8 ลักษณะนิสัยเด่นของคนญี่ปุ่น (ในสายตาของคนญี่ปุ่น)

หากพูดถึงลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่น สิ่งแรกๆ ที่ชาวต่างชาติมักนึกถึงคือความมีมารยาท รู้จักกาลเทศะ แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าในสายตาของคนญี่ปุ่นเองแล้วมองว่าตนเองมีจุดเด่นที่เหมือนหรือแตกต่างจากสังคมชาติอื่นอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาดูกันว่าในสายตาของชาวญี่ปุ่นนั้นเห็นว่าตนเองเป็นอย่างไร

1. คนญี่ปุ่นขี้อายและเคร่งขรึม

คนญี่ปุ่นนั้นมักถูกมองว่าเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยพูด ซึ่งในความเป็นจริงที่พูดมาก็ไม่ผิดนัก เพราะคนญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่มักไม่ชอบทำตัวโดดเด่นจนเกินไป ถึงกับมีคำเปรียบเปรยในภาษาญี่ปุ่นว่า “ลิ่มที่ยื่นออกมาจะถูกตอกกลับลงไป” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบว่าการกระทำที่แหวกแนว โดดเด่นจนเกินงามมักจะถูกมองว่าผิดปกติหรือจะได้รับการลงโทษจากสังคม ดังนั้นด้วยวัฒนธรรมที่ฝังรากแบบนี้จึงทำให้คนญี่ปุ่นดูขรึมในสายตาของชาวต่างชาติ

2. คนญี่ปุ่นมีมารยาทมาก

ลักษณะนิสัยในข้อนี้สามารถเห็นได้ชัดจากงานกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการรักษามารยาทในการชมกีฬา การไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดและช่วยรักษาความสะอาดในสนามกีฬาต่างๆ หากใครเคยไปประเทศญี่ปุ่นก็คงทราบดีว่าแทบไม่เคยเห็นการทิ้งขยะผิดที่หรือการพ่นสีตามกำแพงในที่สาธารณะ แม้ในยามวิกฤติของการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ก็ไม่เคยมีข่าวคราวที่คนญี่ปุ่นก่อเหตุแย่งชิงข้าวของจากรถเสบียงให้ได้เห็นเหมือนในข่าวของประเทศอื่น

3. คนญี่ปุ่นมีนิสัยโอนอ่อน

โอนอ่อน

คนญี่ปุ่นมักเป็นคนที่คิดถึงความรู้สึกของคนอื่นมากกว่าตนเอง การที่คนญี่ปุ่นจะพูดไปตรง ๆ ว่าชอบหรือเกลียดนั้นมักเห็นได้ไม่บ่อยนัก คนญี่ปุ่นมักรู้สึกว่าไม่อยากสร้างปัญหา หากยอมได้ก็ยอม หากทนได้ก็ทน ดังนั้นในสายตาของชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอาจมองว่าคนญี่ปุ่นไม่หนักแน่นในจุดยืนของตนเองมากนัก

4. คนญี่ปุ่นมักทำตัวให้เข้าพวก

คนญี่ปุ่นนั้นมีแนวโน้มที่จะเห็นพ้องกับสิ่งที่คนหมู่มากคิด ถึงแม้ว่าภายในใจตนเองจะไม่คิดแบบนั้นก็ตาม ลักษณะนิสัยในข้อนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคมใหญ่และมาจากจิตสำนึกของคนญี่ปุ่นที่มักไม่ทำตัวออกนอกแถวและให้ความสำคัญในกับการให้ความร่วมมือในสังคม

5. วัฒนธรรมสิ่งที่พูดแตกต่างจากสิ่งที่คิด

สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมของการสื่อสารผ่านบริบทที่ต้องอาศัยการตีความ เพราะในการสนทนา ผู้ฟังจำเป็นต้องพิจารณาว่าสิ่งที่ผู้พูดสื่อสารออกมานั้นตรงกับสิ่งที่ผู้พูดคิดหรือไม่ ซึ่งอาจดูยากในสายตาของชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมนี้และเกิดความไม่สบายใจเมื่อต้องสนทนากับคนญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนสอนเต้นแห่งหนึ่งที่การสอบเต้นใกล้จะมาถึง ปรากฏว่าอาจารย์ชาวญี่ปุ่นพูดในคลาสเรียนเต้นที่มีทั้งนักเรียนต่างชาติและนักเรียนญี่ปุ่นว่า พรุ่งนี้เป็นวันหยุดวันอาทิตย์ แต่ครูจะจองห้องซ้อมเอาไว้ให้ ใครอยากมาซ้อมก็เข้ามาได้ ใครไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร ปรากฏว่าในวันอาทิตย์มีแต่นักเรียนญี่ปุ่นที่เข้ามาซ้อม เพราะนักเรียนต่างชาติเข้าใจเพียงว่ามาได้ตามสมัครใจ การอ่านใจคนพูดว่าแตกต่างกับสิ่งที่คิดหรือไม่นั้นสำหรับคนญี่ปุ่นอาจสามารถทำได้ง่าย แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้วถือเป็นหัวข้อที่ยากพอตัวทีเดียว

