สื่อสารดี มีชัย แต่ถ้าสื่อสารผิด หรือไม่เหมาะสม ก็เหมือนคนพูดสะดุดล้มเพราะเตะขาตัวเอง
คุณคาโอริ โชจิ นักเขียนบทความใน Japan Times เขียนถึงเพื่อนหญิงของเธอคนหนึ่งที่บังเอิญเจอกับอดีตสามีที่หย่าขาดกันไป โดยที่เพื่อนคนนี้ตั้งข้อสังเกตว่า เธอรู้สึกแปลกใจที่สามีเรียกชื่อเธอโดยใส่คำว่า “ซัง” ต่อท้ายมาด้วย ทั้งที่คำว่า “ซัง” โดยทั่วไปเป็นคำที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกบุคคลเพื่อแสดงการให้เกียรติ เทียบกับภาษาไทยก็คล้ายกับการใช้คำว่า “คุณ” นำหน้าชื่อ
เรื่องนี้สะท้อนถึงวิธีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อสถานการณ์และสถานะของบุคคลเปลี่ยนไป และวันเวลาที่ล่วงเลยไป แม้จะเป็นสามีภรรยาคู่เดิม แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งย่อมต่างไปจากเดิม
สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ดูเหมือนว่ายิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้คำเพื่อให้เกียรติกันมากเท่านั้น อย่างในโรงเรียนอนุบาล เด็กๆ จะถูกเรียกชื่อเล่นและต่อท้ายด้วยคำว่า “จัง” แต่พอเลื่อนชั้นขึ้นไปเป็นนักเรียนประถม เวลาเซนเซหรือครูเรียกชื่อ คราวนี้จะใช้คำต่อท้ายชื่อนามสกุลเด็กคนนั้นว่า “ซัง” แทน
และเมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้เช่นนี้แล้ว เขาก็จะนำหลักการนี้ไปใช้กับคนสนิทของเขาต่อไป (กรณีของเด็กชายยังมีการต่อท้ายชื่อว่า “คุง” อีกด้วย เป็นคำที่ให้ความรู้สึกของ “นายทหารตัวน้อย”)
รูปแบบการใช้คำเหล่านี้เป็นไปตามระบบการศึกษาในโรงเรียน แต่ในครอบครัวหรือกลุ่มคนสนิทแล้ว การใช้คำว่า “จัง” กับเด็กหญิงที่โตเป็นสาวแล้วก็ไม่ผิด อย่างที่คุณคาโอริบอกว่าเธอก็ยังเป็น “คาโอริจัง” ของคุณยายคนหนึ่งของเธออยู่เลย แล้วเธอก็ปลื้มมากด้วยกับวิธีเรียกแบบนี้
เช่นเดียวกับที่หัวหน้าของเธอชอบให้ลูกน้องในที่ทำงานเรียกว่า “มิชิโกะจัง” เพราะฟังแล้วรู้สึกว่าช่วยลดวัยลงมาและทำให้สนิทสนมกันมากขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องการงาน ทุกคนก็ต้องใช้คำเรียกชื่อเธอแบบให้เกียรติว่า “มิชิโกะซัง” อยู่นั่นเอง
คุณคาโอริเน้นว่า การเรียกชื่อคนต้องคำนึงถึงกาลเทศะ ตัวอย่างของสื่อญี่ปุ่นที่หลายสำนักใช้คำว่า “จัง” กับนักกีฬาหญิงหลายคน และใช้คำว่า “คุง” กับนักกอล์ฟ เรียว อิชิกาวา ทั้งที่พวกเขาเป็นหนุ่มเป็นสาวกันแล้ว จึงกลายเป็นประเด็นที่สื่อต้องหันกลับไปทบทวนตัวเองเหมือนกัน
สรุปเนื้อหาจาก: japantimes
ผู้เขียน: มิโดริ