คนญี่ปุ่นรวมถึงคนทั่วไปมักจะสงสัยว่าอาหารที่เก็บไว้จนลืมและเลยวันหมดอายุแล้วจะนำมาทานได้อีกหรือไม่ ในญี่ปุ่นมักมีการแยกเขียนวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มไว้เป็นสองแบบ มารู้จักวันหมดอายุทั้งสองแบบ และมารู้กันนะคะว่าเมื่อเลยวันหมดอายุแล้วจะสามารถนำอาหารเหล่านั้นมาทานได้หรือไม่
วันหมดอายุของสินค้าในญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่นหากเป็นของสด เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวปั้น ขนมปัง แซนวิช และข้าวกล่อง เป็นต้น มักจะเขียนวันหมดอายุด้วยภาษาญี่ปุ่นว่า 消費期限 (Shohi kigen) ซึ่งหมายความว่าควรบริโภคสินค้าภายในวันเดือนปีที่ระบุไว้ หากบริโภคหลังจากวันที่ระบุไว้ก็อาจจะทำให้ท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้ ทั้งนี้วิธีการเก็บก็ต้องทำตามที่ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ เช่น เก็บในที่ไม่มีแสงและเก็บไว้ในที่เย็น เป็นต้น
หากเป็นอาหารที่เก็บได้ตั้งแต่หลายวันไปจนถึงหลายเดือน เช่น นม โยเกิร์ต ขนม ของว่าง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้าจะระบุวันหมดอายุด้วยภาษาญี่ปุ่นว่า 賞味期限 (Shomi kigen) ซึ่งระบุว่าอาหารเหล่านี้จะทานได้อย่างอร่อยภายในวันที่ระบุไว้ แต่หากหมดอายุโดยที่ยังไม่เปิดบรรจุภัณฑ์ ก็สามารถนำมาทานได้ภายในเวลา 0.1-0.5 เท่าของอายุอาหารที่ระบุไว้ เช่น หากอาหารหรือเครื่องดื่มมีอายุ 10 วัน เราสามารถทานอาหารเหล่านั้นได้แม้เก็บไว้ 11-15 วัน แต่หากให้ดีที่สุดก็ภายใน 13 วัน โดยรสชาติของอาหารอาจจะไม่อร่อยเท่ากับการทานหรือดื่มภายในวันหมดอายุที่ระบุไว้ ทั้งนี้การนำมาทานหลังวันหมดอายุก็ต้องคำนึงถึงอาหารแต่ละชนิดและวิธีการเก็บด้วย หากเก็บอย่างถูกต้องตามที่บรรจุภัณฑ์ระบุไว้ เช่น ไม่ให้โดนแสงและวางไว้ในที่เย็น ก็สามารถนำมาทานได้โดยไม่มีปัญหา
ควรจัดการกับอาหารที่เปิดแล้วแช่ตู้เย็นอย่างไร
แม้จะมีการระบุวันหมดอายุไว้อย่างชัดเจน แต่อาหารบางชนิดนั้นไม่สามารถเก็บได้จนถึงวันหมดอายุตามที่ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ได้ เช่น
-โยเกิร์ต กิมจิ หรือผักดอง หากเปิดภาชนะแล้วควรทานให้หมดโดยเร็ว
-เครื่องปรุงรสและแยม เป็นต้น เมื่อเปิดฝาขวดแล้วควรใช้หรือทานให้หมดภายในหนึ่งเดือน หากวางไว้เกินหนึ่งเดือนแม้ว่าจะเก็บไว้ในตู้เย็นก็มีโอกาสเกิดเชื้อราได้ เพื่อกันการลืมวันเปิดฝาขวดก็ให้ใช้สีเมจิกเขียนวันที่เปิดไว้ที่บรรจุภัณฑ์
-อาหารแช่แข็ง เช่นเนื้อสัตว์และอาหารทะเล เป็นต้น หากนำอาหารเหล่านี้มาแช่แข็งเองเพื่อยืดการเก็บ ก็ควรนำมาทานภายใน 2 อาทิตย์หลังจากการแช่แข็ง เพราะหากแช่ไว้นานกว่านี้ก็จะทำให้รสชาติไม่อร่อย สำหรับอาหารแช่แข็งสำเร็จรูปที่ซื้อมามักจะมีวิธีการจัดการของโรงงาน จึงสามารถแช่แข็งได้จนถึงวันหมดอายุที่บรรจุภัณฑ์ระบุไว้
โดยสรุปคือ หากบรรจุภัณฑ์ระบุวันหมดอายุไว้ว่า 消費期限 (Shohi kigen) การเก็บอาหารเหล่านั้นต้องไม่ให้โดนแสงและเก็บไว้ในที่เย็น และไม่ควรทานหลังจากวันหมดอายุ หากบรรจุภัณฑ์ระบุวันหมดอายุไว้ว่า 賞味期限 (Shomi kigen) ก็สามารถทานอาหารเหล่านั้นได้หลังจากวันหมดอายุอย่างน้อย 0.1-0.5 เท่าของอายุอาหาร แต่ให้ดีและปลอดภัยที่สุดก็คือภายใน 0.3 เท่าของอายุอาหาร อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์หลายชนิดไม่ได้ระบุวันผลิตไว้ ทำให้ต้องยุ่งยากเข้าไปหาข้อมูลอายุอาหารแต่ละชนิด ทางที่ดีคือซื้อของมาในปริมาณที่พอกินค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: halmek