ภูเขาไฟฟูจิ สัญลักษณ์ตัวแทนประเทศญี่ปุ่น ภูเขาไฟที่สูงสุดในญี่ปุ่นที่ทุก ๆ ปีจะต้องมีเหล่าผู้พิชิตจากทั่วโลกพากันแวะเวียนไป ปีหนึ่ง ๆ ก็กว่า 3 แสนคน ในปี 2013 ภูเขาไฟฟูจิแห่งนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมอีกด้วย นอกจากความสวยงามที่ทุกคนอยากไปมองให้เห็นกับตาแล้ว ภูเขาไฟฟูจิยังมีความลับอีกมากมายที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ ไปดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
1. Red Fuji
View this post on Instagram
ปกติเรามักจะเห็นภาพภูเขาไฟฟูจิเป็นสีน้ำเงิน ยอดปกคลุมด้วยหิมะสีขาวใช่ไหมคะ แต่ในช่วงปลายฤดูร้อนจนถึงต้นฤดูใบไม้ร่วงทุกคนอาจจะได้พบกับปรากฏการณ์ Red Fuji ค่ะ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นตอนพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เมื่อหิมะบนภูเขาไฟฟูจิเริ่มละลาย ก็จะเริ่มเห็นเป็นสีแดงในช่วงต้นฤดูร้อน ยิ่งมีแสงจากดวงอาทิตย์ ก็ยิ่งทำให้ภูเขากลายเป็นสีแดงเด่นชัดขึ้นไปอีก
2. Diamond Fuji และ Pearl Fuji
View this post on Instagram
นอกจากปรากฏการณ์ Red Fuji แล้วก็ยังมีปรากฏการณ์อื่น ๆ อีก อย่างปรากฏการณ์ Diamond Fuji โดยในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกจะเห็นแสงอาทิตย์อยู่บนยอดของภูเขาฟูจิ ซึ่งมีรูปร่างเหมือนเพชร ทำให้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Diamond Fuji นั่นเองค่ะ
View this post on Instagram
อีกปรากฏอาการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเรียกว่า Pearl Fuji เป็นปรากฏการณ์ที่พระจันทร์เต็มดวงอยู่เหนือยอดภูเขาไฟฟูจิ ให้แสงนวล ๆ ต่างจาก Diamond Fuji ทำให้เกิดภาพที่สวยงามไปอีกแบบ
3. ภูเขาไฟฟูจิกลับหัว
View this post on Instagram
อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่หายากนั่นก็คือปรากฏการณ์ภูเขาไฟฟูจิกลับหัวค่ะ เพราะเราจะเห็นภาพนี้ได้ในวันที่ฟ้าใส ไม่มีลมเท่านั้น หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบว่าภาพภูเขาไฟฟูจิกลับหัวนี้มีให้เห็นบนธนบัตร 1,000 เยนด้วยนะคะ
4. ภูเขาไฟฟูจิแบ่งเป็นชั้น ๆ
ภูเขาไฟฟูจิมีความสูงอยู่ที่ 3,776 เมตร โดยแบ่งออกเป็นชั้น ๆ ทั้งหมด 10 ชั้น เราสามารถเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถบัสได้ถึงชั้นที่ 5 แล้วจากนั้นเราต้องเดินขึ้นไปเอง ชั้นสูงสุดคือชั้นที่ 10 ความเชื่อเกี่ยวกับภูเขาไฟฟูจิอย่างหนึ่งก็คือ ชั้นที่ 5 เป็นดินแดนของมนุษย์ ส่วนชั้นที่ 6 เป็นดินแดนสวรรค์ บริเวณนี้จะเป็นเส้นแบ่งระหว่างโลกกับสวรรค์
สำหรับคำที่ใช้เรียกแต่ละชั้นในภาษาญี่ปุ่น จะใช้คำว่า 合(gou)* ซึ่งคำนี้ใช้เป็นหน่วยตวงข้าวในภาษาญี่ปุ่น มีหลายข้อสันนิษฐานว่าทำไมถึงใช้ว่า gou แทนที่จะเป็นคำเรียกชั้นทั่ว ๆ ไป อย่างความเห็นที่ว่า 10 合 (gou) เท่ากับ 1 升(shou) ซึ่งจำนวนข้าว 1 升(shou) มีความคล้ายคลึงกับรูปร่างของภูเขาไฟฟูจินั่นเองค่ะ
* 1 合(gou) มีจำนวนเท่ากับ 150 กรัม ส่วน 1 升(shou) เท่ากับ 1.5 กิโลกรัม
5. ภูเขาไฟฟูจิเป็นพื้นที่ของรัฐหรือของใครกันแน่?
