ขอออกตัวก่อนว่าผู้เขียนเนี่ยแต่งงานเป็นแม่บ้านและย้ายมาอยู่ที่ญี่ปุ่นได้ไม่นานเท่าไร แต่ก็พอจะมีเพื่อนแก็งค์แม่บ้านคนญี่ปุ่นที่คบหาสมาคมกันอยู่ ซึ่งกลุ่มแม่บ้านญี่ปุ่นนั้นทั้งที่เป็นแม่บ้านอยู่บ้านอย่างเดียว หรือทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วยก็ตาม เขามักจะหาเวลาออกมาสังสรรค์ทานข้าว พูดคุยกันเฉพาะแค่กลุ่มแม่บ้านแบบไม่พาสามีมาด้วย โดยการสังสรรค์เฉพาะผู้หญิงแบบนี้คนญี่ปุ่นจะเรียกกันว่า “โจะชิไค” (女子会) คราวนี้ผู้เขียนเลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟังประสบการณ์เกี่ยวกับหัวข้อการสนทนาที่ไม่ควรพูดเวลาไปร่วมโจะชิเคกับเหล่าแม่บ้านญี่ปุ่นนะคะ
1. ไม่เป็นคนอวดผัว ไม่อวยสามี
จริงอยู่ค่ะว่าการนัดออกมาพบปะ พูดคุย กินข้าวก็ถือเป็นเรื่องปกติที่คนคบหาสมาคมกันจะทำเพื่ออัพเดทชีวิตของแต่ละคน แต่สำหรับการนัดเจอกันของกลุ่มแม่บ้าน จุดประสงค์หลักๆก็คงหนีไม่พ้นการเมาท์สามี (อิอิ) ก็ไม่แปลกนะคะเพราะการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก็เหมือนลิ้นกับฟันที่จะต้องมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้าง และการได้เล่าปัญหาความอึดอัดใจให้ใครสักคนได้ฟังก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยทำให้ไม่รู้สึกเก็บกดและเครียดจนเกินไป ฉะนั้นเนื้อหาที่เหล่าแม่บ้านคุยกันส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่พอใจอะไรบางอย่างในตัวสามี ที่อยากระบายให้ใครได้ฟัง ดังนั้นการจะมาชื่นชมสามีของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่าเป็น “คนอวดผัว” จึงเป็นพฤติกรรมที่ควรเลี่ยงที่จะไม่ทำเวลาไปโจะชิไคกับแม่บ้านญี่ปุ่นนะคะ
2. ไม่ถามซอกแซกเรื่องเงินๆทองๆ
โดยพื้นฐานของคนญี่ปุ่นแล้วการถามเรื่องเงินๆทองๆของคนอื่นจะถูกมองว่าเป็นคนที่มารยาทไม่ดีสักเท่าไร อาจจะไม่เหมือนคนไทยที่พอรู้สึกว่าสนิทกันในระดับนึงแล้วก็จะสามารถถามหรือคุยเรื่องเงินๆทองๆของกันและกันได้ แถมคนญี่ปุ่นยังเป็นคนที่ถือเรื่องความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง และเรื่องเงินก็ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ท็อปปิคประเภทได้เงินเดือนเท่าไร? สามีให้เงินใช้หรือเปล่า? อะไรพวกนี้ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ควรหยิบยกขึ้นมาพูดนะคะ หากยังไม่มั่นใจจริงๆว่าเพื่อนแม่บ้านญี่ปุ่นที่เราคบอยู่เขาโอเคกับการเปิดอกคุยเรื่องเงินจริงๆ!!
3. ไม่นำเสนอคอนเซ็ปต์เรื่องความกตัญญู
อีกหนึ่งเรื่องที่พื้นฐานความเชื่อและวัฒนธรรมของคนไทยและคนญี่ปุ่นแตกต่างกันมากก็คือ “เรื่องความกตัญญู” ไม่ว่าจะเป็นมุมมองเรื่องความกตัญญูที่ลูกควรมีต่อพ่อแม่ หรือความกตัญญูต่อพ่อแม่ของตัวเอง คนญี่ปุ่นส่วนมากไม่ได้ต้องการมีลูกเพื่อให้ลูกกลับมาดูแลตัวเองในยามแก่เฒ่า และในฐานะของการเป็นลูกคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้กลับไปหาพ่อแม่ หรือส่งเสียดูแลพ่อแม่สักเท่าไร ไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครผิดหรือใครถูกนะคะ แต่แค่แนวคิดและวัฒนธรรมของไทยกับญี่ปุ่นไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง แม่บ้านไทยหลายคนอาจจะมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องความกตัญญูแบบไทยๆอยู่ในตัวซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆค่ะ แต่ถ้าอยากจะคบหากับแม่บ้านญี่ปุ่นให้ราบรื่น แนะนำควรเลี่ยงที่จะนำเสนอหรือโน้มน้าวให้เขาเชื่อเกี่ยวกับเรื่องความกตัญญูจนเกินไปนะคะ
ทั้งหมดที่เล่ามาก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่ผู้เขียนพูดจากประสบการณ์ที่ได้เจอนะคะ แน่นอนว่าคนญี่ปุ่นแต่ละคนย่อมมีนิสัย และความคิดที่ไม่เหมือนกัน อาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากที่ผู้เขียนเล่าก็ได้ การเรียนรู้ซึ่งกันและกันจึงจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาและความจริงใจ แต่ในเบื้องต้นถ้าเรายังไม่รู้จักหรือสนิทกับแม่บ้านชาวญี่ปุ่นดีพอ แนะนำเพื่อนๆให้เลี่ยงหัวข้อสนทนาทั้ง 3 ข้อด้านบนก่อนแล้วกันนะคะ…