เด็กมัธยมญี่ปุ่นเรียนอะไรกัน? “เกจุตสึ (芸術)” วิชาศิลปะที่ไม่จำกัดแค่การวาดรูป

ถ้าพูดถึงวิชาศิลปะแล้ว หลาย ๆ คนคงนึกถึงการวาดรูปเป็นหลักใช่ไหมล่ะค่ะ สมัยที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ที่ประเทศไทย ในวิชาศิลปะก็จะเรียนเรื่องการวาดรูป ลงสี แสงและเงา (ซึ่งผู้เขียนทำได้ไม่ดีสักเท่าไหร่) แต่เมื่อไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายที่ญี่ปุ่น กลับพบว่าวิชาศิลปะ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เกจุตสึ” (芸術) มีให้เลือกมากมายแล้วแต่ความชอบ ไม่ได้จำกัดแค่การวาดรูปเท่านั้น วันนี้เราได้รวบรวมเหล่าวิชาที่เด็กนักเรียนมัธยมญี่ปุ่นสามารถเลือกเรียนได้ในคาบวิชาศิลปะมาให้ดูกัน โดยส่วนหนึ่งก็เอามาจากโรงเรียนของผู้เขียนเอง และจากประสบการณ์ของเพื่อนผู้เขียนจากโรงเรียนหญิงล้วนชายล้วนของญี่ปุ่นค่ะ

วิชาวาดรูป

มาเริ่มกันที่วิชาพื้นฐานที่โรงเรียนไหน ๆ ก็มีให้เลือกอย่างวิชาวาดรูปกันค่ะ วิชาวาดรูปในโรงเรียนมัธยมญี่ปุ่นนอกจากจะได้เรียนรู้ทฤษฎีการวาด ลายเส้น สี แสงและเงาแล้ว ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของภาพวาดอีกด้วย อย่างเช่น เอกลักษณ์ของภาพวาดในยุคสมัยต่าง ๆ เบื้องลึกเบื้องหลังทางสังคมหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการวาดภาพ รวมถึงทำความรู้จักกับภาพวาดจากศิลปินผู้โด่งดัง และการตีความภาพเหล่านั้นด้วย เรียกได้ว่า นอกจากเราจะได้พัฒนาฝีมือการวาดภาพของเราแล้ว ยังได้ความรู้เชิงลึกที่ทำให้เราสนุกสนานและดื่มด่ำกับการชื่นชมภาพวาดของผู้อื่นด้วยค่ะ

วิชาร้องเพลง

อีกวิชาที่หลาย ๆ โรงเรียนมีให้เลือกก็คือวิชาร้องเพลง แต่ร้องเพลงนี่ไม่ใช่ร้องธรรมดานะคะ แต่เป็นการร้องประสานเสียง โดยในคาบแรก ๆ จะแบ่งเด็กนักเรียนที่เลือกวิชาร้องเพลงออกเป็นกลุ่มตามประเภทเสียงสูงต่ำของการร้องประสานเสียง จากนั้นก็ให้ฝึกร้องร่วมกันตามเพลงที่กำหนด แน่นอนว่าในทางทฤษฎี เช่น เทคนิคการวอร์มเสียง การปล่อยลม ก็สอนกันแบบไม่มีกั๊ก สำหรับผู้นำวง หรือ วาทยากร บางโรงเรียนก็จะเป็นคุณครูประจำวิชา บางโรงเรียนก็ให้เด็กนักเรียนรับหน้าที่นี้ไป ในกรณีโรงเรียนของผู้เขียนให้เด็กนักเรียนทำหน้าที่วาทยากรเองเลยค่ะ จำได้ว่าเพื่อนคนนี้เก่งสุด ๆ แยกเสียงออก รู้ว่าปัญหาของวงอยู่ตรงไหน และจัดการแก้ไขได้อย่างตรงจุดค่ะ เพื่อนจากโรงเรียนหญิงล้วนยังบอกอีกว่า ที่โรงเรียนเขาสอนวิธีการฟังและดื่มด่ำไปกับความไพเราะของโอเปร่าด้วยนะคะ

