ญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ร่วง ช่วงกลางวันจะสั้นกว่ากลางคืน อากาศเริ่มเย็นลง เสียงจิ้งหรีดสร้างชีวิตชีวาท่ามกลางความสงบในยามเช้าตรู่และยามค่ำคืน ในยามนี้หากเดินผ่านสวนสาธารณะเล็กใหญ่ก็มักจะได้กลิ่นหอมแรงคล้ายสบู่ จนอดใจไม่ได้ต้องเดินตามหาว่าต้นตอของความหอมนั้นมาจากที่ใด มารู้จักดอกไม้หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งฤดูใบไม้ร่วงและวิธีการนำมารับประทานกันนะคะ
หอมหมื่นลี้ (คินโมะคุเซอิ)
หอมหมื่นลี้ หรือ คินโมะคุเซอิ (kinmokusei; 金木犀) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Osmanthus fragrans เป็นต้นไม้ที่มีดอกสีเหลืองหรือขาวขนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ ลักษณะเด่นของดอกคินโมะคุเซอิ คือ ดอกมี 4 กลีบ ปลายกลีบงุ้มเข้าหากัน มีกลิ่มหอมแรงคล้ายสบู่ซึ่งส่งกลิ่นหอมตลอดทั้งวันทั้งคืนและหอมไกลในระยะรัศมีหลายกิโลเมตร
ดอกไม้ชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นจากเมืองจีนในตอนต้นของสมัยเอโดะ ในสมัยนั้นต้นไม้ชนิดนี้ถูกปลูกไว้ใกล้ห้องส้วมเพื่อให้ความหอมของดอกหอมหมื่นลี้ดับกลิ่นของห้องส้วม ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ตามสวนที่บ้าน สวนสาธารณะ ตลอดจนพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด (ดอกไม้ชนิดนี้จะบานสวยงามเมื่อถูกปลูกในบริเวณที่มีอากาศและสิ่งแวดล้อมที่สะอาดเท่านั้น) ดอกจะบานในช่วงตั้งแต่เดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม เมื่อได้กลิ่นหอมแรงเป็นเอกลักษณ์จากดอกคินโมะคุเซอิทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่คิดว่าฤดูใบไม้ร่วงได้เข้ามาเยือนแล้ว
การนำดอกคินโมะคุเซอิหรือหอมหมื่นลี้มาใช้ประโยชน์
ด้วยความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ คนญี่ปุ่นนิยมนำดอกคินโมะคุเซอิสดมาลอยในน้ำเพื่อให้ความหอมแก่บ้านเรือน อีกทั้งนำมาใช้ทำแยม น้ำเชื่อมและเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ กลิ่นหอมจากดอกคินโมะคุเซอิสร้างความสุขง่ายๆ ต้อนรับฤดูใบไม้ร่วงได้ดี ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างวิธีทำน้ำเชื่อมจากดอกคินโมะคุเซอิ ค่ะ
View this post on Instagram
แยมจากดอกคินโมะคุเซอิ
View this post on Instagram
น้ำเชื่อมจากดอกคินโมะคุเซอิ
วิธีทำน้ำเชื่อมจากดอกคินโมะคุเซอิ
วัตถุดิบ
- กลีบดอกหอมหมื่นลี้หรือคินโมะคุเซอิ 100 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 600 กรัม
- น้ำ 600 มิลลิลิตร
- ไวน์จีน (KUEI HUA CHEN CHIEW, 桂花陳酒) 200 มิลลิลิตร
วิธีทำ
1. เก็บดอกหอมหมื่นลี้ หลีกเลี่ยงอย่าให้มีก้านดอกและสิ่งสกปรกปนมา นำมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสลับกับไวน์จีน 2 ครั้ง และวางทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำประมาณ 30 นาที
2. ต้มส่วนผสมของน้ำและน้ำตาลในหม้อจนเดือดได้ที่ จากนั้นจึงเติมดอกหอมหมื่นลี้ที่วางไว้จนสะเด็ดน้ำลงไป ต้มต่อจนเดือดและจับเวลาประมาณ 5 นาทีแล้วจึงปิดไฟ ทั้งนี้ไม่ควรต้มเดือดนานเกินกว่า 5 นาทีเพราะจะทำให้กลิ่นหอมของดอกหอมหมื่นลี้หายไป
3. นำน้ำเชื่อมบรรจุขวดที่ผ่านการล้างและทำการฆ่าเชื้อโดยการต้มในขณะที่น้ำเชื่อมยังคงร้อน ปิดฝา วางไว้ให้เย็นและเก็บใส่ตู้เย็น โดยสามารถเก็บน้ำเชื่อมได้นานถึง 3 เดือน และหากเปิดขวดแล้วควรรับประทานน้ำเชื่อมให้หมดภายใน 1 อาทิตย์
4. วิธีนำน้ำเชื่อมดอกหอมหมื่นลี้มารับประทานทำได้ทั้งนำมาเป็นส่วนผสมทำเค้ก ใช้ราดหน้าแพนเค้ก เติมเป็นส่วนผสมของน้ำชาและรับประทานกับโยเกิร์ต เป็นต้น น้ำเชื่อมจะมีกลิ่นหอมและจะหอมมากขึ้นเมื่อเคี้ยวโดนกลีบดอก
View this post on Instagram
ได้รู้จักดอกคินโมะคุเซอิหรือหอมหมื่นลี้แล้ว ก็ทำให้อดทึ่งไม่ได้ว่าคนญี่ปุ่นและคนจีนมีวิธีการนำดอกไม้เล็กๆ กลิ่นหอมมาใช้สร้างบรรยากาศต้อนรับบรรยากาศของฤดูใบไม้ร่วงได้เก่งจริงๆ หากมาญี่ปุ่นในช่วงนี้อย่าลืมดื่มด่ำกับกลิ่นหอมของดอกคินโมะคุเซอินะคะ