ฤดูร้อนในญี่ปุ่นไม่ว่าจะเดินผ่านต้นไม้ใดก็จะได้ยินเสียงจักจั่นร้องระงม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในฤดูร้อนของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจักจั่นจะเป็นอาหารและของว่างของผู้คนในหลายประเทศ แต่คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังไม่ทราบว่าสามารถรับประทานจักจั่นได้ มาฟังประสบการณ์การรับประทานจักจั่นของเด็กญี่ปุ่น และความเป็นไปได้ในการนำแมลงมาเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนในอนาคตกันค่ะ
รู้จักจักจั่นญี่ปุ่น
จักจั่น (Cicada) หรือ เซมิ (蝉,セミ) เป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตที่น่าสนใจมาก เริ่มจากที่จักจั่นตัวเมียเจาะรูต้นไม้และวางไข่ไว้ จากนั้นไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนและตกลงจากต้นไม้สู่พื้นดิน ตัวอ่อนจักจั่นจะไปอาศัยอยู่ที่รากพืชใต้ดินเพื่อดูดน้ำเลี้ยงจากรากพืช และลอกคราบเรื่อยๆ จนตัวอ่อนเจริญเต็มที่ซึ่งใช้เวลาอยู่ใต้ดินประมาณ 6 ปี จากนั้นตัวอ่อนที่เจริญเติบโตเต็มที่จะขุดรูขึ้นมาจากใต้ดินปีนขึ้นสู่ต้นไม้เพื่อลอกคราบเป็นจักจั่นตัวเต็มวัย และเริ่มส่งเสียงดังระงมเพื่อเรียกหาคู่และผสมพันธุ์ จากนั้นจึงเริ่มวางไข่ โดยทั่วไปจักจั่นตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 1-2 อาทิตย์ แล้วก็จะตายตกเกลื่อนอยู่ใต้ต้นไม้ และเมื่อเข้าฤดูใบไม้ร่วงเสียงจักจั่นก็จะหายไปพร้อมกับความหนาวที่ค่อยๆ เข้ามาเยือน
ประสบการณ์การรับประทานจักจั่นของเด็กญี่ปุ่น
ที่เมืองฮามามัตสึ (Hamamatsu City) จังหวัดชิซุโอกะ (Shizuoka) ได้จัดงานอีเวนท์ให้เด็กและผู้ใหญ่เข้าร่วมจับจักจั่นแล้วลองนำมารับประทาน โดยปล่อยให้เด็กจับจักจั่นในสวนสาธารณะใส่กล่องจนเต็ม แล้วนำมาปรุงอาหารโดยการทอดแล้วนำมารับประทานกับข้าวสวยและใส่แทนกุ้งในเมนูกุ้งซอสพริก เมื่อเด็กๆ ได้รับประทานแล้วมีความคิดเห็นดังนี้ “จักจั่นมีรสชาติคล้ายถั่วแต่มีเนื้อสัมผัสคล้ายกุ้ง” “อร่อยแบบง่ายๆ” และ “มีรสขมเล็กน้อยพอๆ กับความขมของพริกหวาน” โดยสรุปแล้วเด็กๆ ที่เข้าร่วมงานอีเวนต์ต่างบอกว่าจักจั่นมีรสชาติอร่อยแม้ว่าบางคนจะไม่กล้ารับประทานในตอนแรก
แนวโน้มของการนำโปรตีนจากแมลงมาเป็นแหล่งอาหารทดแทนในอนาคต
มีการคาดคะเนว่าจะมีจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารขึ้น แมลงจะกลายเป็นทางเลือกของอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ที่สามารถเพิ่มผลผลิตในปริมาณมากได้ง่ายกว่าการปศุสัตว์ การเลี้ยงแมลงจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการปศุสัตว์เพราะใช้น้ำและอาหารเลี้ยงในปริมาณที่ต่ำแต่ให้ผลผลิตออกมาในปริมาณที่สูง ปัจจุบันมีการเลี้ยงจิ้งหรีดแล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้รับประทานได้ง่ายขึ้น เช่น ผงโปรตีนแมลงที่นำไปเป็นส่วนผสมของอาหารหลากหลายชนิดได้แก่ เซมเบ้ ขนมปัง และแฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดและด้วงทั้งตัวเป็นของว่างตามตู้หยอดเหรียญด้วย ดังนั้นในอนาคตอันใกล้จักจั่นอาจเป็นผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพที่สามารถหาซื้อมารับประทานได้ง่ายเช่นกัน
ด้วยสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป ปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อาจทำได้ยากขึ้น ประเด็นอาหารทางเลือกจากแมลงจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ในอนาคตเราอาจเห็นผลิตภัณฑ์ขนมยอดนิยมในญี่ปุ่นที่มีส่วนผสมทำจากแมลงมากขึ้นแน่ๆ ค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก news.yahoo