ในตอนที่ผ่าน ๆ มาเราได้เล่าถึงการเดินทางของขยะในญี่ปุ่นว่าหลังจากประสบความสำเร็จกับการแก้ไขปัญหาขยะจากครัวเรือน ขยะจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ญี่ปุ่นก็ได้เข้าสู่ช่วงฟองสบู่ซึ่งขยะจากครัวเรือนไม่ได้มีแค่เศษอาหารอีกต่อไป แต่ยังมีพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ ๆ เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ วันนี้เราจะเข้าสู่ช่วงที่ 3 ของการเดินทางคือการสร้างสังคมแบบหมุนเวียนนั่นเอง เรามาดูกันว่าญี่ปุ่นจะจัดการกับขยะที่เพิ่มขึ้นในยุคฟองสบู่อย่างไร และใช้วิธีใดนำพาความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชนในการจัดการกับขยะได้อย่างในปัจจุบัน
ช่วงทศวรรษ 1990 – 2000
หลังจากที่รู้ตัวแล้วว่าปริมาณและประเภทของขยะได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากเศรษฐกิจยุคฟองสบู่ ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนเป้าหมายหลักจากการจัดการขยะ มาเป็นการลดขยะและนำกลับมาใช้ใหม่แทน คำที่ฮิตที่สุดในช่วงนี้ก็คือ 3R ได้แก่ Reduce Reuse และ Recycle ในภาพรวมรัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค้า การลดขยะ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนึงถึงกระบวนการตั้งแต่การออกแบบสินค้า ขั้นตอนการผลิต การเก็บสินค้าที่เสียแล้ว ไปจนถึงการสร้างระบบรีไซเคิล
งานส่งเสริมการลดขยะระดับประเทศ
เมื่อปี 1992 รัฐบาลญี่ปุ่นร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปจัดการส่งเสริมการลดขยะระดับประเทศครั้งที่ 1 ขึ้น ในงานนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการลดขยะ รวมถึงกำหนดสัปดาห์ส่งเสริมการลดขยะ โดยได้สื่อต่าง ๆ ช่วยเผยแพร่ นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา ได้มีการช่วยเหลือการปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มประชาชนผู้อยู่อาศัยที่ให้ความร่วมมือในการเก็บและแยกขยะ สำหรับอำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้านใดที่มีความก้าวหน้าด้านการลดขยะและระบบรีไซเคิลก็จะได้รางวัลเป็น Green Recycle Town อีกด้วย
การก่อตั้ง Recycle Center ระดับท้องถิ่น
การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่น้อยหน้า ต่างพากันหาวิธีทำให้ผู้อยู่อาศัยตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิล หนึ่งในวิธีที่ใช้กันก็คือการก่อตั้ง Recycle Center หรือ Recycle Plaza ประจำท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมแซม จัดแสดง หรือแม้แต่แจกจ่ายชิ้นส่วนที่ยังใช้ได้อยู่จากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียแล้ว ส่งเสริมระบบการส่งต่อของที่ไม่ใช้แล้วให้ผู้อื่น สามารถลดขยะได้และเป็นการปลูกฝังการรีไซเคิลให้กับผู้คนที่อยู่อาศัยอีกด้วย
ความร่วมมือของประชาชนในการแยกขยะ
การแยกขยะก่อนทิ้งในญี่ปุ่นเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายทศวรรษ 1970 ณ เมืองนุมาซึในจังหวัดชิซุโอกะ และเมืองฮิโรชิมาในจังหวัดฮิโรชิมา และได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นมา การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละที่ต่างทำแผ่นพับหรือสมุดเล็ก ๆ ที่วาดภาพวิธีการแยกขยะและวิธีการทิ้งขยะที่เข้าใจง่าย สีสันสดใสน่ามอง และแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้อยู่อาศัย อีกทั้งยังมีแผ่นพับภาษาต่างประเทศสำหรับผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติอีกด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่เทศบาลก็มีการจัดงานอธิบายวิธีการแยกขยะ เหตุผลที่ต้องแยกขยะ และกฎหมายเกี่ยวกับการรีไซเคิลให้กับประชาชน ส่วนภาคประชาชนเองก็มีการรวมกลุ่มอาสาสมัครเก็บขยะที่สามารถนำไปเป็นทรัพยากรได้ไปรวมกันไว้และนำส่งให้บริษัทจัดการขยะต่อไป การทำแบบนี้นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการเก็บขยะของท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่เดียวกัน และได้รับเงินสนับสนุนจากการปกครองส่วนท้องถิ่นอีกด้วย
จบไปแล้วกับการเดินทางของขยะในญี่ปุ่น กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่ง่าย ๆ เลย ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อน ๆ อ่านดูแล้วคิดว่ามีจุดไหนสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาขยะในประเทศไทยได้บ้างคะ ผู้เขียนว่าเริ่มจากการแยกขยะง่าย ๆ ที่บ้านนี่แหละค่ะ ตอนเราไปญี่ปุ่นเรายังแยกขยะตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นได้เลย แล้วทำไมเราจะทำแบบนั้นที่ไทยด้วยไม่ได้ จริงไหมคะ
สรุปเนื้อหาจาก : env.go.jp