สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งแล้วนะคะในบทความแชร์ประสบการณ์การสอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่นของ nonBri จากที่คราวที่แล้วได้เล่าถึงการสอบทุนประเภท Japanese Study ไป ซึ่งมีทั้งผลลัพธ์ที่น่าเสียดายเพราะสุดท้ายก็ตกรอบ และผลลัพธ์ที่น่ายินดี เพราะได้รับโอกาสให้ไปเรียกแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นและได้กลับมาแชร์ประสบการณ์ผ่านบทความนี้นั่นเองค่ะ
ครั้งนี้ nonBri จะมาเล่าถึง “Study Plan” หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Kenkyuu-Keikaku” (研究計画) ให้ได้ลองอ่าน เผื่อเป็นประโยชน์กันนะคะ
Study Plan – “Kenkyuu-Keikaku” (研究計画)
ในการสอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่น จุดประสงค์ก็คือการ “ไปเรียน” ดังนั้นจะให้ไปเปล่า ๆ โดยที่ไม่มีแผนเลยอาจจะกระไรอยู่ ผู้สมัครสอบทุกคนจึงควรมี “แผน” อยู่ในใจสักนิด ว่าตัวเองนั้นอยากจะไปศึกษาเรื่องอะไรที่ญี่ปุ่นค่ะ
ซึ่งเรื่องที่เราอยากจะไปศึกษานั้น ไม่ได้เกี่ยงว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ แต่ขอให้เรามองเห็นประโยชน์ในการศึกษาสิ่งเหล่านั้นก็พอค่ะ หรือบางคนอาจจะคิดว่า ลองสอบดูก่อน ถ้าผ่านค่อยคิดแผนใหม่ก็ได้ ซึ่งก็ไม่ผิดอีกเช่นกัน อาจจะโดนกรอบที่เรียกว่า “เวลา” มาเร่งให้กังวลใจอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าไม่ยากเกินไปแน่นอนค่ะ!
เค้าโครงของ Study Plan
มาถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะอยากบ่นว่า “รู้แล้วว่าต้องเขียนจ้า แต่หน้าตามันเป็นยังไงกันล่ะ?” ใช่ไหมล่ะคะ? สำหรับรูปร่างหน้าตาของ Study Plan นั้น nonBri ขอเปรียบเทียบว่าคล้ายกับ “บทนำ” ในรายงานในภาษาไทยค่ะ คือการบอกที่มาว่า
เรากำลังสนใจและต้องการศึกษาในเรื่องอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่น
- จุดประสงค์ของการศึกษาเรื่องนี้คืออะไร
- เพราะอะไรจึงสนใจเรื่องนี้ (เช่น สังเกตเห็นบางอย่างแล้วจึงเกิดความสงสัย หรือ มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงอยากหาทางแก้ไข)
- วิธีการศึกษา (หากมี)
- คาดว่าจะได้รับประโยชน์อะไรจากการศึกษาเรื่องนี้
เป็นต้นค่ะ ซึ่งแนะนำให้มีความยาวไม่ต้องมากนัก แค่ 1 ถึง 1 หน้าครึ่ง หรือไม่เกิน 2 หน้ากระดาษก็พอค่ะ (nonBri เขียนแค่หน้าเดียวค่ะ)
ลองนึกดูนะคะว่า ถ้าเราเองเป็นกรรมการ ต้องอ่านเอกสารเยอะมากมาย ถ้าเนื้อหาวนไปวนมาก็คงจะไม่อยากอ่าน ดังนั้นการเขียนให้กระชับและตรงประเด็น จึงเป็นผลดีกับทั้งผู้สมัครและกรรมการด้วยค่ะ
สำหรับรูปแบบการเขียน จะเขียนเป็นข้อ ๆ คล้ายกับในภาพประกอบด้านบน หรือว่าจะเลือกเขียนเป็นพารากราฟบรรยายความก็ได้ แล้วแต่ความถนัดเลยค่ะ nonBri ก็เคยเขียนทั้งสองแบบ (เพราะสอบไป 2 รอบ แหะ ๆ ^^;) แต่ที่สำคัญคือจะต้องเขียนให้กระชับ ชัดเจน ตรงประเด็นค่ะ
ให้คนช่วยตรวจได้ แต่ต้องเขียนเอง
การเขียน Study Plan สำหรับผู้สอบทุน Japanese Study จะต้องเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น ตัวเราก็ไม่ใช่คนญี่ปุ่น จะเขียนออกมาได้เป๊ะเวอร์เหมือนคนญี่ปุ่นประทับร่างมาเขียนเองก็คงจะยาก ดังนั้นเราสามารกขอ “ตัวช่วย” ได้ค่ะ
