การมีอายุที่ยืนยาวและมีสุขภาพที่แข็งแรงถือเป็นโชคดีและเป็นลาภอันประเสริฐ ด้วยญี่ปุ่นเป็นสังคมสูงอายุ คนรุ่นใหม่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อดูแลครอบครัวตนเอง ปล่อยให้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ผู้สูงอายุอยู่กันตามลำพัง เมื่อต้องอยู่กันตามลำพังสิ่งที่ผู้สูงอายุญี่ปุ่นมักคำนึงถึงคือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน และพวกเขามักออกกำลังกายและเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มารู้กันว่าอาหารอะไรบ้างที่ผู้สูงอายุญี่ปุ่นนิยมรับประทานเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงค่ะ
1. โยเกิร์ต
สุขภาพที่ดีเริ่มจากลำไส้ ร้อยละ 60 ของเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราถูกสร้างมาจากลำไส้ การดูแลสภาพแวดล้อมของลำไส้ให้ดีจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงไม่ป่วยง่าย โยเกิร์ตและผลิตภัณฑ์นมหมักจึงเป็นอาหารที่ผู้สูงอายุญี่ปุ่นนิยมรับประทานทุกวันเนื่องจากอุดมไปด้วยโปรไบโอติกส์ ได้แก่ แลคโตบาซิลลัสและไบฟิโดแบคทีเรียม ซึ่งช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของลำไส้ให้ดี และช่วยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงไม่ป่วยง่าย
2. ปลา
ปลาโดยเฉพาะปลาหลังสีน้ำเงินได้แก่ ปลาซาบะ ปลาซันมะ ปลาอาจิหรือปลาสีกุน และปลาซาร์ดีน ฯลฯ เป็นปลาที่อุดมไปด้วย EPA และ DHA ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดระดับคอเรสเตอรอลในเลือด ช่วยลดความอยากอาหารและป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน อีกทั้งยังช่วยให้นอนหลับได้ง่าย หลับสนิท และหลับได้นานขึ้น ทำให้ตื่นเช้าขึ้นมาด้วยความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นมักนิยมรับประทานปลาแซลมอนด้วย โดยปลาชนิดนี้อุดมไปด้วยสารแอสตาแซนธิน (Astaxanthin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิตามินซีถึง 6,000 เท่า สารชนิดนี้จะช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและหลอดเลือด ส่งผลให้ผิวพรรณสวยงามไม่เหี่ยวย่นก่อนวัยและช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น
3. นัตโต
นัตโตเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองหมักกับแบคทีเรียที่ชื่อว่า Bacillus subtilis var. natto แม้ว่าจะมีลักษณะเหนียวหนืดเป็นเมือกและมีกลิ่นรุนแรง แต่การรับประทานนัตโตเป็นประจำนั้นมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ ได้แก่ ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยรักษาระดับความดันโลหิต ช่วยละลายลิ่มเลือด ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายและช่วยให้กระดูกแข็งแรง เป็นต้น
4. ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง อุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพดีที่เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงที่ทำหน้าที่ป้องกันภาวะผิดปกติของร่างกายที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนรวมถึงช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยทองได้ดี ซาโปนิน (Saponin) มีผลในการช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ป้องกันความดันโลหิตสูงและช่วยป้องกันไม่ให้อ้วนง่าย และเลซิติน (Lecithin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ ช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและช่วยบำรุงประสาท เป็นต้น
5. สาหร่ายทะเล
สาหร่ายทะเลอุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม ทองแดง โพแทสเซียม ไอโอดีน สังกะสี เหล็กและซีลีเนียม สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินต่างๆ ได้แก่ A, B, C, E, และ K และเส้นใยอาหาร เป็นต้น ซึ่งช่วยรักษาสภาวะที่ดีของร่างกายและช่วยการป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น มะเร็งและเบาหวาน
6. เห็ดต่างๆ
เห็ดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดหอมและเห็ดหูหนูอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ช่วยเสริมให้สิ่งแวดล้อมในลำไส้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยดูดซับน้ำตาลและไขมันส่วนเกินที่รับประทานเข้าไปและขับออกจากร่างกายทางอุจาระ ซึ่งส่งผลดีต่อการควบคุมน้ำหนักและช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน วิตามินดี ที่มีมากในเห็ดหลายชนิด เช่น ไมตาเกะ เห็ดหอม และเห็ดหูหนู เป็นต้น มีบทบาทสำคัญในการเสริมการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกาย ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง บีต้า กลูแคน เส้นใยอาหารที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น มะเร็ง
7. งา
งาประกอบไปด้วยโปรตีนร้อยละ 20 ไขมันร้อยละ 50 วิตามิน เส้นใยอาหาร แร่ธาตุ ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุเหล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารประกอบสำคัญที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง ได้แก่ เซซามิน (Sesamin) เซซาโมลิน (Sesamolin) และเซซามินอล (Sesaminol) เป็นต้น ไขมันที่มีเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งของเมล็ดงามีสัดส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย อีกทั้งงายังอุดมไปด้วยวิตามินอี ซึ่งมีบทบาทในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ ช่วยชะลอความแก่ และเสริมความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น
8. มะเขือเทศ
มะเขือเทศอุดมไปด้วยไลโคปีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยบำรุงผิวพรรณ ชะลอความแก่ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น นอกจากนี้สาร GABA ปริมาณสูงในมะเขือเทศก็ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดและควบคุมความดันโลหิตด้วย
จากการพูดคุยกับผู้สูงอายุหลายท่านทำให้ผู้เขียนทราบว่าพวกเขาดูแลใส่ใจด้านสุขภาพมาก โดยรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเพียงและมีคุณค่าสารอาหารที่สมดุล รวมทั้งใส่ใจเดินออกกำลังกายทุกเช้าและหมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงไปนานๆ ลองหมั่นรับประทานอาหารดังกล่าวดูค่ะ