เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำงานและเงินเดือนของอาชีพ “พนักงานขับรถไฟ” ในญี่ปุ่น

เหล่าพนักงานผู้สวมเครื่องแบบสุดเท่ ทำหน้าที่ควบคุมรถไฟให้วิ่งถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและตรงตามเวลา แน่นอนพวกเขาก็คือ “พนักงานขับรถไฟ” นั่นเอง แต่เพื่อนๆ รู้ไหมครับว่าที่ประเทศญี่ปุ่น กว่าจะเป็นพนักงานขับรถไฟได้พวกเขาเหล่านั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง แล้วชีวิตการทำงานเป็นอย่างไร ได้รับเงินเดือนมากน้อยขนาดไหน วันนี้เราจะไปฟังคำตอบนั้นจากพนักงานขับรถไฟของบริษัทรถไฟเอกชนแห่งหนึ่งในภูมิภาคจูบุกันครับ

อยากขับรถไฟก็ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ก่อน

พนักงานขับรถไฟท่านนี้กล่าวว่า ในการเป็นพนักงานขับรถไฟนั้นจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่รถไฟเสียก่อน ซึ่งจะมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน แต่ทุกประเภทล้วนออกให้โดยรัฐบาลเหมือนกันทั้งหมด สำหรับใบอนุญาตขับขี่รถไฟนั้นมีชื่อเรียกเป็นภาษาราชการว่า “โดเรียวคุฉะโซจูฉะเม็งเคียวโช (動力車操縦者免許証)”

ใบอนุญาตขับขี่รถไฟดังกล่าว จะได้รับจากการเข้าฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การอนุญาตของกระทรวงคมนาคม โดยทั่วไปศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวจะถูกจัดตั้งขึ้นโดยบริษัทรถไฟชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น หากบริษัทรถไฟใดไม่มีศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าว ก็จะแก้ไขโดยการส่งพนักงานในบริษัทไปฝึกอบรมที่บริษัทซึ่งมีศูนย์ฝึกอบรม หรืออาจมอบหมาย หรือว่าจ้างให้บริษัทที่มีศูนย์ฝึกอบรมนั้นมาทำหน้าที่ฝึกอบรมพนักงานของบริษัท

กว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับใบอนุญาตขับขี่รถไฟนั้น จะต้องผ่านการฝึกอบรมหลายขั้นตอน หากอธิบายคร่าวๆ ก็คือผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องเข้าฟังบรรยายวิชาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายรถไฟ ความรู้เกี่ยวกับขบวนรถไฟ ความรู้เกี่ยวกับรางรถไฟ ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บนรถไฟ หลังจากนั้นก็ต้องเข้าสอบข้อเขียนในรายวิชานั้นๆ ให้ผ่าน ซึ่งข้อสอบก็ไม่ได้ยากจนเกินไป เพียงแต่มีเนื้อหาที่ต้องจดจำเยอะ และมีเวลาให้เตรียมตัวสอบค่อนข้างน้อย จึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ไม่ถนัดการท่องจำ เมื่อสอบผ่านข้อเขียนแล้วก็ต้องเข้ารับการฝึกทักษะการขับรถไฟภายในห้องคนขับ โดยจะมีพนักงานขับรถไฟคอยฝึกสอนและชี้แนะอยู่ข้างๆ ซึ่งทักษะที่ว่านี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถเข้าใจได้ไม่ยากอยู่แล้ว

นอกจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องทำความเข้าใจระบบการเดินรถแล้ว ยังต้องรู้ถึงปัจจัยภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อการเดินรถด้วย เช่น หากฝนตก น้ำฝนจะทำปฏิกิริยากับน้ำมันที่เคลือบไว้บนราง จนอาจเป็นเหตุให้ล้อรถไฟลื่นหลุดออกจากรางได้ หรือกรณีที่หิมะตกหนักจนกองทับถมบนราง หรือในกรณีที่บรรทุกผู้โดยสารจนแน่นเต็มขบวนจะทำให้น้ำหนักของขบวนรถเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเบรคลดลง เป็นต้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตามช่วงเวลาหรือตามฤดูกาลก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ด้วยเช่นกัน เช่น ในช่วงเวลาที่แดดจัด แสงแดดจะส่องผ่านกระจกรถเข้ามายังห้องคนขับจนอาจส่งผลกระทบต่อทัศนะวิสัยการมองเห็นได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้เอาไว้ เพื่อจะได้แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องนั่นเอง

