ในชีวิตคนเราความเครียดนั้นมีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น การโหมงานอย่างหนักแต่งานไม่เดินเหมือนดั่งใจหวัง การผิดหวังในความรัก ความไม่เข้าใจจากคนในครอบครัว การป่วย ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงดูลูกและสำหรับนักศึกษาคือการสอบตกไม่ได้เลื่อนชั้น เป็นต้น จากการสำรวจพบพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยซึมเศร้าในญี่ปุ่นนั้นมีสาเหตุมาจากการทำงาน มาดูสาเหตุของการทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและวิธีการดูแลให้หายจากภาวะซึมเศร้ากันนะคะ
หากรู้สึกเครียดสิ่งที่ทำได้เพื่อบรรเทาความเครียดคือ เข้านอนแต่หัวค่ำ ไปคาราโอเกะ ไปดูหนัง ออกกำลังกาย ฟังเพลงที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้า
ผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีสาเหตุมาจากการทำงานนั้นอาจมีสาเหตุมาจากงานหรือถูกกำหนดให้ทำงานที่ไม่ตรงกับความชอบและความถนัดของตนเอง ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน มีความจริงจังเกินไป บวกกับความมุ่งหวังกับรางวัลและความสำเร็จมากเกินไปจนทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะสำเร็จในทุกสิ่งที่ทำ และทำงานมากเกินไปทั้งที่มีกำลังจำกัด เป็นต้น การทำงานที่หนักมากทำให้เกิดความกังวลว่าต้องทำงานให้ดีและสะสางงานให้หมดตลอดเวลา ส่งผลให้มีเวลาพักผ่อนน้อยและกลายเป็นความเครียดเรื้อรังที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในที่สุด
อาการที่บ่งว่าเป็นภาวะซึมเศร้า
- ไม่มีอะไรที่น่าสนใจหรืออะไรที่ทำให้รู้สึกสนใจ
- กินอาหารอะไรก็ไม่รู้สึกอร่อย
- ไม่อยากไปข้างนอก ไม่อยากเจอผู้คนและไม่อยากรับโทรศัพท์
- เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับและตื่นเช้ามาก
- หงุดหงิดไปทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงไร
- รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรดีเลยจนนำไปสู่การย้ำคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า
- มีอาการทางกายภาพร่วม เช่น อาการปวดหัว ไหล่แข็ง และท้องผูก เป็นต้น
วิธีการรักษาภาวะซึมเศร้า
เมื่อเกิดภาวะซึมเศร้าทำให้รู้สึกว่าความฝันและความหวังดับสูญไป การกลับมาคิดบวกนั้นเป็นไปได้ยาก แต่การเข้าใจและยอมรับว่าตนเองเครียดและมีภาวะซึมเศร้า และต้องการจะผ่านพ้นจากภาวะเหล่านี้ไปให้ได้สามารถทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ โดยปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาที่ช่วยให้นอนหลับเพื่อให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- การใช้ยาเพื่อต้านภาวะซึมเศร้า
- เปลี่ยนมุมมองความคิดในการทำงาน โดยพิจารณาถึงสาเหตุและการรูปแบบทำงานของตนที่ก่อภาวะซึมเศร้า และหาวิธีทำงานเพื่อเลี่ยงไม่ให้กลับไปสู่ความเครียดจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าอีก เช่น เปลี่ยนแนวความคิดในการทำงานจากที่ต้องหักโหมหนักไปเช้ากลับดึกเพื่อความสำเร็จเป็นการกำหนดเวลาการทำงานให้สั้นลง
- สร้างความความรู้สึกเชิงบวก มองความล้มเหลวจากการทำงานเป็นแรงบันดาลใจให้เข้มแข็งเพื่อแก้ปัญหาและเปลี่ยนแนวทางให้ก้าวผ่านไปไม่ใช่เพื่อล้มทับตัวเอง งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต
ครอบครัวกับการสนับสนุนผู้ป่วยให้หายจากภาวะซึมเศร้า
ความเข้าใจและความร่วมมือจากครอบครัวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการรักษาภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีข้อปฏิบัติดังนี้
- ไม่เร่งรีบ ไม่ตื่นตระหนกลนลานและไม่ล้มเลิกความตั้งใจ
- เข้าใจว่าการรักษาภาวะซึมเศร้าต้องใช้เวลา
- เลื่อนการตัดสินใจที่สำคัญออกไป เช่น การเกษียณหรือการหย่า เป็นต้น
- ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือหากผู้ป่วยไม่อยากมีชีวิตต่อ
- หลีกเลี่ยงการมีปัญหากับผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงคำพูด สู้ ๆ หรือพยายามเข้า เพราะคำพูดเหล่านี้จะมีผลในด้านลบกับผู้ป่วย
- ไม่พยายามที่จะชวนพวกเขาไปเที่ยวเปิดหูเปิดตาที่โน่นที่นี่ เพราะคนที่มีภาวะซึมเศร้าไม่มีความรู้สึกสนุกที่จะไปไหนมาไหนเมื่อารมณ์และความรู้สึกสนุกยังไม่กลับคืนมา
- พยายามอย่าให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ชอบการจู้จี้จุกจิกจากคนในครอบครัว เพราะจะทำให้พวกเขารำคาญและไม่อยากบอกเล่าความรู้สึกของตนอีกต่อไป
ภาวะซึมเศร้าเป็นเหมือนการตกลงไปในหลุมลึก ความพยายามที่จะขึ้นจากหลุมด้วยตนเองบวกกับความร่วมมือและกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างจะทำให้พวกเขาพาตัวเองขี้นมาจากหลุมลึกมาเจอแสงสว่างได้อีกครั้ง สิ่งสำคัญคือ ภาวะซึมเศร้านั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้หากมีความรักในตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก min-iren