ภาพลักษณ์ของตนเองนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนญี่ปุ่นให้ความสนใจ การแนะนำตัวเองในที่ทำงานใหม่เป็นสิ่งหนึ่งที่จะสร้างประทับใจแรกและกำหนดภาพลักษณ์ของตัวเราเองได้ หากเผลอพูดอะไรแปลก ๆ ออกไป อาจทำให้คนอื่นเข้าใจในตัวเราผิดได้ วันนี้เราจึงนำตัวอย่างการแนะนำตัวที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยอิงจากแบบสอบถามจากสาวโสดชาวญี่ปุ่นวัย 10 – 20 ปี จำนวน 429 คน ลองไปดูกันค่ะ
“หลาย ๆ คนที่พบเจอฉันบอกว่าฉันดื่มเก่งอยู่พอควร”
เริ่มที่เรื่องแรกเป็นเรื่องการดื่ม การแนะนำตัวเองไปแบบนั้นทำให้ถูกมองว่าเป็นนักดื่มซึ่งอาจจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่ดีสักเท่าไหร่ จะไปสำมะเลเทเมาจนเสียการงานหรือเปล่า อะไรที่เกี่ยวกับเรื่องแอลกอฮอล์ เรื่องไปดริ๊งค์ ไปปาร์ตี้ต่าง ๆ ก็ควรจะเก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัวก่อน ดูสถานการณ์แล้วค่อยคุยเรื่องนี้ทีหลังก็ได้ค่ะ
“ฉันเคยอาศัยอยู่ที่อเมริกา”
เมื่อแนะนำตนเองไปว่าเคยอาศัยอยู่ที่เมืองนอก ก็ไม่แปลกที่จะถูกคาดหวังว่าต้องได้ภาษาอย่างคล่องแคล่ว สำหรับบางคนก็ถือเป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวที่อยากจะให้รู้ว่าเราสามารถใช้ภาษาได้ แต่บางกรณีกลับกลายเป็นว่าอะไรที่เป็นภาษาต่างประเทศก็โยนมาให้เราทำทั้งหมดแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม ถ้าหากไม่บอกว่าเคยอาศัยอยู่ที่เมืองนอก ก็อาจจะบอกแค่ระดับความสามารถภาษาของเราก็พอค่ะ
“ปกติจะทำอาหารทานเอง”
อีกฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นคนที่อยากประหยัด ทำให้รู้สึกว่าไม่ค่อยอยากชวนไปกินเลี้ยงสังสรรค์ด้วยสักเท่าไหร่ ซึ่งเราก็คงเสียความรู้สึกหากคนอื่นไปเที่ยวกันแล้วไม่ชวนเรา ตอนแรกอาจจะบอกแค่ว่าชอบทำอาหารน่าจะเวิร์คกว่า ไม่แน่ก็อาจจะได้เพื่อนที่ชอบทำอาหารด้วยเหมือนกันก็ได้
“เวลาโหวตอะไรกันก็มักจะเป็นเสียงส่วนน้อยตลอด”
การพูดออกไปแบบนั้นจะถูกเข้าใจว่าเป็นคนขวางโลก และอาจจะโดนอคติไปก่อนแล้วว่าเป็นคนยุ่งยาก เป็นตัวของตัวเองมากเกินความจำเป็น เข้ากับคนส่วนมากไม่ได้ ทำให้ไม่ได้รับความนับถือจากคนอื่น ๆ ยิ่งอยู่ในที่ทำงานที่มีวัฒนธรรมองค์กรเหนียวแน่นล่ะก็ถือว่าอยู่ยากพอควร สำหรับการแนะนำตัวในครั้งแรก อย่าเพิ่งแสดงอะไรที่รุนแรงเกินไปจะดีกว่า
“ฉันกำลังตามศิลปินอยู่วงหนึ่ง”
การเปิดเผยทันทีว่าเรากำลังตามศิลปิน ความชื่นชอบก็จะแสดงออกมาทางสีหน้าแววตาอย่างชัดเจน คนที่ไม่เก็ทในงานอดิเรกแบบนี้อาจจะมองว่าไร้สาระ ถ้าบอกเพียงแค่ว่าชอบดูการแสดงสด ชอบดูไลฟ์ แบบนี้น่าจะทำให้ภาพลักษณ์ดูอ่อนลงด้วย
“พาสุนัขไปเดินเล่นเป็นประจำทุกวัน”
อย่าเพิ่งงงนะคะว่าการพาสุนัขไปเดินเล่นทุกวันมันเกี่ยวข้องอย่างไร การที่เราอธิบายรายละเอียดในชีวิตของเรามากเกินไป ไม่ใช่แค่เรื่องการพาสุนัขไปเดินเล่น แต่อาจจะรวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย อาจจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเกรงใจจนไม่กล้าชวนไปไหน อย่างกินเลี้ยงหลังเลิกงาน เพราะเห็นว่าเรามีสิ่งที่ต้องกลับไปทำ แทนที่จะเล่าว่าต้องพาสุนัขไปเดินเล่น บอกว่าเราเลี้ยงสุนัขหรือบอกแค่ชื่อสุนัขก็พอ
“คุยได้หมดทุกเรื่อง”
การที่เราพูดออกไปว่าคุยได้ทุกเรื่อง ตัวเราเองอาจจะต้องการให้อีกฝ่ายมองว่าเราเป็นคนสบาย ๆ ไม่ซีเรียส แต่กลายเป็นว่าความจริงแล้วก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราอยากคุยด้วยใช่มั้ยล่ะคะ จะปฏิเสธก็ลำบากใจ อีกทั้งยังมีกรณีที่ถ้าหากไปเจอคนไม่ดี มีหวังอาจจะโดนลากเข้าเรื่องลามกหรือเรื่องใต้สะดือ คงจะแย่แน่สำหรับสาว ๆ
บางเรื่องนี่ก็นึกไม่ถึงเลยนะคะว่าจะมีผลต่อภาพลักษณ์ขนาดนี้ การแนะนำตัวเองจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ตามมาในที่ทำงาน การใช้คำพูดจึงสำคัญมาก ต้องคิดให้ถี่ถ้วนเพื่อสร้างความประทับใจแรกโดยไม่ถูกเข้าใจผิดนะคะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก news.livedoor