View this post on Instagram
ถ้าถามว่าภูเขาไฟฟูจิเป็นของใคร คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็คงตอบว่า “ของทุกคน” แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของภูเขาไฟฟูจิ ตั้งแต่ความสูงที่ 3,360 เมตรจนถึงส่วนบนสุดเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลค่ะ
เจ้าของส่วนยอดของภูเขาไฟฟูจิก็คือ ศาลเจ้าฟูจิซันฮงงูเซ็นเก็งไทชะ (Fujisan Hongu Sengen Taisha) นั่นเอง ส่วนที่มาก็ต้องย้อนประวัติศาสตร์กันหน่อย เริ่มจากโชกุนโทกุงาวะ อิเอยาสึในสมัยเอโดะ ชนะในสงครามเซกิงาฮาระ และได้สร้างอาคารกว่า 30 อาคารเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณที่ชนะในสงคราม จนในปี ค.ศ. 1606 เขาได้บริจาคชั้น 8 ของภูเขาไฟฟูจิให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับศาลเจ้าฟูจิซันฮงงูเซ็นเก็งไทชะ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
ศาลเจ้าฟูจิซันฮงงูเซ็นเก็งไทชะแห่งนี้มีขึ้นเพื่อเคารพบูชาอาซามะโนะโอกามิ เพื่อขอให้ท่านช่วยระงับการระเบิดของภูเขาไฟ เพราะฉะนั้นพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 8 ขึ้นไปจึงกลายเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ความเชื่อในอาซามะโนะโอกามิยังได้กระจายไปทั่วประเทศ ปัจจุบันมีศาลเจ้าที่บูชาอาซามะโนะโอกามิกว่า 1,300 แห่ง ซึ่งศาลเจ้าฟูจิซันฮงงูเซ็นเก็งไทชะเป็นศาลเจ้าหลักของศาลเจ้าอาซามะทั่วญี่ปุ่นค่ะ
6. เราจะแต่งงานท่ามกลางวิวภูเขาไฟฟูจิได้หรือไม่!?
คำตอบก็คือ ได้ค่ะ! เพราะเราสามารถจัดงานแต่งงานที่ศาลเจ้าฟูจิซันฮงงูเซ็นเก็งไทชะได้ แต่ต้องเป็นช่วงที่ไม่มีเทศกาลหรืออีเวนท์อะไรนะคะ ทำพิธีท่ามกลางวิวจากศาลเจ้าที่สามารถมองเห็นภูเขาฟูจิได้อย่างชัดเจน ยิ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิก็สามารถชมซากุระที่สวยงามไปด้วยได้อีก นอกจากนี้จะแต่งงานท่ามกลางวิวสวย ๆ แล้ว ยังมีแขกจากทั่วทุกสารทิศมาร่วมแสดงความยินดีอีกด้วยค่ะ
7. ภูเขาไฟฟูจิมีด้านหน้า-ด้านหลัง?
ภูเขาฟูจิที่มองจากอ่าวซูรูกะ จังหวัดชิซึโอกะจะเรียก “ฟูจิด้านหน้า” ส่วนฟูจิที่มองจากทะเลสาบทั้ง 5 ของภูเขาไฟฟูจิจะเรียก “ฟูจิด้านหลัง”ค่ะ
เป็นที่ทราบกันว่าภูเขาไฟฟูจิมีพื้นที่อยู่ในสองจังหวัด ทั้งชิซึโอกะและยามานาชิ โดยด้านที่มองจากจังหวัดยามานาชิมักจะถูกเรียกว่าเป็น “ฟูจิด้านหลัง” แต่อย่างไรก็ตามคนยามานาชิก็จะยืนยันว่ามันเป็นด้านหน้าอยู่ดี เพราะฉะนั้นคำว่า “ฟูจิด้านหลัง” จึงไม่ค่อยมีใครใช้เท่าไร แต่ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังก็สวยทั้งสองด้านเลยใช่ไหมล่ะคะ
8. 3 สิ่งที่คนญี่ปุ่นอยากฝันถึง (ภูเขาไฟฟูจิ, นกเหยี่ยว, มะเขือม่วง)
3 สิ่งที่คนญี่ปุ่นอยากฝันถึงในคืนของวันปีใหม่ หรือเรียกได้ว่าเป็นฝันแรกก็คือ 3 อย่างนี้นั่นเองค่ะ คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ถ้าฝันถึงภูเขาไฟฟูจิ นกเหยี่ยว หรือมะเขือม่วงจะเป็นลางที่ดี มีคำอธิบายหนึ่งกล่าวว่า คำว่า 富士(Fuji) ออกเสียงคล้ายกับคำว่า 無事 (buji) ที่แปลว่า สุขภาพดี ปลอดภัย ส่วนคำว่าเหยี่ยวก็พ้องกับคำญี่ปุ่นที่แปล่วา สูง และมะเขือม่วงก็พ้องกับคำญี่ปุ่นที่แปลว่า ทำให้สำเร็จ ทำให้ 3 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นอยากจะฝันถึงที่สุดค่ะ
