เมื่อญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับ “โคโรนะอิจิเมะ” การกลั่นแกล้งและตั้งแง่รังเกียจผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อ COVID-19

แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่นจะคลี่คลายลงไปมาก แต่ปัญหาใหม่ที่ตามมาและกำลังก่อตัวในสังคมของประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คงหนีไม่พ้น “โคโรนะอิจิเมะ” หรือก็คือการกลั่นแกล้งและตั้งแง่รังเกียจต่อผู้ที่เคยติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งปัญหาที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมของคนวัยทำงานเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในสังคมของเด็กวัยเรียนอีกด้วย

สาเหตุของการกลั่นแกล้ง

ทำไมคนเราต้องกลั่นแกล้งกัน ? หากอธิบายในแง่ของจิตวิทยานั้น การกลั่นแกล้งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุหลักที่เป็นแรงผลักดันให้ใครสักคนลงมือกลั่นแกล้งผู้อื่นก็คือ “ต้องการเติมเต็มหรือสนองความรู้สึกของตนเอง” “ต้องการอยู่เหนือกว่าอีกฝ่าย” หรือไม่ก็เพราะ “ต้องการปลดปล่อยความเครียดที่สะสมมาในแต่ละวัน” นั่นเอง

รูปแบบของ “โคโรนะอิจิเมะ”

“โคโรนะอิจิเมะ” นั้นมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน โดยรูปแบบหลักๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมของประเทศญี่ปุ่นมีดังนี้

1. การเพิกเฉย หรือการสบถคำพูดหยาบคายต่างๆ เช่น “อย่าเข้ามาใกล้นะ” หรือ “อย่ามาแตะตัวฉันนะ” ใส่ผู้ที่เคยติดเชื้อ COVID-19 หรือผู้ที่เคยมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ COVID-19

2. สถานรับเลี้ยงเด็กบางแห่งเริ่มปฏิเสธไม่รับฝากเด็กที่มีพ่อแม่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19

3. เด็กที่มีพ่อแม่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หรือมาจากเมืองที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากเป็นพิเศษ มักถูกเพื่อนๆ กีดกันออกจากกลุ่ม

4. มีการนำกระดาษที่เขียนข้อความว่า “บ้านนี้เคยมีคนติดเชื้อ COVID-19” ไปแปะหน้าประตูบ้านคนอื่น

เด็กที่ต้องเผชิญกับ “โคโรนะอิจิเมะ”

T ซังเล่าว่า สามีของเธอติดเชื้อ COVID-19 ทำให้ทุกคนในครอบครัวได้แก่ ตัวเธอเอง และลูกอีกสองคนมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไปด้วย แต่ปรากฏว่ามีเพียงลูกสาวคนโตเท่านั้นที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ดีเนื่องจากอาการไม่รุนแรงมากเลยรักษาตัวอยู่ที่บ้านประมาณครึ่งเดือนก็กลับไปเรียนได้ตามปกติ แต่ลูกสาวของเธอกลับถูกเพื่อนร่วมห้องบางคนพูดใส่หน้าว่า “เห้ย มาแล้วว่ะ” หรือบางคนก็พูดว่า “ช่วยอย่าเข้ามาใกล้สักพักนึงนะ”

แน่นอนว่าลูกสาวของเธอเสียใจมากจนพูดอะไรไม่ออก แต่ละวันก็ไปโรงเรียนแล้วกลับมาพร้อมกับความเจ็บปวดเพราะไม่มีใครเข้าใกล้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีเพื่อนผู้หญิงบางคนส่งไลน์มา “ขอโทษที่ยังไม่สามารถเข้าใกล้กันได้ในตอนนี้” บางคนก็ให้กำลังใจในทำนองว่า “ดีจังเลยนะที่หายป่วยแล้ว เดี๋ยวอีกสักพัก เรากลับมาเล่นกันเหมือนเดิมนะ” ก็เลยทำให้ลูกสาวของเธอมีกำลังใจมากขึ้น และสามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ ส่วนเพื่อนผู้ชายที่เคยพูดว่า “เห้ย มาแล้วว่ะ” ก็ได้ยินว่าตอนนี้ลูกสาวเธอตัดสินใจเลิกคบไปแล้ว แต่ว่าคำพูดในลักษณะตั้งแง่รังเกียจนั้นคงจะฝังอยู่ในจิตใจของลูกสาวเธอไปอีกนาน

S ซัง เล่าว่า มีเด็กคนหนึ่งที่เรียนอยู่ห้องเดียวกับลูกชายของเธอมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 แต่ผลตรวจ PCR ออกมาเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) เด็กคนนั้นจึงเอาไปคุยโวกับเพื่อนคนอื่นๆ ว่า “เห้ย ฉันเคยอยู่ใกล้กับคนติดเชื้อโคโรน่า แต่กลับไม่เป็นอะไรเลยว่ะ” หลังจากนั้นก็มีข่าวลือต่างๆ นานาแพร่กระจายไปทั่วห้อง ทำให้เด็กคนนั้นถูกเพื่อนๆ ตั้งแง่รังเกียจจนไม่สามารถไปโรงเรียนได้

“โคโรนะอิจิเมะ” ในสังคมของผู้ใหญ่

U ซัง เล่าว่า สามีของเธอติดเชื้อ COVID-19 และต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่หลายวัน พออาการดีขึ้นก็กลับมารักษาตัวต่อที่บ้าน ซึ่งในระหว่างนั้นเธอก็ไม่ได้เข้าไปทำงานที่บริษัทเลย และก่อนที่จะกลับไปทำงานก็ได้เข้ารับการตรวจ PCR เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลก็ออกมาว่า U ซัง ไม่ได้ติดเชื้อแต่อย่างใด คนที่ทำงานก็ไม่ถึงกับหลบหน้าหลบตา แต่หากเธอมีอาการสำลัก หรือไอติดต่อกัน ก็จะถูกคนอื่นพูดใส่ว่า “นี่เธอ อย่าเอาเชื้อโคโรน่ามาแพร่นะ !” หรือบางคนก็รีบเอาน้ำยาฆ่าเชื้อมาเช็ดเครื่องถ่ายเอกสารที่เธอเพิ่งใช้เสร็จ จึงทำให้เธอรู้สึกว่าไม่อยากมาทำงานอีกแล้ว

“ฉันเข้าใจดีว่าทุกคนต่างหวาดกลัวเชื้อไวรัสโคโรน่า แต่สิ่งที่ฉันต้องพบเจอมันทำให้ฉันเริ่มคิดอย่างจริงจังว่าจะย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่น” U ซัง กล่าวทิ้งท้าย

แผนการรับมือกับปัญหา “โคโรนะอิจิเมะ” ของรัฐบาลญี่ปุ่น

เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2020 รัฐมนตรีว่าการกระทรงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้ประกาศว่าทางรัฐบาลจะเริ่มโครงการ “ลบอคติต่อผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 กันเถอะ” เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วย COVID-19 หรือผู้ที่เคยมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 ต้องถูกผู้คนในสังคมกลั่นแกล้งหรือตั้งแง่รังเกียจจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าทั้งโรงเรียนและบริษัทต่างๆ ก็ได้มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวของรัฐบาลไปแล้ว เช่น มีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 ให้กับผู้ปกครอง ครู นักเรียน และพนักงานในบริษัท แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องรอดูต่อไปว่าโครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

สรุปเนื้อหาจาก : maidonanews

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save