6. คนญี่ปุ่นใส่ใจในรายละเอียดราว Perfectionist

ลักษณะนิสัยนี้ไม่ได้หมายถึงว่าคนญี่ปุ่นนั้นหมกมุ่นในความสมบูรณ์เรียบร้อยไปในทุกเรื่อง หากแต่เรื่องใดที่มีบรรทัดฐานเอาไว้แล้ว คนญี่ปุ่นมักให้ความสำคัญ ผิดพลาดนิดหน่อยก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น หากรถไฟฟ้ามาไม่ถึงสถานีตามตารางเวลาเพียง 1 นาทีก็ถือเป็นข้อบกพร่องอย่างยิ่ง เพราะการคมนาคมขนส่งทางสาธารณะในประเทศญี่ปุ่นมีจุดขายที่การรักษาเวลา ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่หากรถมาไม่ตรงตามเวลาถือเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่เครื่องบินที่มาสายเป็นชั่วโมงก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาในบางประเทศ จะเห็นได้ว่าหากเป็นเรื่องของความถูกต้องที่มีบรรทัดฐานตั้งไว้อยู่แล้ว คนญี่ปุ่นมักเห็นว่าถ้าผิดไปจากนั้นเพียงเล็กน้อยถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

7. คนญี่ปุ่นไม่แสดงออกว่ารักชาติ

คนญี่ปุ่นนั้นมักไม่แสดงออกหรือพูดว่าตนเองรักชาติ แม้แต่ความเห็นต่อการชักธงชาติหรือเปิดเพลงชาตินั้นก็มีความเห็นที่แบ่งออกเป็นสองเสียงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือแม้กระทั่งพิธีการเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ยังมีเสียงแตกว่าควรมีการชักธงชาติหรือเปิดเพลงชาติหรือไม่ นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่าคนญี่ปุ่นที่อยากไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศนั้นมีจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนต่อ การทำงานที่ต่างประเทศ แน่นอนว่าสาเหตุที่อยากย้ายนั้นคงแล้วแต่บุคคล แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่กล่าวว่าอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแล้วมีความเครียด หรือกล่าวว่าค่าครองชีพในญี่ปุ่นสูง เงินเกษียณคงหมดในไม่ช้า เป็นต้น

8. คนญี่ปุ่นไร้ศาสนาจริงหรือ

ไหว้พระ

ศาสนาหลักๆ ในประเทศญี่ปุ่นคือชินโตและศาสนาพุทธ แต่คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่บอกว่าตนเองไม่นับถือศาสนาใดๆ แม้แต่หัวข้อในการสนทนาก็มักไม่หยิบยกเรื่องเทพเจ้ามาพูดกัน อาจเป็นเพราะว่าเมื่อพูดถึงเรื่องศาสนาหรือเทพเจ้า คนที่พูดมักถูกมองว่างมงาย หลายคนจึงมักพูดปัดบทไปว่าไม่นับถือศาสนาใดๆ แต่ถึงอย่างนั้นคนญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมไปไหว้ที่ศาลเจ้าเมื่อถึงเวลาสิ้นปี หรือการพาทารกหลังคลอดไปศาลเจ้าตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ดังนั้นถึงปากจะบอกว่าไร้ศาสนาหรือแก้ตัวว่าศาสนาชินโตถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมไปแล้ว แต่ทุกคนก็ยังเข้าวัดหรือไปศาลเจ้าในเวลาที่อยากได้ที่พึ่งทางจิตใจอยู่ดี

จะเห็นได้ว่าในสายตาของคนญี่ปุ่นเองก็มองตนเองไม่ต่างจากที่ชาวต่างชาติมองนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลักษณะนิสัยที่กล่าวไปข้างต้น ผู้อ่านจำเป็นต้องพึงระลึกไว้ว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนที่เป็นอย่างนั้น เพื่อนคนญี่ปุ่นของคุณอาจไม่ได้มีนิสัยโอนอ่อน กลับกันอาจเป็นคนตรงๆ พูดจาในสิ่งที่คิด เพราะแม้จะมีคำกล่าวว่าสังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ทุกคนย่อมมีความแตกต่าง และนี่ก็คือเสน่ห์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม

สรุปเนื้อหาจาก Pokke

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save