การตั้งชื่อเล่นของคนไทยเราปกติแล้วพ่อแม่จะเป็นคนตั้งให้ตั้งแต่เกิด หรือบางคนพอโตมาแล้วก็เปลี่ยนด้วยตนเองก็มี ซึ่งมักจะไม่เกี่ยวข้องกับชื่อจริง แต่ชื่อเล่นของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้วเพื่อน ๆ จะตั้งให้เพื่อเพิ่มความสนิทสนม ความน่ารักกุ๊กกิ๊ก หรือเรียกย่อ ๆ จากชื่อจริงให้สั้นลง การตั้งชื่อเล่นกันเองให้เพื่อน ๆ ดูเผิน ๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่น่ารักดีนะคะ แต่การตั้งชื่อเล่นในเชิงล้อเลียนก็กลายเป็นส่วนนึงของการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนได้เช่นกัน
จากการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการป้องกันการลั่นแกล้งในโรงเรียนในปี 2013 ปัจจุบัน โรงเรียนจึงต้องใช้มาตรการต่อต้านการกลั่นแกล้งมากกว่าที่เคยเป็นมา อย่างกฎห้ามตั้งชื่อเล่นในโรงเรียนก็เป็นที่แพร่หลาย โดยการห้ามไม่ให้ตั้งชื่อเล่นกันเองและห้ามเรียกชื่อเปล่า ๆ แต่ให้เรียกชื่ออีกฝ่ายโดยมี “ซัง” ต่อท้าย
จากกฎการห้ามตั้งชื่อเล่นนี้ Japan Trend Research จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่จำนวน 1,400 คน เป็นชายและหญิงอย่างละ 700 คน ระยะเวลาการสำรวจคือตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 9 พฤศจิกายน 2020 ในส่วนแรกจะสอบถามเกี่ยวกับชื่อเล่นของผู้ตอบแบบสอบถามเองเมื่อตอนอยู่ชั้นประถม มี 69.0% ตอบว่าเคยมีชื่อเล่นเมื่ออยู่ชั้นประถม ซึ่งในจำนวนนี้ มี 36.7% ที่รู้สึกไม่ดีกับชื่อเล่นตอนอยู่ประถม
ต่อมา เมื่อถูกถามว่าตอนนี้มีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับการตั้งชื่อเล่นตอนอยู่ชั้นประถม มี 78.6% ตอบว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยให้เหตุผลว่า
- รู้สึกสนิทกับเพื่อน ๆ มากขึ้น ระยะห่างลดลง (ชาย 30 ปี)
- ชื่อเล่นคือหนึ่งในการสื่อสารระหว่างกัน (หญิง 50 ปี)
- พอมองย้อนกลับไปแล้วก็ถือเป็นความทางจำดี ๆ ในวัยเด็ก (ชาย 40 ปี)
- ดีใจที่เพื่อน ๆ เรียกเราได้อย่างสนิทสนม เป็นกันเอง (หญิง 60 ปี)
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ตอบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ได้ให้เหตุผลว่า
- เป็นชื่อเล่นที่เราเองไม่โอเคเท่าไหร่ (ชาย 70 ปี)
- เป็นชื่อเล่นที่ออกแนวดูถูกลักษณะทางร่างกายของเรา (หญิง 50 ปี)
- เกรงว่าจะเกิดการกลั่นแกล้งขึ้นได้จากชื่อเล่น (ชาย 50 ปี)
- ไม่มีใครรู้ว่าชื่อเล่นนั้นมันดีจริงมั้ยนอกจากตัวคนโดนเรียกเอง (หญิง 30 ปี)
ในส่วนต่อมาเป็นการสอบถามถึงการตั้งชื่อเล่นในวัยที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว มี 30.7% ที่ถูกตั้งชื่อเล่นแม้จะเข้าสู่วัยทำงานแล้ว และในจำนวนนั้น มี 9.8% ตอบว่ามีความรู้สึกไม่พอใจ มีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าตอนประถมมากเลยนะคะ
ในส่วนสุดท้าย เมื่อถามถึงกฎห้ามตั้งชื่อเล่นในโรงเรียน มี 18.5% ที่เห็นด้วย มี 27.4% ที่ไม่เห็นด้วย และมี 54.1% ที่ไม่มีความเห็น
ผู้ที่เห็นด้วยได้ให้เหตุผลในลักษณะที่ว่า การตั้งชื่อเล่นให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนนั้น หากเป็นชื่อที่ดี คนถูกเรียกก็จะรู้สึกดี แต่หากเป็นชื่อเล่นในเชิงล้อเลียน ดูถูก เหยียดหยาม ก็จะสร้างความรู้สึกไม่พอใจแก่ผู้ถูกเรียก อีกทั้งยังนำไปสู่ปัญหาการกลั่นแกล้งได้ การเรียกชื่อธรรมดาหรือชื่อจริงไปเลยจึงน่าจะช่วยตัดปัญหาได้
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้ให้เหตุผลในลักษณะที่ว่า การไม่ได้ใช้ชื่อเล่น จะทำให้รู้สึกไม่สนิทสนมกับเพื่อน มีระยะห่างหรือกำแพงขึ้นมาได้ จริงอยู่ที่การกลั่นแกล้งมันเป็นเรื่องไม่ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าชื่อเล่นจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีไปด้วย
การตั้งชื่อเล่นกันเองในโรงเรียนก็มีทั้งชื่อที่ดี ชื่อน่ารัก ๆ และมีทั้งชื่อที่แฝงความหมายไม่ดี อย่างการล้อเลียนรูปร่างหน้าตา ดูถูกเหยียดหยามต่าง ๆ นอกจากการกระทำแล้ว ผู้เขียนเองมองว่าการตั้งชื่อเล่นในความหมายที่ดูถูกเหยียดหยามก็น่าจะเป็นการกลั่นแกล้งกันทางหนึ่งเหมือนกันนะคะ เพราะจะทำคนถูกเรียกรู้สึกไม่ดีภายในจิตใจ โดนมาก ๆ เข้าก็อาจเกิดความเก็บกดและเป็นปัญหาในอนาคตได้ คนที่เคยมีปมในอดีตเกี่ยวกับชื่อเล่นก็คงจะเห็นด้วยกับกฎนี้ แต่คนที่ไม่เคยเจอเรื่องร้ายแรงก็คงไม่เห็นด้วย สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องการและน่าจะตรงจุดที่สุดก็คือการห้ามตั้งชื่อเล่นในเชิงล้อเลียนเสียมากกว่า เหมือนกับที่ช่วงนี้คนไทยเราเองก็รณรงค์การหยุดใช้คำพูดบูลลี่ผู้อื่น หากทุกคนนึกถึงใจเขาใจเรา และปลูกฝังให้เด็ก ๆ คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ไม่ว่าจะสังคมไหน ก็จะน่าอยู่มากขึ้นแน่นอนค่ะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก oricon