มาเรียนรู้เคล็ดลับฝึกพูดให้เก่งจากผู้ประกาศข่าวญี่ปุ่นกันเถอะ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมากว่าสองปีส่งผลให้หลาย ๆ คนไม่ได้เห็นหน้าค่าตาของเพื่อนฝูง เจ้านายลูกน้องที่ทำงาน และไม่ได้พูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเหมือนอย่างที่เคยทำเป็นกิจวัตร ทำให้บางคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจในการพูด เพราะรู้สึกว่าทักษะการพูดลดลงและไม่สามารถสนทนากับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นเหมือนแต่ก่อน วันนี้เราลองมาฟังเคล็ดลับการฝึกพูดจากผู้ประกาศข่าวอิสระหญิงอย่างคุณวาดะ นามิกะเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเพื่อน ๆ ในการพูดมากขึ้นค่ะ

ผู้ที่มักใช้ประโยคหรือคำศัพท์เดิมซ้ำ ๆ ควรเพิ่มคลังคำศัพท์

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าผู้ที่สามารถสื่อสารทางคำพูดได้ดีนั้น ไม่ใช่เพราะว่าเขามีคำศัพท์ในหัวเยอะอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพราะเขามีความสามารถในการนำคำศัพท์ออกมาสื่อสารได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย หลาย ๆ คนที่รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถเลือกคำศัพท์ที่หลากหลายมาใช้ได้อย่างที่ต้องการ อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นมักใช้คำศัพท์หรือประโยคเดิม ๆ ในการสื่อสารอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่สามารถหาคำพูดที่มีความหมายในลักษณะเดียวกันมาสื่อสารได้หรือไม่สามารถดึงคำศัพท์ใหม่ ๆ ออกมาใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ยิ่งผู้ที่ชอบต่อบทสนทนาโดยใช้ประโยคเดิม ๆ ยิ่งต้องระวัง

แบ่งเวลามาฝึกป้อนคำศัพท์เข้าสมอง

ก่อนจะหาวิธีเพิ่มคำศัพท์ เราควรมาลองท้าทายตัวเองด้วยการทดสอบว่าตัวเองมีคลังคำศัพท์มากน้อยเพียงใด โดยเริ่มจากการมองภาพขวดชาในด้านล่าง พร้อมกับจินตนาการว่าจะอธิบายถึงลักษณะของขวดชาให้ผู้ที่ไม่เห็นภาพอย่างไรดี โดยในเวลา 15 วินาที ลองพยายามสร้างประโยคอธิบายมาสัก 5 รูปแบบ ดังตัวอย่างสมมติเช่น

  • ขวดพลาสติกที่มีชาอยู่ 500 มิลลิลิตร
  • ขวดพลาสติกที่มีฉลากเขียนติดว่า “ชา”
  • ชาขนาด 500 มิลลิลิตรที่ยังไม่มีใครดื่ม
  • ชาที่มีสีเขียวสีสันสดใส
  • เครื่องดื่มชาที่บรรจุภัณฑ์ 500 มิลลิลิตร

สำหรับผู้ที่สามารถคิดประโยคมาได้เพียง 2-3 ประโยคภายในเวลาที่กำหนดอาจมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มคลังคำศัพท์ให้มากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ มือถือ หรือบทความออนไลน์ที่สนใจเพื่อเพิ่มเวลาให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับคำศัพท์มากขึ้น สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าการอ่านบทความหรือเนื้อหายาว ๆ ยังยากเกินไป ก็อาจเริ่มจากการอ่านป้ายโฆษณาในรถไฟฟ้า หรืออะไรก็ตามที่เป็นตัวอักษรที่สามารถเห็นได้ทั่วไป ในกรณีที่เจอคำศัพท์ที่ไม่รู้ความหมายก็ให้หาความหมายจากโทรศัพท์มือถือ แล้วก็ค่อย ๆ จดจำคำศัพท์เหล่านั้นไว้ในคลัง

โดยส่วนตัวของผู้ประกาศข่าวท่านนี้ เธอจะเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ทุกวัน วันละ 5 คำ เท่ากับว่าในหนึ่งเดือนเธอจะสามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ได้ถึง 150 คำ นอกจากนี้การนำคำศัพท์ที่รู้อยู่แล้วมาพิจารณาว่าเราสามารถใช้ในกรณีใดได้บ้างก็ถือเป็นการพัฒนาทักษะในการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น

แบ่งเวลามาลองฝึกการสื่อสาร

แม้มีคำศัพท์มากขึ้นแล้วก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสื่อสารได้อย่างดีเยี่ยมหากไร้การฝึกฝน ดังนั้นเราควรลองฝึกสร้างประโยคออกมาจริง ๆ เพื่อให้สมองได้จดจำการใช้งานคำศัพท์นั้น ๆ โดยมีวิธีแนะนำสองวิธีดังต่อไปนี้

  1. การโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียหรือบล็อกเป็นประโยคโดยใช้คำศัพท์ใหม่ที่ได้เรียนมา จะทำให้ใช้คำศัพท์นั้นได้อย่างถูกต้อง
  2. การลองฝึกพูดผ่านไลฟ์ เพื่อให้ผู้พูดสามารถสร้างประโยคจากการจดจำในสมองและเปล่งออกมาเป็นเสียง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการฝึกให้สื่อสารได้ดี

ซึ่งเมื่อยกตัวอย่างการลองฝึกอธิบายจากขวดชาเขียวเมื่อครู่ หลังการฝึก ผู้ฝึกก็อาจจะสามารถอธิบายไม่เพียงแต่ลักษณะของขวดชา แต่สามารอธิบายถึงส่วนประกอบ ลักษณะพิเศษ หรือรสชาติของชาเขียวได้อีกด้วย

เลิกใช้คำคุณศัพท์เดิม ๆ ที่เคยใช้เป็นประจำในทุกสถานการณ์

ในชีวิตประจำวันนั้นเรามักจะใช้คำคุณศัพท์เดิม ๆ ในการสื่อสาร เช่น คาวาอิ (น่ารัก) สุโก้ย (สุดยอด) โออิชี่ (อร่อย) เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นคำศัพท์ง่าย ๆ ที่เรามักใช้โดยไม่รู้ตัวในบทสนทนา แต่เมื่อใช้มาก ๆ ก็จะทำให้สิ่งที่อธิบายดูเป็นนามธรรมจนเกินไปและเลื่อนลอย เช่น เมื่อบอกว่า “ชาขวดนี้รสชาติอร่อย” กับ “ชาขวดนี้มีกลิ่นสกัดของชาเขียวและมีรสชาติดี” ก็สามารถสร้างความแตกต่างในการรับสารได้อย่างมาก หากสามารถสร้างความเข้าใจในการใช้คำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ก็ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนประโยคได้หลายรูปแบบ และสามารถสื่อสารได้อย่างมั่นใจได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก Yahoo

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save