แผลในปากหรือแผลร้อนในแม้เล็กนิดเดียวก็นำความเจ็บปวดทรมานมาให้เราไม่น้อย และบางครั้งอาจรุนแรงจนต้องไปพึ่งหมอ มารู้สาเหตุ การป้องกัน และวิธีรักษาแผลร้อนในตามคำแนะนำของคนญี่ปุ่นกันนะคะ
สาเหตุของการเกิดแผลในปาก
1. การรับประทานอาหารที่ไม่ครบถ้วนคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้ขาดวิตามินบี 2 ซึ่งเป็นตัวช่วยปกป้องเยื่อเมือกบุผิวในปาก
2. การกัดลิ้นหรือเนื้อเยื่อในปากโดยบังเอิญ หรือการแปรงฟันที่แรงเกินไป ทำให้เกิดแผลขึ้นมาและแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในปาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการอักเสบของแผลที่เนื้อเยื่อในช่องปาก
3. การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอเนื่องจากความเครียด ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ส่งผลให้เกิดแผลในปากได้ง่าย
4. ภูมิต้านทานโรคในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น ช่วงมีประจำเดือนที่ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
วิธีการป้องกันการเกิดแผลในปาก
1. การบ้วนปากและแปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหารเพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนแบคทีเรีย โดยเวลาแปรงฟันไม่ควรแปรงแรงเกินไปจนทำให้เกิดแผลในปาก
2. ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปากแห้ง ปากที่แห้งจะส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดการอักเสบของแผลในปากได้ง่าย อย่างไรก็ตามเมื่อมีแผลในปากควรหลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มร้อนและเย็น เพราะจะทำให้อาการอักเสบของแผลในปากเพิ่มขึ้น
3. นอนหลับให้เพียงพอและรับประทานอาหารให้ครบคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 2 วิตามินบี 6 และวิตามินซี โดยอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดังกล่าวมีดังนี้คือ
- วิตามินบี 2 มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเยื่อเมือกภายในปาก ป้องกันการเกิดการอักเสบของแผลในปาก และช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูพลังงานในร่างกาย อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 2 ได้แก่ ปลาไหล ปลาซาบะ ตับ นมและผลิตภัณฑ์นม ชีส ไข่ นัตโตะ และเห็ดต่าง ๆ เป็นต้น
- วิตามินบี 6 มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อเมือกในปาก และช่วยลดการอักเสบ อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 6 ได้แก่ ปลาทูน่า ปลาโอ เนื้อไก่ ตับ กะหล่ำปลี กล้วย และงา เป็นต้น
- วิตามินซี มีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาแผลในปากและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ได้แก่ ผักกาดกวางตุ้ง บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง ส้ม และมะนาว เป็นต้น
การรักษาอาการแผลในปาก
โดยทั่วไปวิธีการรักษาที่ง่ายสุดคือการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 บี 6 และวิตามินซี ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากรู้สึกเจ็มปวดทรมานจนทนไม่ไหวก็มียารักษาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งมีทั้งชนิดแผ่นแปะ ยาป้าย และสเปรย์ฉีดพ่น โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาแผลอักเสบในปากจะมีตัวยาชนิดใดชนิดหนึ่งหรือรวมกัน ได้แก่ โซเดียม อะซูลีน ซัลโฟเนต (Sodium azulene sulfonate) ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ Glycyrrhizic acid ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) ซึ่งช่วยลดการบวมแดงและอักเสบ อัลแลนโทอิน (Allantoin) ซึ่งช่วยซ่อมแซมเยื่อเมือกในปาก และเซทิลไพริดิเนียมคลอไรด์ (Cetylpyridinium chloride) ซึ่งเป็นสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก เป็นต้น


ชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย ทำให้คนจำนวนไม่น้อยนอนไม่หลับและเกิดมีแผลในช่องปากได้ ลองเอาวิธีการข้างต้นไปปฏิบัติดูนะคะ
สรุปเนื้อหาจาก jojinkai