วิธีการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันกลายเป็นการถกประเด็นกันอย่างน่าสนใจ หลังจากที่คุณยามากุจิ โยชิอากิ ชาวญี่ปุ่นผู้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา (@girlmeetsNG) ได้ทวีตว่า “พอเห็นเพื่อนคนอเมริกาเลี้ยงลูก สังเกตได้ว่าเวลาตักเตือนลูกเขาไม่ใช้ don’t แต่จะใช้ we เลยคิดว่าอยากใช้แบบนี้ในภาษาญี่ปุ่นบ้าง” มีผู้ตอบกลับทวิตนี้อย่างมากมายในเชิงบวกว่าเป็นวัฒนธรรมการพูดที่ดีไม่น้อย เช่น “เปลี่ยนคำว่า ‘อย่าวิ่ง’ เป็นคำว่า ‘มาเดินด้วยกัน’ ช่างเป็นวัฒนธรรมที่วิเศษมาก”
友人のアメリカ人の子育てを見ていたら、子供に何か注意するときは常に「Don’t 」からではなく「We」から言葉が始まることに気付いて、これは自分も日本語でも真似したいと思った。
— 山口慶明🇺🇸で何とか生きてる (@girlmeetsNG) March 5, 2022
และทางเว็บไซต์ maido na news ก็ได้สัมภาษณ์คุณยามากุจิว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับวิธีพูดลักษณะนี้ เราไปดูกันค่ะ
1. เพื่อนคนอเมริกาพูดอะไรต่อหลังจากคำว่า we ?
“ตอนนั้นลูกเขาขว้างตัวต่อเลโก้ เพื่อนก็พูดว่า ‘Hey, we use toys in this way.’ พร้อมกับประกอบตัวต่อเลโก้ให้ลูกดู หรือเวลากินข้าวแล้วลูกวิ่งไปวิ่งมาอยู่ไม่นิ่ง เพื่อนก็จะเตือนประมาณว่า ‘We should better sit down while eating.’ ถ้าเป็นฉันเองก็คงจะใช้ you นั่นแหละนะ”
2. ทำไมถึงคิดว่าการใช้คำว่า ‘ทำด้วยกัน’ ดีกว่าคำว่า ‘ห้ามทำ’ ?
“ฉันได้ยินมาว่าสมองจะรับรู้และจดจำคำที่เป็นการบอกเล่าได้ง่ายกว่าคำในเชิงลบ อย่างถ้าเด็กถือแก้วน้ำมา หากพูดว่า ‘ถือดี ๆ นะ’ ก็จะดีกว่า ‘อย่าให้หกนะ’ หรือแม้แต่ในกีฬาเบสบอล ก็จะพูดว่า ‘เล็งให้ต่ำไว้นะ’ ดีกว่า ‘อย่ายกมือขึ้นสูงนะ’ การใช้คำพูดลักษณะนี้จะช่วยให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าด้วย”
3. มีวิธีการพูดแบบอื่น ๆ ที่ดีอีกไหม ?
“ฉันรู้สึกว่าคนอเมริกาจะพยายามสื่อสารโดยเลี่ยงคำพูดเชิงลบให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น
เมื่อทำอะไรผิดพลาด
ญี่ปุ่น : ‘น่าเสียดายเนอะ’
อเมริกา : ‘Good try!’เมื่อเจอปัญหาที่ดำเนินการได้ยาก
ญี่ปุ่น : ‘มันเข้มงวดนิดนึงนะ’
อเมริกา : ‘It’s challenging!’เมื่อต้องปฏิเสธวิธีการทำงานของผู้อื่น
ญี่ปุ่น : ‘วิธีนั้นมันไม่ได้’
อเมริกา : ‘It’s not the best’เมื่อมีปัญหาสักอย่างเกิดขึ้น
ญี่ปุ่น : ‘มีปัญหาแล้วสินะ’
อเมริกา : ‘It’s a good opportunity!’
