โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้สูงในหญิงสูงอายุชาวญี่ปุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หากละเลยไม่ดูแลรักษาก็จะส่งผลให้เกิดการสลายของกระดูกฟองน้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของกระดูกสันหลัง กระดูกต้นขา และกระดูกปลายแขน และส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว มารู้ถึงพฤติกรรมที่ควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนตามคำแนะนำของคุณหมอ Hiroaki Ota ผู้เขี่ยวชาญด้านการบำบัดโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงกันค่ะ
ทำไมผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปีควรใส่ใจป้องกันโรคกระดูกพรุน
จากการศึกษาพบว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกในหญิงวัยหมดประจำเดือนหลังจาก 10 ปีจะมีความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากว่าวัยหมดประจำเดือนเป็นช่วงวัยที่ร่างกายหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ส่งเสริมการสร้างมวลกระดูกและป้องกันการสลายของมวลกระดูก เมื่อขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนมวลกระดูกจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลทำให้เกิดโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความแข็งแรงของร่างกายด้วย โดยหากความแข็งแรงของมวลกระดูกลดลงก็จะส่งผลเสียต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายรวมถึงการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายด้วย ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงจำเป็นต้องดูแลความแข็งแรงของกระดูกตั้งแต่ยังสาวเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายไปนานๆ
5 พฤติกรรมที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
1. อาบแสงแดดเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายสร้างวิตามินดี
วิตามินดีช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟันได้ดี โดยทั่วไปคนเรารับวิตามินดีได้จากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น เห็ดหอมแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย นม ปลาแซลมอน และปลาลำตัวสีน้ำเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ดี เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของวิตามินดีที่ร่างกายต้องการนั้นมาจากอาหาร แต่ 80 เปอร์เซ็นต์ของวิตามินดีนั้นได้มาจากการสัมผัสกับรังสียูวี ผู้หญิงส่วนใหญ่มักกลัวว่ารังสียูวีจะทำลายผิวพรรณและเส้นผม แต่การเดินนอกบ้านช่วงประมาณเที่ยงวัน วันละ 15 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน จะช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
2. เดินเป็นประจำเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกระดูกใหม่
การนั่งทำงานทั้งวันจะส่งผลให้เซลล์สร้างเนื้อกระดูก (Osteoblast) ลดลง อีกทั้งการปั่นจักรยานก็ส่งผลให้เซลล์ชนิดนี้ลดลงเช่นกัน การเดินเป็นประจำจะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ทั้งนี้หากมีภาวะเจ็บเข่าหรืออาการปวดหลังส่วนล่างก็อย่าเพิ่งเดินบนพื้นดินมากเกินไป แต่สามารถเดินในน้ำแทนได้ แม้จะให้ประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้ไม่เท่ากับการเดินบนพื้นดินแต่ก็มีผลที่ดีต่อกระดูก
3. ดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายก่อนนอน
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอและหลับสนิทอย่างมีคุณภาพวันละประมาณ 7 ชั่วโมงจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์สร้างเนื้อกระดูกและช่วยเสริมให้กระดูกดีขึ้นรวมถึงช่วยซ่อมแซมกระดูก นมอุ่นเป็นเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยแคลเซียมซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และช่วยเสริมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติส่วนพาราซิมพาเทติก ซึ่งช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและนอนหลับได้สนิท
4. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดที่ส่งผลเสียต่อกระดูก
คาเฟอีนที่มีมากในเครื่องดื่มกาแฟและชาบางชนิดมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ หากดื่มในปริมาณมากไปก็จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียแคลเซียมออกทางปัสสาวะจึงไม่ควรดื่มกาแฟและชาที่มีปริมาณคาเฟอีนสูงเกินวันละ 4 แก้ว นอกจากนี้ เกลือก็มีผลในการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเช่นกันจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด
5. รับประทานโยเกิร์ตเป็นประจำทุกวัน
โยเกิร์ตอุดมไปด้วยโปรตีนเวย์และโปรตีน MBP (Milk basic protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยเพิ่มเซลล์สร้างเนื้อกระดูก (Osteoblast) ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ช่วยปรับสภาพกระดูกให้สามารถรับแคลเซียมได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันไม่ให้แคลเซียมละลายออกจากกระดูก นอกจากนี้ โยเกิร์ตยังอุดมไปด้วยแคลเซียม ซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้เป็นอย่างดี
เมื่ออายุเพิ่มขึ้นร่างกายของคนเราก็ค่อยๆ เสื่อมลง โดยเฉพาะกระดูกซึ่งเป็นโครงสร้างที่จำเป็นของร่างกาย การสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกเสียคุณสมบัติในการรับน้ำหนัก เปราะ และแตกหักได้ง่าย เพื่อรักษาสุขภาพกระดูกให้ดีไปนานๆ มาเริ่มปฏิบัติตามพฤติกรรมข้างต้นเพื่อดูแลสุขภาพของกระดูกให้แข็งแรงกันค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก news.yahoo