ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น วันที่ฝนตก คนญี่ปุ่นจำนวนมากมักจะรู้สึกไม่สบายตัวจากอาการปวดหัวหรือมึนหัว ซึ่งเป็นผลมาจากความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงในวันฝนตก มารู้สาเหตุการเกิดอากาศปวดหัวหรือมึนหัวจากความกดอากาศ วิธีการป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อเกิดภาวะเหล่านี้ตามคำแนะนำของคุณหมอชาวญี่ปุ่นกันนะคะ
สาเหตุของการปวดหัวและมึนหัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศ
ในวันที่มีฝนตกหรืออากาศไม่ดี การเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศส่งผลให้เนื้อเยื่อหูที่อยู่บริเวณส่วนหลังของหูซึ่งทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์รับความดันเกิดการตอบสนองมากเกินไปจนทำให้เกิดการทำงานที่ไม่สมดุลของของระบบประสาทอัตโนมัติ และส่งผลให้มีอาการผิดปกติต่างๆ ได้แก่ ปวดหัว มึนหัว คลื่นไส้ ไหล่แข็ง ปวดคอ ปวดหลัง เซื่องซึม หูอื้อ ปวดหู และรู้สึกซึมเศร้า เป็นต้น
วิธีการป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการปวดหัวหรือมึนหัวในวันที่อากาศไม่ดี
1. เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่บริเวณหู
สาเหตุหนึ่งของการเกิดอาการปวดหัวหรือมึนหัวในวันที่อากาศเปลี่ยนแปลง คือ การไหลเวียนเลือดที่บริเวณหูไม่ดี ซึ่งส่งผลให้เกิดการบวมและระคายเคืองของเนื้อเยื่อภายในหู และทำให้รู้สึกปวดหัวหรือมึนหัวได้ง่าย วิธีการทำให้การไหลเวียนเลือดที่หูดีสามารถทำได้โดยนำผ้าขนหนูขนาดเล็กชุบน้ำอุ่นหรือใช้ขวดพลาสติกใส่น้ำอุ่นๆ ไปวางแนบตรงบริเวณกระดูกหลังหู ในช่วงฤดูหนาวก็ปิดป้องกันหูด้วยที่ครอบหูหรือหมวก นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่จะทำให้การไหลเวียนเลือดที่บริเวณหูดีก็คือการนวด โดยมีวิธีการดังนี้ คือ
1. ใช้มือจับหูดึงขึ้น (ค้างไว้ 5 วินาที) ดึงลง (ค้างไว้ 5 วินาที) และดึงไปด้านข้าง (ค้างไว้ 5 วินาที)
2. ใช้มือจับหูไว้และหมุนไปด้านหลัง 5 ครั้ง
3. ใช้ฝ่ามือทั้งสองปิดหูและค่อยๆ หมุนหูไปทางด้านหลังในลักษณะวงกลม 5 ครั้ง
วิธีการนวดดังกล่าวจะทำให้การไหลเวียนเลือดไปที่หูดีขึ้น โดยทำตอนเช้า เที่ยงและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ ก็จะทำให้อาการปวดหัวหรือมึนหัวจากการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศดีขึ้น
2. การดูแลความสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ
ระบบประสาทอัตโนมัติประกอบไปด้วยระบบประสาทซิมพาเทติกซึ่งจะทำให้ร่างกายตื่นตัวในตอนกลางวันและระบบประสาทพาราซิมพาเทติกซึ่งจะทำให้ร่างกายผ่อนคลายนอนหลับได้ดีในตอนกลางคืน การดูแลระบบประสาทอัตโนมัติทั้งสองชนิดให้ทำงานอย่างสมดุลเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการปวดหัวหรือมึนหัวจากความกดอากาศเปลี่ยนได้ โดยมีวิธีการดูแลดังนี้คือ
- ตื่นนอนในตอนเช้าและรับแสงอาทิตย์
- รับประทานอาหารเช้าทุกวัน
- ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะเป็นประจำ
- อาบน้ำอุ่น
- เข้านอนเร็วและตื่นเช้าให้ตรงเวลาทุกวัน
- ไม่เครียดมากจนเกินไป
- ดื่มชาสมุนไพรและบำบัดด้วยอโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือสุคนธบำบัด
3. พบแพทย์
หากรู้สึกว่าการดูแลด้วยตนเองดีแล้วแต่อาการปวดหัวหรือมึนหัวจากอากาศเปลี่ยนยังไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หรือใช้ยาสมุนไพรที่ช่วยให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานดีขึ้น
การป่วยเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้รู้และเห็นความสำคัญของร่างกาย เพื่อได้หันกลับมาดูแลสุขภาพกายและใจของเราให้ดีขึ้น เราอาจจะไม่คาดคิดว่าอาการปวดหัว มึนหัว ปวดเมื่อยตัว และอาการซึมเศร้าในวันที่ฝนตกอากาศไม่ดีนั้นมีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อในหูที่ส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ หากมีอาการปวดหัว มึนหัว หรืออาการดังที่กล่าวไว้จากการเปลี่ยนแปลงอากาศก็ลองปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นดูค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: brand.taisho, zutool