เปิดเรื่องมาว่า “วะเซเอโกะ” คาดว่าคุณผู้อ่านที่ไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาก่อนอาจจะงง เลยขออธิบายรากศัพท์คำนี้หน่อยนะคะ คำว่า 和製 (วะเซ) มีความหมายคล้ายๆ คำว่า Made in Japan รวมกับคำว่า 英語 (เอโกะ) ที่แปลว่า ภาษาอังกฤษ รวมๆ ออกมาแล้วก็คือ ภาษาอังกฤษที่ Made in Japan นั่นเองค่ะ
ผู้เขียนขอออกตัวก่อนนะคะว่าไม่ได้มีเจตนาบูลลี่หรือล้อเลียนภาษา บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางภาษาเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาอื่นค่ะ
แม้ว่า “วะเซเอโกะ” จะดัดแปลงมาจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศก็ตาม แต่กลับกลายเป็นว่า เป็นภาษาอังกฤษที่มีเพียงคนญี่ปุ่นเท่านั้นเข้าใจ ในขณะที่ชาวต่างชาติที่ไม่ได้มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นมักจะงงเป็นไก่ตาแตก เพราะว่าความหมายและบริบทที่ใช้ต่างกับภาษาอังกฤษต้นฉบับโดยสิ้นเชิง ซึ่งภาษาอังกฤษที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเองนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ในภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ภาษาไทยเองก็มีค่ะ เช่น คำว่า Freshy (เฟรชชี่) ที่คนไทยเข้าใจว่าคือนักศึกษาปี 1 แต่ฝรั่งเจ้าของภาษา จะใช้คำว่า Freshman (เฟรชแมน) หรืออย่างคำว่า แฟน ที่ภาษาอังกฤษ แปลว่า พัดลม แต่คนไทยใช้เรียกแฟนในความหมายที่เป็น Boyfriend/Girlfriend หรืออย่างคำว่าเวฟ ที่คนไทยหมายถึงการอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ แต่ภาษาอังกฤษจะใช้ว่า re-heat แทนค่ะ
วิธีสังเกต “วะเซเอโกะ” ก็เหมือนการสังเกตภาษาต่างประเทศทั่วไปในภาษาญี่ปุ่น นั่นก็คือ การเขียนแทนด้วยตัวอักษรคาตาคานะ ซึ่งก็เหมือนการเขียนทับศัพท์ในภาษาไทยนั่นเองค่ะ
เหตุใด “วะเซเอโกะ” จึงถูกสร้างขึ้นมา และสร้างเพื่ออะไร?
เหตุผลแรก คนญี่ปุ่นนั้นเป็นชาติที่เก่งในการดัดแปลงวัฒนธรรมค่ะ ไม่ค่อยจะรับวัฒนธรรมต่างชาติมาใช้โดดๆ แต่มักจะเอามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสังคมของตัวเอง ดังนั้นจึงมีการปรับรูปแบบของภาษาต่างประเทศให้กลายเป็นภาษาที่คนญี่ปุ่นเข้าใจง่าย
เหตุผลที่สองก็คือ เกิดจากความเข้าใจผิด ยกตัวอย่างเช่นคำว่า Y-Shirt (เสื้อเชิ้ตแบบผ่าหน้า คล้ายๆ รูปตัว Y) ซึ่ง “วะเซเอโกะ” นั้นเกิดขึ้นจากการฟังที่ผิดเพี้ยน จาก Y-Shirt เป็น White Shirt ในกรณีนี้ หากเป็นคนญี่ปุ่นก็จะเข้าใจว่า เป็น Y-Shirt ที่เป็นสีอะไรก็ได้ แต่ชาวต่างชาติจะเข้าใจว่า White Shirt คือเสื้อเชิ้ตสีขาวเท่านั้น
ถึงแม้ว่า “วะเซเอโกะ” จะเป็นภาษาอังกฤษที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะความหมายจะผิดเพี้ยนไปซะหมด บางคำก็เป็นสากลที่ชาวต่างชาติสามารถเข้าใจได้เช่นกันค่ะ ซึ่งภาษาต่างประเทศที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้แบบญี่ปุ่นนี้ รากศัพท์ไม่ได้มีเพียงแต่จากภาษาอังกฤษเท่านั้น ยังมีคำจากภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสอีกด้วย คล้ายๆ กับที่ภาษาไทย รับอิทธิพลมาจาภาษาเขมร ภาษาจีน และภาษาสันสกฤตนั่นเอง วันนี้ผู้เขียนเลยลองคัด “วะเซเอโกะ” ที่คนต่างชาติแบบเรามักเจอมาให้คุณผู้อ่านได้ลองอ่านกันดูค่ะ
