไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีเพียงพัดลม บนโต๊ะเต็มไปด้วยกองกระดาษ ลูกคิด และโทรศัพท์สีดำ บนโต๊ะของเพื่อนร่วมงานยังมีบุหรี่ที่จุดทิ้งไว้อยู่บนโต๊ะ ด้านหลังห้องมีหมวกที่ใช้ในไซต์งานก่อสร้างแขวนอยู่

ในช่วงนี้เองที่ระบบการจ้างงานตลอดชีพ ซึ่งรวมถึงการจ้างงานพนักงานในระยะยาว การเลื่อนตำแหน่งโดยพิจารณาจากความอาวุโส และผลตอบแทนเมื่อเกษียณอายุ ได้หยั่งรากลึกเข้ามาในสังคมญี่ปุ่น

ช่วงปี 1960 : จากโตเกียวไปโอซาก้าได้แบบสบาย ๆ

จุดสูงสุดของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่นอยู่ในช่วงปี 1960 ในช่วงนี้รถไฟชินคันเซนได้เปิดให้บริการ ซึ่งเป็นช่วงของการแข่งกีฬาโอลิมปิกในกรุงโตเกียวด้วย รถไฟชินคันเซนสามารถประหยัดเวลาในการเดินทางได้เป็นอย่างดี จากปกติไปกลับ 12 ชั่วโมง เหลือเพียง 8 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางระหว่างโตเกียวกับโอซาก้าได้แบบไปเช้าเย็นกลับ

ช่วงปี 1970 : สถานีชินจูกุในช่วงพีค

ในช่วงปี 1970 จำนวนผู้คนที่อาศัยในโตเกียวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 1945 ที่จำนวนประชากรอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน แต่ในช่วงนั้นแตะไปถึง 11 ล้านคน การเดินทางในโตเกียวในช่วงเวลาเช้า-เย็น ซึ่งเป็นเวลาก่อน-หลังทำงานเริ่มแย่ลง รถไฟบางขบวนต้องบรรจุผู้โดยสารมากกว่า 300% ของจำนวนที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่านายสถานีต้องดันผู้โดยสารเข้ามาในขบวนรถ

ช่วงปี 1980 : การทำงานในช่วงดึกและคนบ้างาน

ภาพสะท้อนบริษัทญี่ปุ่นในปี 1980 ที่นาฬิกาบอกเวลาถึงตี 2 แล้วแต่ก็ยังคงมีพนักงานนั่งทำงานอยู่ เวลานั้นรถไฟหยุดวิ่งแล้ว และค่าแท็กซี่ในญี่ปุ่นก็แพงมาก พนักงานบริษัทบางคนก็เลยนอนที่ทำงานเสียเลย ในช่วงนี้มีคำศัพท์ที่เกิดขึ้นหลายคำเพื่อใช้อธิบายคนที่ทำงานเป็นเวลานาน เช่น 企業戦士 – นักรบองค์กร หรือ モーレツ社員 – คนบ้างาน

ช่วงปี 1980 : คืนวันศุกร์และยุคฟองสบู่ของเศรษฐกิจ

ในช่วงนี้จะเห็นซาลาริมังที่ออกไปเที่ยวในคืนวันศุกร์ มีทั้งแบบไปเที่ยวเองและแบบพาลูกค้าไปสร้างความบันเทิง รวมถึงผู้คนในย่านใจกลางเมืองที่พยายามเรียกแท็กซี่ บนถนนเต็มไปด้วยผู้คนและความมีชีวิตชีวา

จะเห็นได้ว่าผู้หญิงสองคนใส่เสื้อผ้าแบบใหม่ที่เรียกว่าชุดบอดี้คอนหรือชุดรัดรูปและไว้ผมยาวซึ่งได้รับความนิยมในสมัยนั้น ผู้หญิงชุดสีน้ำเงินถือโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่ ยุคนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้โทรศัพท์มือถือ (ซึ่งมีราคาแพงมาก) และเป็นช่วงที่คำว่า 花金 – hanakin หรือ วันศุกร์แห่งดอกไม้ ได้เกิดขึ้น คำนี้หมายถึงความสนุกสนานและการสังสรรค์ในคืนวันศุกร์

ช่วงปี 1990 : ยุคเพจเจอร์รุ่งเรือง

ในช่วงปี 1990 เป็นเวลาที่ “เพจเจอร์” หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า ポケベル – Pocket Bell มีบทบาทในสังคมญี่ปุ่น แต่เดิมเพจเจอร์เป็นอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่ใช้แจ้งเตือนผู้ใช้งานเวลาที่มีสายโทรศัพท์เรียกเข้าและให้ผู้ใช้สามารถโทรกลับด้วยโทรศัพท์สาธารณะได้ ต่อมาตัวเครื่องเพจเจอร์ได้ถูกปรับปรุงให้มีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น สามารถแสดงข้อความและตัวเลขได้มากขึ้น ในปี 1996 มีผู้ใช้เพจเจอร์มากขึ้นถึง 10 ล้านคน เพจเจอร์จึงมีบทบาทสำคัญต่อวงการธุรกิจในยุคนั้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่พนักงานบริษัทใช้สื่อสารกับฝ่ายขายเพื่อประสานงานตามที่ได้รับมอบหมาย

