ในช่วงตั้งแต่ช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 5 กันยายน ของทุกปี เป็นสัปดาห์ป้องกันภัยพิบัติในญี่ปุ่น ซึ่งมักมีกิจกรรมและความรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติมาให้คนญี่ปุ่นได้เรียนรู้ และหนึ่งในความรู้ใหม่ล่าสุดจากกรมตำรวจ คือ การใช้ประโยชน์จากขวดพลาสติก PET (PET ย่อมาจาก Polyethylene Terephthalate คือขวดพลาสติกใสที่ใส่น้ำดื่ม) มารู้ความเป็นมาของสัปดาห์ป้องกันภัยพิบัตินี้ และการใช้ประโยชน์จากขวดพลาสติก PET เมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหวและน้ำท่วมหนักกันค่ะ
ความเป็นมาของสัปดาห์ป้องกันภัยพิบัติ
วันที่ 1 กันยายนของทุกปีเป็นวันป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ (Bosai no hi, 防災の日) รัฐบาลกำหนดวันนี้ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รำลึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นในภูมิภาคคันโตเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2466 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 100,000 คน โดยวันนี้เป็นวันที่ให้ทุกคนกลับมาทบทวนการเตรียมพร้อมรับมือและเอาตัวรอดจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรงเรียนทุกระดับชั้นในญี่ปุ่นจัดให้มีการซ้อมอพยพเมื่อเกิดภัยแผ่นดินไหวขึ้น และในช่วงตั้งแต่ช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 5 กันยายน ของทุกปีเป็นสัปดาห์ป้องกันภัยพิบัติที่บริษัทและหน่วยงานท้องที่หลายแห่งร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่างๆ โดยมีการจัดฝึกอบรมและแสดงวิธีการใช้ถังดับเพลิง วิธีใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (AED) และวิธีอพยพเมื่อเกิดแผ่นดินไหวอย่างถูกต้อง รวมถึงเป็นสัปดาห์ที่ให้คนญี่ปุ่นตรวจกระเป๋าฉุกเฉินเพื่อนำอาหารหรือเครื่องดื่มที่ใกล้หมดอายุออกมารับประทานแล้วนำอาหารหรือเครื่องดื่มที่ซื้อมาใหม่ใส่กลับไปในกระเป๋าฉุกเฉินเพื่อเตรียมไว้ในคราวที่เกิดแผ่นดินไหวจริง
วิธีการนำขวดพลาสติก PET มาใช้ประโยชน์ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ
เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น น้ำและอาหารเป็นของจำเป็นที่ต้องประหยัด ได้มีคำแนะนำการใช้ประโยชน์ของขวดพลาสติก PET จากกองมาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการตำรวจนครบาล ดังนี้
ใช้ส่วนบนของขวดพลาสติก PET เพื่อปิดผนึกถุงพลาสติก
ถุงพลาสติกหนึ่งใบและส่วนบนของขวด PET จะมีค่ามากในยามที่เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงหรือน้ำท่วมหนัก ส่วนบนขวด PET สามารถใช้ปิดปากถุงพลาสติกที่เก็บอาหาร ขนม และน้ำได้ อีกทั้งยังใช้ทำถุงเย็นและถุงขยะได้ด้วย วิธีการทำได้โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดเอาส่วนบนของขวดพลาสติก PET ออกมา เปิดฝาขวดออก แล้วสอดปากถุงพลาสติกใส่อาหารหรือขนมที่รับประทานไม่หมดผ่านปากขวด พับถุงและใช้ฝาปิดปากขวดไว้ ซึ่งทำให้ได้ถุงสุญญากาศที่เก็บอาหารและขนมไว้รับประทานได้หลายวัน อย่างไรก็ดี มีข้อควรระวังในการตัดขวด PET คือ ขวด PET จะลื่น ตอนใช้มีดตัดควรระวังอย่าให้มีดบาดมือ และส่วนที่เกิดจากการตัดอาจคมและทำให้บาดมือได้ จึงควรใช้อย่างระมัดระวังหรือใช้เทปพลาสติกหุ้มรอยตัดของขวด PET ก่อนนำมาใช้
ใช้ขวดพลาสติก PET เพื่อเป็นฝักบัวอาบน้ำหรือเก็บน้ำสำหรับล้างมือ
ในยามเกิดภัยพิบัติที่จำเป็นต้องใช้น้ำกันอย่างประหยัดเพียงใช้ตะปูหรือของมีคมปลายแหลมเจาะรูตรงตำแหน่งใกล้ก้นขวดพลาสติก PET 1 รู แล้วใส่น้ำและปิดฝาขวดไว้ เมื่อจะใช้ประโยชน์จากน้ำ เช่น นำมาล้างมือหรือล้างจานก็ให้เปิดปากขวด น้ำจะไหลออกมาตามรู และเมื่อใช้เสร็จก็ปิดฝาขวดไว้ให้แน่น ซึ่งจะทำให้น้ำหยุดไหลและช่วยประหยัดน้ำได้ดี นอกจากนี้ หากใช้ของแหลมเจาะที่ฝาปิดขวด PET ประมาณ 2-3 รู แล้วนำฝานั้นมาปิดขวดน้ำก็สามารถใช้อาบน้ำแทนฝักบัวที่ประหยัดน้ำได้
นอกจากประโยชน์ข้างต้นแล้วก็ยังใช้ขวด PET เติมน้ำร้อนเพื่อใช้ให้ความอุ่นแทนถุงร้อนได้เช่นกัน แม้ไม่เกิดภัยพิบัติก็สามารถใช้ประโยชน์จากขวด PET ดังกล่าวในชีวิตประจำวันได้ค่ะ หากสนใจลองนำไปใช้ดูค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก news.yahoo