ใบอนุญาตขับขี่รถไฟที่ได้รับมานั้น สามารถนำไปใช้ขับขี่ได้ทั้งรถไฟที่ให้บริการโดยบริษัทเอกชน และรถไฟในเครือ JR ซึ่งให้บริการโดยหน่วยงานของรัฐ ตัวอย่างเช่น หากพนักงานท่านหนึ่งเป็นพนักงานขับรถไฟของ JR แต่มีความประสงค์จะย้ายไปขับรถไฟใต้ดินที่ให้บริการโดยบริษัทเอกชนก็สามารถทำได้ หากบริษัทปลายทางนั้นไม่ขัดข้อง

แต่ทว่า เนื่องจาก รถไฟดีเซล รถไฟฟ้า รถไฟชิงคันเซ็น และรถราง จะมีใบอนุญาตขับขี่ที่แตกต่างกัน จึงนำใบอนุญาตขับขี่รถไฟฟ้าไปสมัครเป็นพนักงานขับรถไฟชนิดอื่นๆ ไม่ได้ นอกจากนี้ พวกสัญญาณไฟกับเครื่องหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท ดังนั้น หากย้ายไปเป็นพนักงานขับรถไฟของบริษัทอื่น ก็อาจต้องเริ่มนับหนึ่งเรียนรู้ใหม่ตั้งแต่ต้น

ทำงานข้ามวันข้ามคืน ได้เงินเดือนเท่าไหร่?

พนักงานขับรถไฟท่านนี้กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่พนักงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถจะต้องเข้าทำงานตามกะเวลาที่กำหนดไว้ซึ่งจะมีลักษณะเป็นการทำงานข้ามวันข้ามคืน (แต่จะมีช่วงเวลาให้พักผ่อน) อย่างเช่นบริษัทของเขานั้นจะต้องเข้าทำงานรวมแล้ว 2 วัน 1 คืน หรือบางบริษัทอาจให้พนักงานทำงาน 3 วัน 2 คืน แต่บางบริษัทก็ให้พนักงานทำงานแค่ในช่วงเช้าถึงช่วงเย็นเท่านั้น ส่วนตัวเขานั้นจะออกไปทำงานช่วงกลางวัน และเลิกงานในช่วงกลางวันของวันถัดไป

พนักงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถจะเข้าทำงาน 5 วัน และหยุด 2 วัน ส่วนการลาพักผ่อนนั้นจะสมควรลาหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนพนักงานของบริษัท หากช่วงไหนที่จำนวนพนักงานไม่เพียงพอ ทางบริษัทก็จะขอความร่วมมือให้พนักงานแต่ละท่านช่วยงดใช้สิทธิลาพักผ่อนไว้ชั่วคราว

สำหรับเงินเดือนนั้น พนักงานขับรถไฟท่านนี้เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานตรวจตั๋วมาก่อน หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นพนักงานขับรถไฟ รวมระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ 5 ปี ปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 3,500,000 เยน/ปี หรือประมาณ 291,666 เยน/เดือน (ประมาณ 88,416 บาท/เดือน) แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟน้อยลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จึงส่งผลกระทบต่อรายได้พอสมควร อย่างเช่น โบนัสก็ลดลงจากปีที่แล้ว แต่ตัวเขาก็เข้าใจดีว่า “มันเป็นยุคสมัยที่ยากลำบาก เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่จะเรียกร้องอะไรไปมากกว่านี้ ขอแค่มีเงินเดือนกับโบนัสก็ถือว่ามีชีวิตที่สมบูรณ์แบบแล้วล่ะ”

สรุปเนื้อหาจาก : maidonanews

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save