สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่นยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง บรรดาห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และร้านอาหาร ต่างพากันออกกฎเหล็กให้ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ แต่ดูเหมือนว่าการออกกฎเหล็กเช่นว่านั้นได้ส่งผลกระทบต่อการใช้บริการของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้เหมือนอย่างคนปกติทั่วไปเพราะเหตุผลทางด้านสุขภาพ
ผู้ที่มีภาวะความรู้สึกมากเกิน (Hyperesthesia) กับการเป็นตัวตลกในสังคมยุคโควิด
M ซัง นักสังคมสงเคราะห์สุขภาพจิตของหน่วยงานแห่งหนึ่งในจังหวัดไอจิ ได้เปิดเผยว่า A ซัง คนไข้ที่อยู่ในความดูแลของเขามาตลอดระยะเวลา 7 ปี เป็นผู้ป่วยที่มีภาวะความรู้สึกมากเกิน (Hyperesthesia) ทำให้เขาไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป ทำได้เพียงแค่สวม Face shield เท่านั้น
แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้คนในสังคมล้วนแต่สวมหน้ากากอนามัยด้วยกันทั้งสิ้น ทำให้ A ซัง ที่สวม Face shield อยู่เพียงลำพังมักตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนรอบข้างอยู่เสมอ บางครั้งก็ถูกหัวเราะเยาะ หรือบางครั้งก็ถูกคนแปลกหน้าพูดด้วยท่าทีเยาะเย้ยว่า สวมหน้ากากอนามัยดีกว่ามั้ย ? ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ A ซัง ต้องใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความทุกข์ทรมานอย่างมาก
หมายเหตุ : ภาวะความรู้สึกมากเกิน (Hyperesthesia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีความรู้สึกที่ไวมากกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้น หรือตัวกระตุ้น เช่น การสัมผัส การได้ยิน ความเจ็บปวด เป็นต้น กรณีของ A ซัง ผู้เขียนเข้าใจว่าการสวมหน้ากากอนามัยอาจส่งผลให้ A ซัง รู้สึกเจ็บปวดบริเวณหูหรือผิวหน้า เนื่องจากมีประสาทสัมผัสของผิวหนังที่ไวต่อความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าคนปกติ
ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร้านเพราะไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้
วันหนึ่งในขณะที่ M ซัง กำลังจัดทำเอกสารสรุปการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันอยู่นั้น A ซัง ได้วิ่งเข้ามาหาพร้อมทั้งร้องไห้สะอึกสะอื้น เมื่อ M ซัง ได้ถามไถ่เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ได้ทราบว่า A ซัง ได้พยายามที่จะเข้าไปซื้อเสื้อผ้าในร้านค้าแห่งหนึ่ง แต่กลับถูกพนักงานปฏิเสธไม่ให้เข้าร้านเพราะ A ซัง ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย แม้ในขณะนั้นเธอจะสวม Face shield อยู่ และได้พยายามอธิบายต่อพนักงานว่าตัวเองมีภาวะความรู้สึกมากเกินจึงสวมหน้ากากอนามัยไม่ได้ แต่เนื่องจากกฎของร้านที่บังคับให้ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัย จึงทำให้พนักงานจำเป็นต้องปฏิเสธไม่ให้ A ซัง เข้าใช้บริการ
M ซัง เล่าต่อว่า จริงๆ แล้ว A ซัง ไม่ได้อยากเปิดเผยเรื่องอาการป่วยของตัวเองต่อหน้าคนที่ไม่รู้จัก แต่เพราะ A ซัง อยากจะเข้าไปซื้อเสื้อผ้าในร้านจริงๆ จึงจำใจต้องบอกกับพนักงานร้านไปตรงๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร้านอยู่ดี จึงทำให้ A ซัง รู้สึกเสียใจ และเป็นกังวลจนไม่สามารถคิดหาทางแก้ไขปัญหาได้
หลังจากที่ M ซัง ได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว เข้าจึงตัดสินใจโทรไปยังร้านค้าที่ปฏิเสธไม่ให้ A ซัง เข้าไปซื้อสินค้าในร้าน เพื่อพูดคุยและอธิบายให้ทางร้านได้รับทราบและเข้าใจถึงอาการป่วยของ A ซัง หลังจากนั้นประมาณ 30 นาที ก็ได้รับการติดต่อกลับมาว่า ทางร้านยินดีให้ A ซัง เข้าไปซื้อสินค้าภายในร้านได้
ไม่ได้เห็นแก่ตัวและไม่ได้ต้องการแหกกฎของสังคม
จากเรื่องราวดังกล่าว นับว่า A ซัง ยังโชคดีที่มีผู้คอยให้การช่วยเหลือและสนับสนุนอยู่ใกล้ตัวจึงทำให้สามารถช่วยกันคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้อาจกำลังเกิดขึ้นกับร้านค้าอื่นๆ โดยที่เราไม่รู้เช่นกัน
หากเราลองมองโลกให้กว้างขึ้นก็จะพบว่าการที่ใครสักคนไม่สวมหน้ากากอนามัย มันไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนเห็นแก่ตัวหรือจงใจจะทำผิดกฎของสังคมเสมอไป แต่อาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้น เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีกลุ่มองค์กรที่คอยช่วยจัดทำสติ๊กเกอร์หรือตราสัญลักษณ์เพื่อแสดงให้ผู้พบเห็นทราบว่าบุคคลผู้นี้เป็นผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย จึงไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ แม้ความจริงแล้วจะไม่มีใครอยากเปิดเผยให้คนแปลกหน้ารู้ถึงความบกพร่องของตนเองก็ตาม
มนุษย์โดยทั่วไปเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่มีต่อกันก็มักจะลดน้อยลงเสมอ แต่ทว่า ในเวลานี้เรากำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดอย่างรุ่นแรงของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งไม่เคยมีใครพบเจอมาก่อน เพื่อที่จะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เราจึงควรหันมาตระหนักและใส่ใจถึงความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
สรุปเนื้อหาจาก : maidonanews.jp
ผู้เขียน : Aongsama