9. “อาคาอิเคะ” ทะเลสาบมายาแห่งที่หกของภูเขาไฟฟูจิ
ถ้าพูดถึงความงามของภูเขาไฟฟูจิก็คงไม่พูดถึงทะเลสาบทั้ง 5 ของภูเขาไฟฟูจิไม่ได้ ทะเลสาบทั้งห้านี้ได้แก่ ยามานากะโกะ คาวากุจิโกะ ไซโกะ โชจิโกะ และโมโตสุโกะ ซึ่งความงามของทะเลสาบเหล่านี้สำคัญต่อความงามของภูเขาไฟฟูจิจนมีคำกล่าวเมื่อจดทะเบียนภูเขาไฟฟูจิเป็นมรดกโลกว่า “ถ้าไม่รวมทะเลสาบทั้ง 5 ด้วย ภูเขาไฟฟูจิก็จะไม่สมบูรณ์”
แต่รู้หรือไม่? ว่าที่จริงภูเขาไฟฟูจิมีทะเลสาบแห่งที่ 6 นั่นคือ “อาคาอิเคะ” หรือ “ทะเลสาบแดง” ซึ่งเป็นทะเลสาบที่จะปรากฏเฉพาะหลังฝนตกหนักจนมีน้ำท่วมขังเท่านั้น ทำให้อาคาอิเคะเป็นที่รู้จักในฐานะทะเลสาบมายาเช่นกัน ชื่ออาคาอิเคะคาดว่ามาจากลาวาสีแดงฉานที่เคยผุดอยู่ที่ก้นทะเลสาบ อย่างไรก็ตาม อาคาอิเคะเป็นทะเลสาบขนาดเล็กที่กว้างเพียง 50 เมตรและล้อมรอบด้วยต้นไม้หนาทึบ ทำให้เป็นอีกหนึ่งสถานที่น่าค้นหาสำหรับนักเดินทาง
10. “มชชี่” เรื่องปริศนาของสัตว์ประหลาดแห่งภูเขาไฟฟูจิ
นอกจากธรรมชาติที่สวยงามและเสน่ห์น่าค้นหา ภูเขาไฟฟูจิยังถูกเล่าขานในเรื่องราวปริศนามากมายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าว่าภูเขาไฟฟูจิเป็นที่จอดยานของ UFO หรือเรื่องเล่าว่าภูเขาไฟฟูจิเคยเป็นที่ตั้งของ “อารยธรรมฟูจิ” ที่เป็นอารยธรรมชั้นสูง และเรื่องเหลือเชื่อต่างๆ ที่ถูกเล่าต่อๆ กันมา ในบรรดาเรื่องเล่าเหล่านี้ เรื่องที่เป็นที่จดจำมากที่สุดคงไม่พ้น “มชชี่” สัตว์ประหลาดในทะเลสาบโมโตสุโกะ
ชื่อ “มชชี่” มีที่มาจาก “เนสซี่” สัตว์ประหลาดทะเลสาบลอคเนสที่มีลักษณะเดียวกัน โดยมีรายงานว่ามีการพบเห็นมชชี่ครั้งแรกในปี 1970 และเป็นที่สนใจในวงกว้างเมื่อปี 1987 โดยมีช่างภาพหลายคนรายงานว่าพบเห็นสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ยาวกว่า 30 เมตรอาศัยอยู่ในทะเลสาบแห่งนี้ขณะที่ตนเดินทางไปเพื่อถ่ายภาพภูเขาไฟฟูจิ หลังจากนั้นมีความพยายามจะจับมชชี่ โดยการลงอวนขนาดใหญ่ที่ใช่สำหรับจับปลาทูน่ายักษ์ แต่เมื่อดึงอวนขึ้นมากลับพบว่าอวนขาดวิ่นไม่มีชิ้นดีราวกับถูกกัดกิน คำเล่าเรื่องมชชี่จึงแพร่หลายขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่ค่อยมีรายงานการพบเห็นมชชี่เหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทะเลสาบโมโตสุโกะที่เป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่นความลึกของทะเลสาบที่ลึกเพียง 138 เมตร ซึ่งเล็กกว่าทะเลสาบลอคเนส (ลึก 230 เมตร) ถึง 100 เมตร จึงแทบไม่มีที่อยู่หรือที่หลบซ่อนสำหรับสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อ 1 ล้านกว่าปีก่อน พื้นที่บริเวณภูเขาไฟฟูจิเคยอยู่ใต้ทะเล จึงไม่แปลกที่จะมีการขุดพบซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่นี่ ดังนั้น เรื่องมชชี่จึงถูกเล่าในฐานะคำร่ำลือเท่านั้น แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้เสน่ห์น่าคนหาของทะเลสาบโมโตสุโกะและทะเลสาบอื่นๆ ของภูเขาไฟฟูจิหายไป
และทั้งหมดนี่ก็คือเรื่องเกี่ยวกับภูเขาไฟฟูจิค่ะ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ภูเขาไฟฟูจิมีความสวยงามที่ซ่อนอยู่มากมายขนาดนี้ ผู้เขียนเองยังไม่มีโอกาสได้ไปมองแบบใกล้ ๆ เลย ถ้ามีโอกาสก็อยากไปมองให้เห็นกับตาตัวเองเลยจริง ๆ ค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: fujiyama-navi
ผู้เขียน : cottoncandy