เมื่อต้องการเตือนเด็ก ๆ การใช้คำว่า we แทน you หรือแทนรูปคำสั่ง ก็ถือเป็นการให้เกียรติในฐานะคนคนหนึ่งแม้ว่าจะเป็นเด็กก็ตาม และเป็นการแสดงออกถึงทัศนคติของตัวผู้ปกครองเองเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ด้วย ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะใช้วิธีการพูดแบบนี้ด้วยเหมือนกัน”
มีคอมเมนท์ตอบกลับทวีตของคุณยามากุจิกันอย่างมากมาย เช่น
“ส่วนใหญ่จะพูดสิ่งที่อยากให้ทำเดี๋ยวนั้นเลย คือไม่ใช้ We don’t do this แต่ใช้เป็น We do like this แทน ซึ่งวัฒนธรรมการพูดแบบนั้นมันก็ต้องฝึกมาแต่แรกแหละ”
“ตอนที่ดูซีรีส์อเมริกาเรื่อง Full House ก็เห็นว่าเวลาที่พวกเด็ก ๆ ทำผิด ก็จะตักเตือนกันด้วยประโยคบอกเล่า เป็นการเลี้ยงลูกแบบที่ไม่มีการปฏิเสธโดยไม่ฟังเหตุผล”
“การว่ากล่าวตักเตือนเริ่มต้นด้วยคำว่า we และ our ให้ความรู้สึกเหมือนยังมีคนอยู่เคียงข้างเสมอ”
“วิธีการดุแบบนั้น ผลก็คือกลายเป็นว่ามีคนจำนวนมากที่คิดว่าตัวเองไม่ผิด”
“ถ้าฉันใจเย็นก็จะบอกลูกสาวว่า ‘มาทำด้วยกัน’ แต่พอโกรธก็จะกลายเป็น ‘ห้าม…’ “
คนไทยเองก็คงจะคุ้นเคยกันดีกับการถูกพ่อแม่ดุหรือตักเตือนโดยมีคำว่า “อย่า” “ห้าม” “ไม่” นำหน้า เช่น อย่าวิ่ง อย่าซน ห้ามทำ ห้ามไป ไม่กิน ไม่เอา ฯลฯ ซึ่งก็ไม่แน่ใจนะคะว่าพ่อแม่ชาวเอเชียจะเป็นเหมือนกันหมดไหม แต่พอได้เห็นตัวอย่างที่คนอเมริกันใช้เตือนเด็ก ๆ แล้ว ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ยังรู้สึกดีกว่าการพูดเชิงลบเลยว่าไหมคะ การใช้คำว่า we หรือคำพูดในแง่ชักชวนให้มาทำด้วยกันทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ได้เข้าใจการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง หรือคำพูดในแง่เสนอทางเลือกอื่นที่ดีกว่าโดยไม่ได้พูดปฏิเสธก็ถือว่าให้เกียรติอีกฝ่ายไปในตัว
แต่วิธีการเตือนในสไตล์ญี่ปุ่นก็มีแบบที่น่าสนใจเหมือนกันนะคะ ที่ผู้เขียนเคยเห็นแล้วชอบมาก ๆ คือการนำด้วย “ขอบคุณ” เช่น “ขอบคุณที่…” จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอยากทำให้โดยทันที ซึ่งอันนี้จะใช้กับผู้ใหญ่มากกว่า แต่ก็ถือเป็นวิธีใช้คำพูดที่กระตุ้นได้ดีเลยนะคะ อย่างที่เขาว่า คำพูดก็เหมือนเวทมนตร์ ผู้ฟังจะมีปฏิกิริยาอย่างไรก็อยู่ที่วิธีการพูดของเรา แล้วทุกคนคิดว่าสไตล์การสั่งสอนตักเตือนของไทย ญี่ปุ่น ฝรั่ง เหมือนและต่างกันอย่างไร มาแชร์กันได้เลยยยย ^^
สรุปเนื้อหาจาก maidonanews