แม้ว่าญี่ปุ่นจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นปัญหาที่ยังรอการแก้ไขอยู่ก็คือปัญหาสถานรับเลี้ยงเด็กเนอสเซอรี่ในเมืองใหญ่ๆที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ
เนอสเซอรี่ที่ได้รับการรับรองจากเขต/อำเภอ
เนอสเซอรี่ที่ได้รับความนิยมสูงคือเนอสเซอรี่ที่ได้รับการรับรองจากเขต/อำเภอที่เรียกว่า “Ninka Hoikuen”(認可保育園) สร้างขึ้นมาตามมาตราฐานของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนครูพี่เลี้ยงต่อจำนวนนักเรียน ความกว้างขวางของเนอสเซอรี่ และยังได้รับเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐทำให้ค่าเล่าเรียนไม่แพง ซึ่งเป็นเนอสเซอรี่ที่พ่อแม่ญี่ปุ่นจำนวนมากไว้วางใจและอยากให้ลูกๆเข้าเรียน
ในเขตเมืองใหญ่ๆ เนอสเซอรี่ Ninka Hoikuen จะมีการแข่งขันสูงมาก ยกตัวอย่างเช่นในเขตเมกุโระและเขตชิบุยะของโตเกียว ซึ่งมีเด็กจำนวนมากเกินกว่าครึ่งของที่สมัครเข้ามาต้องผิดหวังเพราะไม่ได้รับเลือกให้เข้าเรียนที่ดังกล่าว
ปัญหาดังกล่าวนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวญี่ปุ่นเลยทีเดียว เพราะการที่หาเนอสเซอรี่ให้ลูกไม่ได้ก็เท่ากับว่าคุณแม่ไม่สามารถกลับเข้าไปทำงานหลังคลอดได้ตามปกติ ซึ่งปัจจุบันมีคุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนที่เริ่มไปดูเนอสเซอรี่ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ และบางครอบครัวก็ยอมเสียค่ามัดจำเพื่อจองที่ให้ลูกได้เข้าเรียนที่เนอสเซอรี่ที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับทางเขต/อำเภอ(認可外保育園 Ninkagai Hoikuen)ทั้งๆที่ลูกยังไม่คลอดก็มี ซึ่งเนอสเซอรี่ที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับทางเขต/อำเภอจะมีค่าเทอมที่แพงกว่าเนอสเซอรี่ที่ได้รับการรับรองจากเขต/อำเภอ และต้องจองคิวก่อนกันเป็นปีๆ หรือใช้วิธีจับสลาก โดยวิธีการสมัครจะขึ้นอยู่กับเนอสเซอรี่นั้นๆ และสามารถสมัครได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านเขต/อำเภอ
เมื่อหลายวันที่ผ่านมาก็มีคุณแม่หลายๆคนที่อุ้มลูกมารอฟังผลที่เขตเมกุโระว่าลูกของตัวเองได้รับเลือกให้เข้าเรียนในเนอสเซอรี่ที่ได้รับการรับรองจากเขต/อำเภอหรือไม่ และในจำนวนนั้นก็มีคุณแม่ 3 ท่านที่กำลังกลุ้มใจอย่างมากที่ลูกของตัวเองไม่ได้รับเลือกให้เข้าเรียนเนอสเซอรี่ดังกล่าว เพราะทั้ง 3 ท่านทำงานประจำอยู่ จึงจำเป็นต้องหาเนอสเซอรี่ให้ลูกๆของตน
หากลูกไม่ถูกรับเลือกให้เข้าเนอสเซอรี่จะทำยังไง?
แม่ๆ ที่ผิดหวังจากการประกาศผลครั้งนี้ สามารถยื่นของสมัครในครั้งที่ 2 ได้ที่เขต/อำเภอที่อาศัยอยู่ และสามารถยื่นสมัครนอกเขต/อำเภอที่อาศัยได้ และระหว่างนั้นก็ต้องหาเนอสเซอรี่ที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับทางเขต/อำเภอ เนอสเซอรี่ของเอกชน หรือของบริษัทที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับลูกจ้างไว้เป็นอีกหนทางเลือกหนึ่งด้วย เนอสเซอรี่ที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับทางเขต/อำเภอบางแห่งยังเปิดรับเด็กเข้าเรียนได้ทั้งตลอดปี หรือไม่อย่างนั้นต้องก็หาสถานรับดูแลเด็กที่รับดูแลเป็นช่วง เช่น รับฝากเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือรับฝากเป็นชั่วโมง เป็นต้น
หากยังหาเนอสเซอรี่ให้ลูกไม่ได้และจำเป็นต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็ก กรณีนี้ทางครอบครัวเด็กสามารถยื่นรับของเงินช่วยเหลือในเขตของโตเกียวได้ตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนเป็นต้นไป โดยเงินช่วยเหลือจะต้องไม่เกิน 280,000 เยนต่อเดือน
หากลองวิธีที่เสนอมาแล้วก็ยังหาเนอสเซอรี่ไม่ได้ ก็สามารถขอต่อรองกับบริษัทที่ทำงานอยู่เพื่อขอยืดเวลาลาคลอด ซึ่งเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ว่าสามารถลาคลอดได้มากที่สุด 2 ปี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทที่คุณแม่ทำงานอยู่ด้วย
แม้ญี่ปุ่นจะประสบปัญหาเด็กลดลง ส่งผลให้โรงเรียนอนุบาลหลายแห่งในญี่ปุ่นถูกปิดลงไป แต่ในเมืองหลวงกลับมีจำนวนเนอสเซอรี่ไม่เพียงพอกับจำนวนเด็กอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไรต้องรอดูกัน