เล่นอย่างไรให้เด็กพัฒนาทั้งกายและใจ คำแนะนำจากนักจิตวิทยาญี่ปุ่น

ในช่วงหน้าร้อนที่โรงเรียนญี่ปุ่นปิดเทอมเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้ชีวิตประจำวันกับการทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน เล่นกับเพื่อนและสมาชิกในครอบครัว รวมถึงการไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว มารู้วิธีส่งเสริมการเล่นในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ เจริญเติบโตทั้งทางกายและจิตใจจากนักจิตวิทยาคลินิกชาวญี่ปุ่นกันค่ะ

ความสำคัญของการเล่น

เด็กเล่น

การเล่นเป็นวิธีการสร้างความสดชื่นที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก การเล่นนอกจากจะสำคัญต่อสุขภาพกายและจิตใจของเด็กแล้ว ก็ยังเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ ผ่อนคลายความเครียด พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตเป็นคนที่มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง

5 พื้นฐานทางอารมณ์ที่เด็กต้องการซึ่งตอบสนองได้โดยการเล่น

วิธีการที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางกายและจิตใจของเด็กคือ ควรใช้การเล่นที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางอารมณ์ 5 ประการ เพื่อทำให้เด็กมีวุฒิภาวะ เห็นคุณค่าในตนเอง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น  ซึ่งมีดังนี้

1. ความรู้สึกว่าเป็นที่รัก

การมองดูการเล่นของลูกอย่างอบอุ่น แบ่งปันความรู้สึกผ่านการเล่น และเห็นอกเห็นใจในความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเล่น จะทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าพวกเขาเป็นที่รักของพ่อแม่ โดยที่จะเป็นการเล่นใดๆ ก็ได้ที่ลูกชอบ เช่น เกมการ์ด  เกมกระดาน การเล่นในสวนสาธารณะ หรือแม้แต่วิดีโอเกมส์

2. การเชื่อมต่อความมั่นใจในตนเอง

การเล่นที่เริ่มจากกติการการเล่นที่ง่ายพัฒนาเป็นเกมการเล่นที่ยากขึ้น การสอนและแสดงตัวอย่างให้เห็น การชมเชยและแสดงความยินดีเมื่อเขาเล่นได้หรือชนะ เป็นต้น จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กๆ และทำให้พวกเขามีความต้องการที่จะทำให้ดี อยากเป็นคนเก่งและมีความสามารถ

3. ได้แสดงความรู้สึกอย่างเป็นธรรมชาติ

การเล่นเป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้เด็กๆ (แม้แต่เด็กๆ ที่แสดงความรู้สึกไม่เก่ง) ได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตนออกมาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสามารถเลือกเกมที่ทำให้รู้สึกมีความสุข แพ้ ท้อแท้หรือเสียใจ เช่น เกมตึกถล่มหรือเกมจังก้า เป็นต้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความรู้สึกประหลาดใจ ได้กรี๊ดดีใจ และได้รู้สึกเสียใจ  โดยที่พ่อแม่ต้องยอมรับในความรู้สึกของพวกเขาและปล่อยให้พวกเขาได้แสดงความรู้สึกได้อย่างเต็มที่

4. การเล่นอย่างอิสระ

การให้ลูกเลือกเล่นในสิ่งที่พวกเขาชอบจะเสริมสร้างความเป็นอิสระอย่างแท้จริง แม้ว่าตัวพ่อแม่เองอาจไม่สนใจในสิ่งที่ลูกชอบ แต่ก็ไม่ควรห้ามในสิ่งที่ลูกอยากเล่น

5. การเคารพกฎเกณฑ์

สิ่งสำคัญที่สุดของการเล่นคือ การพัฒนาพลังแห่งการควบคุมตนเองผ่านการเล่น และความจำเป็นที่จะต้องทำตามกฎ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การรู้จักรอคอยที่จะเปลี่ยนตากันเล่น การปฏิบัติตามกฎของเกม และหากเล่นเป็นกลุ่มก็สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกลุ่มได้ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เด็กเติบโตและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมได้

ได้เห็นความสำคัญของการเล่นแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่มีเวลาก็ลองหาอะไรง่ายๆ เล่นกับลูกๆ ดูค่ะ แม้แต่วิดีโอเกมส์ หากเล่นกันหลายคน ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หัวเราะด้วยกันอย่างสนุกสนาน และปล่อยความรู้สึกออกมาให้เต็มที่ ก็เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำให้สมาชิกตัวน้อยในครอบครัวเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความสุขและมีคุณภาพค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก yogajournal

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save