サラリーマン (ซาลารี่มัง)/OL
คำแรกที่โผล่ขึ้นมาในหัวก็คือคำนี้ เลย サラリーマン/OL (Salaryman/OL) เป็นคำที่คุ้นหูของคนไทยหรือคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจญี่ปุ่นไปเสียแล้วสำหรับคำว่า ซาลารี่มัง และ OL ซึ่งจริงๆ แล้ว ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Office Worker ต่างหากหล่ะ
ในภาษาญี่ปุ่น サラリーマン นั้นมาจากคำว่า 給料 (Salary) + 男 (Man) หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า มนุษย์เงินเดือนนั่นเอง และมักใช้เรียกพนักงานเพศชาย แต่ในความเข้าใจของคนต่างชาตินั้น Salaryman คือคนที่ทำงาน/รับผิดชอบเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงานนั่นเอง ไม่ใช่พนักงานรับเงินเดือนแบบที่คนญี่ปุ่นเข้าใจกัน
ส่วนคำว่า OL นั้น ย่อมาจาก Officer Lady หรือพนักงานผู้หญิงนั่นเอง จากตรงนี้เองก็มีข้อสังเกตว่า ญี่ปุ่นนั้นมีการแบ่งแยกเพศในการทำงาน ในขณะที่ภาษาอังกฤษจะเรียกรวมๆ ว่า Office Worker
アルバイト (อะรุไบโตะ)
คำนี้นักเรียนที่มาเรียนต่อในประเทศญี่ปุ่นน่าจะรู้จักดี นั้นก็คือคำว่า アルバイト (อะรุไบโตะ) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมัน ส่วนภาษาอังกฤษที่ถูกต้องจริงๆ คือคำว่า Part-time Job นั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ คำที่ใช้เรียกพนักงานพาร์ทไทม์ในญี่ปุ่นนั้นยังมีคำเรียกแยกย่อยออกไปอีก นั่นก็คือคำว่า パート(พาร์ทโตะ) ซึ่งแม่บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ค่ะ ค่าแรงจะเท่ากับอะรุไบโตะ แต่ว่ามีข้อจำกัดเรื่องชั่วโมงการทำงานและรายรับซึ่งเกี่ยวข้องกับภาษีนั่นเอง
エアコン (แอร์คง)
คำนี้อ่านว่า “แอร์คง” ค่ะ เป็นการตัดคำมาจากคำว่า Air Conditoner นั่นเอง ซึ่ง แอร์คง เนี่ย ในความเข้าใจของคนญี่ปุ่นคือ สามารถปรับอุณหภูมิได้ทั้งร้อนและเย็นค่ะ ส่วนแอร์ที่สามารถทำความเย็นได้อย่างเดียว ไม่สามารถทำความอุ่นในหน้าหนาวได้ จะเรียกว่า 冷房 (เรโบ)
マンション (แมนชั่น)
คำนี้อ่านว่า “แมนชั่น”ค่ะ มองเผินๆ อาจจะไม่รู้ว่าแตกต่างกับภาษาอังกฤษอย่างไร แต่ความจริงแล้วมีจุดต่างเล็กๆ อยู่ค่ะ Mansion ความหมายจริงๆ แล้วคือเคหะสถานขนาดใหญ่ มีความหรูหรา โออ่า มีพื้นที่ใช้สอยและแบ่งห้องเป็นสัดส่วนมากกว่าอพาร์ตเม้นท์ค่ะ ซึ่งถ้าว่ากันตามความหมายนี้ ห้องเล็กๆ ที่คนญี่ปุ่นอยู่นั้น ภาษาอังกฤษจริงๆ แล้วเรียกว่า Apartment ค่ะ
ดังนั้น เวลาคนญี่ปุ่นบอกเพื่อนต่างชาติว่าอาศัยอยู่ในแมนชั่น ในมุมมองของชาวต่างชาติที่ได้ฟังนั้นคือ “เธอรวยมากเลยอะ ถึงได้อยู่ในแมนชั่นได้” ซึ่งความเป็นจริงแล้ว คนญี่ปุ่นตั้งใจที่จะหมายถึงอพาร์ตเม้นท์นั่นเอง
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่าแมนชั่นและอพาร์ตเม้นท์ไม่ได้มีเพียงแค่ญี่ปุ่นค่ะ ในวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทย บางแห่งก็ตั้งชื่ออพาร์ตเม้นท์เป็นแมนชั่น ในแง่ของความรู้สึกที่ว่า แมนชั่นมันคือสถานที่ที่ใหญ่โอ่อ่า หรูหรากว่า
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับ “วะเซเอโกะ” พอรู้ความหมายแล้วเข้าใจไม่ยากเลยใช่มั้ยคะ?