เสื่อทาทามิเป็นเสื่อคู่บ้านคนญี่ปุ่นมาอย่างช้านาน เสื่อชนิดนี้มีคุณสมบัติดูดซับและระบายความชื้นได้ดี ช่วยรักษาความอบอุ่นในฤดูหนาวและช่วยทำให้รู้สึกสบายผ่อนคลายในฤดูร้อน อย่างไรก็ดี ในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง จึงทำให้เชื้อราขึ้นเสื่อได้ง่าย หากมีเชื้อราขึ้นนอกจากจะส่งกลิ่นเหม็นแล้วก็อาจจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ เราลองมาดูกันค่ะว่าคนญี่ปุ่นมีวิธีการป้องกันและกำจัดเชื้อราจากเสื่อทาทามิได้อย่างไร
สาเหตุของการเกิดเชื้อรา
สาเหตุของการเกิดเชื้อราบนเสื่อทาทามินั้นเป็นเพราะว่าในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี สภาวะอากาศในญี่ปุ่นมีอุณหภูมิสูงประมาณ 20-30 องศาเซลเซียสและมีความชื้นในอากาศมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญและเพิ่มจำนวนของรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวางฟูกนอนทิ้งไว้บนเสื่อทาทามิโดยไม่เก็บเข้าที่ ความชื้นจากฟูกนอนจะยิ่งส่งเสริมให้ราเจริญได้ดียิ่งขึ้น
สิ่งที่ไม่ควรใช้ทำความสะอาดเสื่อทาทามิ
น้ำ
การใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดเสื่อทาทามิจะยิ่งส่งเสริมให้ราขึ้นบนเสื่อทาทามิ เพราะน้ำเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ส่งเสริมการเจริญของราได้ดี
น้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นด่างรุนแรง
น้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นด่างรุนแรงจะไปทำลายสีของเสื่อทาทามิ หากจะใช้น้ำยาทำความสะอาดเสื่อก็ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นกลางและนำมาเจือจางด้วยน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม
น้ำยาฆ่าเชื้อรา
น้ำยาฆ่าเชื้อรามีส่วนผสมของสารฟอกขาวซึ่งนอกจากจะทำลายสีของเสื่อทาทามิแล้วก็ยังก่อให้เกิดสารตกค้างที่อาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กและสัตว์เลี้ยงด้วย
วิธีการทำความสะอาดเสื่อทาทามิอย่างถูกวิธี
กรณีที่เสื่อมีราขึ้นไม่มาก
หากราขึ้นเสื่อทาทามิเพียงเล็กน้อยก็มีวิธีการทำความสะอาดที่ง่ายคือ การใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดเอาราออก จากนั้นจึงใช้ผ้าแห้งหรือแผ่นทำความสะอาดเสื่อทาทามิ (มีขายอยู่ทั่วไป) เช็ดซ้ำอีกครั้ง
กรณีที่เสื่อมีราขึ้นเยอะ
ในกรณีที่มีราขึ้นเยอะมีวิธีการทำความสะอาดดังนี้คือ
นำเสื่อทาทามิออกตากแดด
ในกรณีที่สามารถนำเสื่อออกมาตากแดดได้ ในวันที่อากาศดีให้นำผ้าแห้งหรือแผ่นทำความสะอาดเสื่อทาทามิมาเช็ดเอาเชื้อราออก หรือใช้เครื่องดุดฝุ่นดูดเอาเชื้อราออกและเช็ดด้วยผ้าแห้งอีกที จากนั้นจึงนำเสื่อออกตากแดดโดยไม่ให้เสื่อสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงเป็นเวลา 3-4 วัน
ใช้สารเคมีต่างๆ
แอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์ความเข้มข้น 75-80 เปอร์เซ็นต์ มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อราได้สูง วิธีการทำได้โดยใช้ผ้าแห้งเช็ดเอาราออกก่อน จากนั้นจึงนำแอลกอฮอล์ใส่ขวดสเปรย์และฉีดพ่นลงไปบนตำแหน่งที่มีเชื้อราขึ้น ใช้ผ้าแห้งเช็ดเชื้อราออกอีกครั้ง แต่หากมีเชื้อราในปริมาณมากก็ใช้แปรงสีฟันขัดเอาเชื้อราออกและฉีดพ่นแอลกอฮอล์ลงไปอีกครั้ง จากนั้นจึงเช็ดออกด้วยผ้าแห้งและใช้พัดลมเป่าให้เสื่อทาทามิแห้ง
น้ำส้มสายชู
น้ำส้มสายชูทั้งน้ำส้มสายชูกลั่นและน้ำส้มสายชูหมักมีประสิทธิภาพในการขจัดราออกจากทาทามิได้ดี วิธีการทำได้โดยนำน้ำส้มสายชูมาเจือจางในน้ำด้วยอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ส่วน ต่อน้ำ 5 ถึง10 ส่วน จากนั้นนำผ้ามาชุบในส่วนผสมน้ำส้มและบิดผ้าให้หมาด นำผ้าไปเช็ดตรงบริเวณที่มีเชื้อรา จากนั้นจึงใช้ผ้าแห้งเช็ดเอาน้ำส่วนเกินออกจากเสื่อ และใช้พัดลมเป่าให้เสื่อทาทามิแห้ง
เบกกิ้งโซดา
เบกกิ้งโซดามีประสิทธิภาพในการขจัดราดำที่ขึ้นเป็นกลุ่มก้อนบนเสื่อทาทามิได้ดี อย่างไรก็ดี เบกกิ้งโซดามีความเป็นด่างสูงซึ่งอาจจะทำให้เสื่อทาทามิเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ จึงควรจำกัดใช้เฉพาะเมื่อมีราดำขึ้นเสื่อเท่านั้น วิธีใช้ทำได้โดยนำเบกกิ้งโซดามาผสมกับออกซิเจน บลีช (Oxygen Bleach) ซึ่งเป็นสารฟอกผ้าขาวที่มีสารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และออกซิเจนผสมอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม จากนั้นจึงใช้คอตตอนบัดหรือสำลีแคะหูชุบส่วนผสมและขัดเบาๆ บนเชื้อรา ทิ้งไว้เป็นเวลา 5 นาที แล้วจึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดซับเอาราออก ใช้ผ้าแห้งเช็ดอีกครั้งแล้วจึงใช้พัดลมเป่าเสื่อให้แห้ง
วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลดีในการขจัดราออกจากเสื่อทาทามิ ปัจจุบันคนไทยเริ่มนิยมห้องที่มีเสื่อชนิดนี้มากขึ้น หากมีราขึ้นเสื่อก็ลองใช้วิธีดังกล่าวข้างต้นดูนะคะ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ก่อนลงมือขจัดราออกจากเสื่อทาทามิก็ให้ใส่ถุงมือยางและหน้ากากอนามัยป้องกันตัวด้วยนะคะ
สรุปเนื้อหาจาก: meetsmore