วิชาดนตรี

คู่กับการร้องเพลงก็คือดนตรีค่ะ วิชาดนตรีของแต่ละโรงเรียนจะมีเครื่องดนตรีให้เลือกเรียนแตกต่างกันไป เช่น กีต้าร์ เปียโน ฟลุ๊ต รีคอร์เดอร์ ตอนแรกก็จะสอนการเล่นพื้นฐานของเครื่องดนตรีนั้น ๆ ก่อน ส่วนการสอบก็จะให้เล่นตามเพลงที่กำหนด สำหรับบางโรงเรียนสอนถึงกระทั่งการแต่งเพลงด้วยนะคะ อย่างเพื่อนผู้เขียนที่มาจากโรงเรียนชายล้วนได้เล่าว่าตอนสอบจบปีการศึกษา เขาต้องแต่งเพลงของเขาเองด้วยกีตาร์และไปเล่นให้คุณครูฟังค่ะ

วิชาเขียนพู่กันจีน

การเขียนพู่กันจีน หรือ โชะโด (書道) ถือว่าเป็นศิลปะพื้นฐานที่คนญี่ปุ่นแทบทุกคนต้องเคยเรียนหรือเคยสัมผัสมาบ้าง ในวิชานี้คุณครูจะสอนตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการเขียนพู่กันจีน ประเภทของตัวอักษร วิธีเขียนตัวอักษรให้สมดุล ต่อมาก็เริ่มให้ฝึกเขียนเอง ซึ่งในปัจจุบันแม้จะมีหมึกดำสำเร็จรูปที่เทออกมาแล้วใช้พู่กันจุ่มได้เลย แต่โรงเรียนของผู้เขียนเขาให้นักเรียนนั่งฝนหมึกเองค่ะ กว่าจะฝนหมึกเสร็จก็ปาเข้าไปเกือบครึ่งคาบแล้วล่ะค่ะ สำหรับการสอบครั้งสุดท้ายก่อนจบปีการศึกษา เจอการสอบที่หินสุด ๆ นั่นก็คือ การแกะสลักตราปั๊มไม้ชื่อตัวเอง หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า อินคัง (印鑑) ซึ่งใช้แทนลายเซ็นของคนไทย แน่นอนว่าแกะสลักเป็นตัวคันจินะคะ เราต้องใช้ความละเอียดลออและความปราณีตในการค่อย ๆ แกะตามเส้นเล็ก ๆ ไป จำได้ว่ากว่าผู้เขียนจะแกะเสร็จ ใช้เวลาหลายอาทิตย์ มือเกือบเป็นตะคริว นิ้วเกือบล็อคเลยล่ะค่ะ แต่สิ่งที่ได้จากวิชานี้ก็คือความใจเย็นจากการฝนหมึก ความช่างสังเกตจากการฝึกเขียน และความมุมานะอดทนจากการแกะสลักอินคังค่ะ

วิชางานไม้

มาจบกันที่วิชางานไม้ ที่ไม่ค่อยเห็นในโรงเรียนอื่นมากเท่าไหร่ แต่โรงเรียนผู้เขียนมีค่ะ แอบกระซิบว่านักเรียนที่เลือกวิชานี้ส่วนมากจะเป็นเด็กผู้ชาย ทำไมนะหรอคะ ก็เพราะว่าต้องใช้แรงและพละกำลังเหมือนช่างไม้จริง ๆ เลยล่ะค่ะ นอกจากจะเรียนการใช้อุปกรณ์การตัด กลึง ต่าง ๆ แล้ว ไม้แต่ละชิ้นก็ขนาดไม่เล็กเลย ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเกิดทำเครื่องมือหลุดมือ หรือเผลอทำไม้ตกไปโดนใครเข้า กลายเป็นอุบัติเหตุเลือกตกยางออกแน่นอน แต่ก็จะมีคุณครูคอยสอนการใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัยและสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอยู่ตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด ผลงานของวิชานี้เรียกได้ว่าเอาไปใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นของใช้ ของสำหรับประดับบ้านที่เป็นงานไม้ ผลงานของเพื่อนบางคนนี่สามารถนำออกขายได้เลยนะคะ ใครที่เลือกวิชานี้แล้วตกหลุมรักงานไม้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้เลยค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะกับวิชาเกจุตสึในโรงเรียนมัธยมญี่ปุ่น น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวเลยใช่ไหมล่ะคะ นอกจากจะสอนการปฏิบัติจริงแล้ว ยังครอบคลุมถึงทฤษฎีและประวัติศาสตร์ของศิลปะแต่ละแขนงด้วย เพื่อน ๆ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากลองเรียนวิชาไหนดูบ้างคะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save