ตัวช่วยในที่นี้ก็คือ “อาจารย์” หรือ “อาจารย์ชาวญี่ปุ่น” ที่มีความรู้ความสามารถ และพร้อมจะช่วยเราได้นั่นเองค่ะ การขอให้อาจารย์ช่วยตรวจแผน Study Plan ของเรานั้น นอกจากจะได้แก้คำผิด หรือประโยคผิด ๆ ถูก ๆ ที่เราเขียนขึ้นมาให้เป๊ะกว่าเดิมแล้ว ยังมีประโยชน์ในเรื่องอื่นด้วยค่ะ เช่น อาจารย์อาจช่วยแนะนำได้ว่าหัวข้อนี้ดีแล้วจริง ๆ หรือ? หรือควรจะเพิ่มเติมอะไรอีกไหม? เพื่อให้เราได้ Study Plan ที่ดียิ่งกว่าเดิมค่ะ แถมยังเป็นการฝึกมารยาทด้วย เพราะถ้าหากอยากขอให้อาจารย์ชาวญี่ปุ่น (คนไทยก็ด้วยนะ!) ตรวจแก้ให้ ควรขออนุญาต นัดอาจารย์ล่วงหน้า และบริหารเวลาให้ดีว่าจะเขียนและแก้ไขอย่างไรให้ทันช่วงเวลาที่จะต้องยื่นเอกสารค่ะ
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
นอกจากการเขียน Study Plan ให้กระชับ ตรงประเด็นแล้ว nonBri ขอแนะนำว่าหัวข้อที่นำมาใช้ศึกษาควรเป็นหัวข้อที่มีเหตุผลให้ต้องไปศึกษาที่ญี่ปุ่นจึงจะดีค่ะ เพราะถ้าหากเป็นหัวข้อธรรมดา เดินเข้าห้องสมุดเปิดหนังสือค้นคว้าเองก็เจอ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไปถึงญี่ปุ่นเพื่อศึกษาเรื่องนั้นก็ได้ และอาจทำให้ถูกปัดตกไปค่ะ (เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น)
แต่ที่ไม่แนะนำเลยก็คือ การคัดลอกหรือให้คนอื่นเขียนให้ค่ะ เพราะ Study Plan ไม่ใช่แค่กระดาษใบสองใบที่เขียนส่งๆได้ แต่จะมีผลกับผู้สมัครเองในตอนสอบสัมภาษณ์ด้วยค่ะ ขอบอกเลยว่ากรรมการไม่ได้ถามแค่เผินๆ แต่โดนถามจี้ ขยี้จนยับมาแล้วก็มีค่ะ นอกจากนี้ถ้าได้ทุนไปเรียนญี่ปุ่นจริงๆ เราจะไม่ได้เขียนแค่ Study Plan เพียงหน้าสองหน้า แต่จะต้องเขียนรายงานออกมาให้ครบจบเล่มด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าแค่สองหน้าแรกยังไม่ยอมเขียนเอง การจะสอบให้ผ่านและได้รับทุนก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้นแล้วล่ะค่ะ
เปลี่ยน Study Plan ได้!
แต่ไม่ใช่ปุบปับทันทีนะคะ! การเปลี่ยน Study Plan เท่าที่ nonBri คิดว่าเป็นไปได้ มีได้ 2 กรณีค่ะ
1. เปลี่ยนก่อนสอบสัมภาษณ์
ในตอนยื่นใบสมัคร จะต้องแนบ Study Plan ไปด้วยเลย แต่ถ้าหากสอบข้อเขียนผ่าน แล้วเกิดอยากจะเปลี่ยนหัวข้อขึ้นมา กรณีนี้ไม่ต้องกังวลเลยค่ะเพราะสามารถเปลี่ยนได้ก่อนยื่นเอกสารรอบ 2 (ก่อนสัมภาษณ์) ได้ค่ะ และกรรมการก็จะถามเราเกี่ยวกับหัวข้อใหม่ที่ยื่นไปแทน แต่ถ้าหากผ่านสัมภาษณ์แล้วอยากจะเปลี่ยน ตรงนี้ผู้สมัครต้องลองสอบถามกับทางสถานทูตฯ ดูนะคะ
2. เปลี่ยนหลังได้รับทุนและเดินทางไปญี่ปุ่นแล้ว
สำหรับข้อนี้ ใช่ว่าจะเปลี่ยนได้ 100% ค่ะ เนื่องจากเราได้รับทุนมาในฐานะที่จะเดินทางไปเพื่อศึกษาหัวข้อเดิมนี้ แต่บางมหาวิทยาลัยก็จะบอกนักศึกษาที่เข้าไปแต่แรกเลยค่ะว่า “เปลี่ยนได้” ดังนั้นข้อนี้อาจจะต้องลุ้นกันนิดนึง แต่ที่มหาวิทยาลัยของ nonBri กับเพื่อน ๆ หลายคนก็สามารถเปลี่ยนได้นะคะ จากมุมมองของ nonBri คิดว่า “ส่วนใหญ่” เปลี่ยนได้ค่ะ
แต่ถ้าหากว่าเรามั่นใจว่าคิดมาดีแล้ว ไม่ได้อยากจะเปลี่ยนอะไร การเดินหน้าศึกษาเรื่องที่เราวางแผนมาก็เป็นสิ่งที่ดีค่ะ nonBri เองก็ไม่ได้เปลี่ยนหัวข้อเลยเช่นกันค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับใครที่กำลังสนใจในทุนรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่นะคะ สำหรับใครที่อยากพูดคุยอะไรเพิ่มเติม สามารถเข้ามาคุยกันได้ที่เพจ Facebook Anngle Thailand หรือที่เพจ nonBri กันได้นะคะ!
ส่วนใครที่กำลังรออ่านเรื่องการสอบสัมภาษณ์ ไว้เจอกันใหม่ที่บทความหน้านะคะ!!