จากมังสวิรัติสู่สังคมคนรักเนื้อ: ญี่ปุ่นกับค่านิยมการบริโภคที่เปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดด

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกที่เริ่มบริโภคเนื้อ และเปลี่ยนค่านิยมการกินจากเดิมที่แทบจะเป็นมังสวิรัติมาเน้นเนื้อสัตว์ในทุก ๆ มื้ออย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ เมื่อปีค.ศ. 1939 คนญี่ปุ่นทั่วไปบริโภคเนื้อเฉลี่ยคนละประมาณ 3 กรัมต่อวันเท่านั้น ในขณะที่ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นบริโภคเนื้อเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยคนละประมาณ 133 กรัมต่อวัน อะไรทำให้ประเทศที่ได้ชื่อว่าแดนปลาดิบอย่างญี่ปุ่นหันมาบริโภคเนื้ออย่างเป็นล่ำเป็นสันในเวลาที่รวดเร็วขนาดนี้ได้?

*เนื้อ ในที่นี้หมายถึงเนื้อสัตว์บกขนาดใหญ่ (วัว, หมู, ไก่) โดยเฉพาะ เนื้อวัว

ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นเคยเกือบจะเป็นมังสวิรัติ

ย้อนกลับไปในยุคกลางของญี่ปุ่น เวลานั้นเรียกได้ว่าคนญี่ปุ่นเกือบจะเป็นมังสวิรัติเลยทีเดียว เหตุผลหนึ่งมาจากศาสนาประจำชาติญี่ปุ่นทั้งพุทธและชินโตที่ต่างก็มีคำสอนที่ส่งเสริมให้ผู้คนบริโภคพืชผักเป็นหลัก แต่เหตุผลใหญ่ที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่บริโภคเนื้อคือการขาดแคลนพื้นที่ทำกินซึ่งเป็นปัญหาของประเทศเกาะเช่นญี่ปุ่น

แรกเริ่มเดิมทีคนญี่ปุ่นบริโภคเนื้อสัตว์กันอยู่บ้าง แต่การทำปศุสัตว์จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากกว่าการทำเกษตรหลายเท่า แม้ในยุคกลางของญี่ปุ่นก็มีการถางป่าเพื่อทำเป็นพื้นที่เพาะปลูกมากมาย นอกจากนี้สัตว์ที่ไว้ใช้แรงงานทำเกษตรก็ถูกฆ่าเพื่อบริโภคมากเกินไป ทำให้ผู้นำญี่ปุ่นในเวลานั้นออกกฎห้ามบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

มีการสั่งห้ามบริโภคเนื้อครั้งแรกเมื่อ 675 ปีก่อนคริสตศักราช ตามมาด้วยการสั่งห้ามอื่น ๆ ต่อมา ถึงอย่างนั้นคนญี่ปุ่นก็ยังคงล่าสัตว์กันอยู่ แต่เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นสวนทางกับป่าไม้ที่ลดลง ทำให้การบริโภคเนื้อหายไปจากสังคมญี่ปุ่นในที่สุด

ค่านิยมการบริโภคเนื้อจากโลกตะวันตก

เวลาล่วงเลยมาหลายปีจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวดัตช์ได้เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นและปลูกฝังความคิดให้คนญี่ปุ่นว่าการบริโภคเนื้อนั้นดีต่อสุขภาพ ทำให้เกิดทัศนคติในหมู่คนญี่ปุ่นว่าการบริโภคเนื้อเป็นหลักแบบคนยุโรปคือสัญลักษณ์ของความก้าวหน้า การหลุดเป็นอิสระจากระบบศักดินา และสังคมแบบลำดับชั้น คนญี่ปุ่นจึงเริ่มกลับมาบริโภคเนื้อในช่วงปีค.ศ. 1872 เป็นต้นมา

ภายในเวลาเพียง 5 ปีหลังจากนั้น การบริโภคเนื้อวัวในกรุงโตเกียวเพิ่มขึ้นถึง 13 เท่า (ต้องนำเข้าเนื้อจากเกาหลีเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ) ซึ่งในเวลานั้นตรงกับยุคเมจิที่รัฐบาลกำลังมุ่งพัฒนาญี่ปุ่นสู่ความทันสมัยตามชาติตะวันตก และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริโภคเนื้อว่านอกจากจะช่วยให้พลเมืองมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังเพิ่มพละกำลังให้แก่กองทัพญี่ปุ่นอีกด้วย เพราะในเวลานั้นทหารเกณฑ์ของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีรูปร่างเล็กและผอมแห้ง โดยที่ผู้สมัคร 16% มีความสูงไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 150 ซม. ด้วยซ้ำไป

ความนิยมในการบริโภคเนื้อของคนญี่ปุ่นถูกกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสหรัฐฯ เข้ามายึดครองญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นได้เห็นอาหารตะวันตกที่เน้นเนื้อเป็นหลักอย่างแฮมเบอร์เกอร์ สเต็ก และเบคอน อาหารเหล่านี้ค่อย ๆ กลายมาเป็นอาหารที่คนญี่ปุ่นนิยมในเวลาต่อมา

ญี่ปุ่นกินเนื้อ

ทุกวันนี้การบริโภคเนื้อกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมญี่ปุ่นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เนื้อหมูเป็นเนื้อที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และ “เนื้อย่าง” หรือ ยากินิคุ(焼肉)กลายเป็นเมนูยอดฮิตของคนญี่ปุ่นทั้งในหมู่นักเรียนนักศึกษาไปจนถึงวัยทำงาน อีกทั้งความนิยมในอาหารตะวันตกซึ่งรวมถึงฟาสต์ฟู้ดยังทำให้ญี่ปุ่นมีสาขาร้านแมคโดนัลด์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ เลยด้วย

อย่างไรก็ตามความนิยมในการบริโภคเนื้อที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าเนื้อในปริมาณมากด้วยเช่นกัน ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อวัว 60% จากปริมาณเนื้อที่บริโภคทั้งหมด โดยในจำนวนนั้น 90% เป็นเนื้อนำเข้าจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่อัตราการบริโภคเนื้อของประเทศที่ส่งออกเนื้อกลับมีแนวโน้มลดลง

กราฟแสดงการบริโภคเนื้อของประเทศต่าง ๆ ในปี 2010 และค่าประมาณการณ์ในปี 2025 แสดงให้เห็นว่าการบริโภคเนื้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเร็วเกือบที่สุด ในขณะที่บางประเทศอย่างออสเตรเลีย, อาร์เจนตินา และสหรัฐฯ บริโภคเนื้อลดลง (ข้อมูลจาก: DiLorenzo, N., G. C. Lamb, J. C. B. Dubeux, D. D. Arthington, J. M. B. Vendramini, and P. Lancaster (2014))

ค่านิยมจากโลกตะวันตกเป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนให้ญี่ปุ่นหันมาบริโภคเนื้อเป็นหลักอย่างทุกวันนี้ ส่งผลมาถึงประเทศไทยที่เดี๋ยวนี้ก็มีร้านเนื้อย่างและชาบูสไตล์ญี่ปุ่นให้เห็นแทบทุกที่ ชวนให้คิดว่าเราเองก็กำลังเดินรอยตามญี่ปุ่นสู่สังคมบริโภคเนื้อเต็มตัวเหมือนกันหรือเปล่านะ…

อ้างอิงเนื้อหาจาก sushiinjoybellevuebusinessinsidermongabayworldatlasglobalmeatnewsemaze/@AFRZIWLR

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save