ช่วงปี 1990 : เครื่องมือดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

ตามบริษัทเต็มไปด้วยกองเอกสารปึกใหญ่ มีคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะประจำแต่ละโต๊ะทำงาน และพนักงานแต่ละคนจะมีโทรศัพท์มือถือที่ทางบริษัทให้ใช้ ในยุคนี้ผู้หญิงมีบทบาทและมีส่วนร่วมในสังคมญี่ปุ่นมากขึ้น จากคลิปนี้เราจะเห็นพนักงานหญิงที่ใส่ชุดทำงานเป็นเสื้อสูทแบบเสริมบ่าที่ได้รับความนิยมในช่วงต้น 1990 กำลังจะให้เจ้านายประทับตรา (ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า hanko) ลงบนเอกสาร และถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในยุคนี้แล้ว แต่การทำงานยังต้องใช้เอกสารกระดาษจำนวนมาก หลัก ๆ เลยคือใช้ในการรับ-ส่งแฟ็กซ์ (จนถึงทุกวันนี้)

ช่วงปี 2010 : ยุคแห่งการทำงานออนไลน์

ตั้งแต่ปี 2010 การทำงานแบบออนไลน์ถือว่าเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น คนทำงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นตามร้านกาแฟ ออฟฟิศให้เช่า หรือว่าออฟฟิศที่อยู่ประจำ ในปี 2019 ที่ญี่ปุ่นได้มีกฏหมายออกมาว่าบริษัทจำเป็นต้องอนุญาตให้พนักงานสามารถลางานประจำปีได้โดยได้รับค่าจ้าง และมีการกำหนดเพดานของการทำงานแบบล่วงเวลา เพื่อรับมือกับการลดลงของประชากรในช่วงวัยทำงานและการทำงานในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น

ตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา การสื่อสารในโลกธุรกิจถูกครอบงำด้วยการโทรศัพท์และการส่งอีเมล จนถึงช่วงปี 2010 โทรศัพท์แบบสมาร์ตโฟนรวมถึงแอปที่ใช้ในการสื่อสารถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน จึงมีการใช้แอปสำหรับส่งข้อความและแอปสำหรับธุรกิจในการทำงานมากขึ้น โดยแอปเหล่านี้ยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบันเนื่องจากสามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

ปี 2020 : การทำงานในช่วงการระบาดของโควิด-19

ในช่วงต้นปี 2020 ได้เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งได้เปลี่ยนวิธีการทำงานของผู้คนไปอย่างรวดเร็ว มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ทำงานเพื่อป้องกันการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นการที่ทุกคนต้องสวมหน้ากาก ต้องมีสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคไว้ตามโต๊ะทำงาน และต้องมีฉากกั้นที่ใช้แยกแต่ละคนออกจากกัน นอกจากนี้ ตามบริษัทยังมีเอกสารแบบกระดาษน้อยลง บ่งบอกว่ามีการทำงานแบบดิจิทัลมากขึ้น

การระบาดของโควิด-19 นี้ยังทำให้มีการใช้ตราประทับ (hanko) น้อยลง และมีการส่งเสริมการทำงานแบบไร้กระดาษ (paperless) มากขึ้น

ปี 2020 : การทำงานแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

ฉากสุดท้ายของคลิปแสดงให้เห็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกคนต่างทำกิจกรรมต่าง ๆ กันในบ้านของตัวเอง ไม่ออกไปนอกบ้านเพื่อลดความเสี่ยงและลดโรค การทำงานที่บ้านแบบประชุมทางวิดีโอและการมีเครื่องมือใหม่ ๆ ในการทำงานถือเป็นเรื่องปกติ

ในตอนนี้จะเห็นชีวิตปกติของคนทำงานที่มีครอบครัว คุณพ่อกำลังอุ้มลูกน้อยอยู่ ส่วนคุณแม่กำลังทำงานแบบประชุมทางวิดีโอ และเนื่องจากแต่ละคนก็ทำงานที่บ้านกันหมด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะได้ยินเสียงเด็กน้อยหรือเสียงสัตว์เลี้ยงในการประชุม การทำงานที่บ้านแบบนี้ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างคนทำงานมากขึ้น แต่ก็ทำให้ชีวิตครอบครัวได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

ในปี 2021 ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการลางานเพื่อดูแลเด็กและครอบครัว เพื่อสนับสนุนให้ผู้ชายได้ลางานไปดูแลครอบครัวมากขึ้น

ต่อจากนี้หน้าประวัติศาสตร์ของการทำงานในญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไปค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก prtimes, grapee, 100years-movie

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save