จังหวัดอาคิตะ ตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะฮอนชูในภูมิภาคโทโฮคุ เป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติที่แสนวิเศษ เต็มไปด้วยป่าเขาลำเนาไพร เหมาะกับคนที่อยากจะไปเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ถึงแม้อาคิตะอาจจะยังไม่ใช่จุดหมายยอดฮิตของคนไทย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่น่าไปเยือนสักครั้ง เพราะนอกจากธรรมชาติแล้วภาษาถิ่นก็มีเอกลักษณ์อีกด้วย จะเหมือนโอซาก้าหรือโอกินาว่ามั้ย ลองไปดูกันค่ะ

あがったんせ (Agattanse)
เป็นคำที่ใช้พูดเวลาที่มีคนมาเยี่ยมบ้านแล้วเราต้องการเชิญแขกเข้าบ้าน คล้ายกับคำว่า 入ってください (Haitte kudasai) เป็นคำที่เหล่าแม่บ้านอาคิตะใช้กันบ่อย ๆ ค่ะ
はつらえー (Hatsuraee)
แปลว่าอิ่มแล้ว เหมือนกับ お腹がいっぱい (Onaka ga ippai) คำนี้มาจากคำว่า 腹がつらい (Onaka ga tsurai) (ท้องอึดอัด) เพราะเวลาที่เราอิ่มมาก ๆ ก็จะรู้สึกอึดอัดใช่มั้ยล่ะคะ หากเรารู้ที่มาของคำ เราก็จะเข้าใจความหมายของคำคำนั้นมากขึ้น และใช้ได้อย่างถูกต้อง และถ้ายิ่งลากหางเสียงยาว ๆ ก็ยิ่งน่ารักด้วยนะคะ
なんも (Nanmo)
แปลว่าโอเคหรือไม่มีปัญหาอะไร คำนี้ย่อมาจากคำว่า 何も(問題が)ない (Nanmo(mondai ga) nai) (ไม่มีปัญหาอะไร) เหลือแค่ なんも จนกลายมาเป็นสำเนียงอาคิตะ สามารถใช้เป็นคำเดี่ยว ๆ ได้เลย ไม่ต้องมีหางเสียงต่อท้าย
じぇんこ (Jenko)
หมายถึงเงิน ภาษาท้องถิ่นอาคิตะมักจะเติม っこ ไว้ข้างหลังสิ่งของต่าง ๆ คำนี้ก็เช่นกันค่ะ มาจากคำว่า 銭っこ (Senko) และเพี้ยนเสียงมาจนกลายเป็นคำว่า じぇんこ นี่แหละค่ะ
しゃっけ (Shakke)
แปลว่าเย็น เหมือนกับ 冷たい (Tsumetai) อะไรที่มีความรู้สึกว่ามันเย็น ในอาคิตะจะใช้คำว่า ひゃっこい (Hyakkoi) จนเพี้ยนเสียงมาเป็น しゃっこい เป็นคำที่ใช้บ่อยมากในท้องถิ่น เนื่องจากอาคิตะอยู่ทางเหนือทำให้มีหิมะตกหนักบ่อยครั้ง
こえー (Koee)
แปลว่าเหนื่อย เหมือนกับ 疲れた (Tsukareta) สามารถเขียนเป็นคันจิได้ว่า 強い อย่าเพิ่งแปลกใจนะคะว่าทำไมถึงใช้คันจิตัวนี้ เพราะดึงมาจากคำว่า 手強い (Tegowai) (รับมือยาก) ค่ะ และเพี้ยนมาจนกลายเป็นคำท้องถิ่น นอกจากอาคิตะแล้ว ท้องที่อื่น ๆ ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือกับฮอกไกโดก็ใช้เช่นกัน
しったげ (Shittage)
แปลว่ามาก เหมือนกับ とても (Totemo) คำนี้เพี้ยนมาจากคำว่า 死ぬほど(Shinuhodo), 死ぬだけ(Shinudake) (แทบตาย, จะตาย) จนกลายเป็น しったげ เมื่อลองรวมกับคำในข้อที่แล้วเป็น しったげこえー (Shittagekoee) ก็จะแปลว่าเหนื่อยมากนั่นเองค่ะ
へば (Heba)
ใช้พูดเวลาแยกจากกัน มีความหมายว่าไว้เจอกันใหม่ คล้ายกับ それじゃあ (Sorejaa) หรือ また (Mata) ในบางพื้นที่อาจจะพูดว่า せば (Seba) ซึ่งความหมายไม่ต่างกัน หากพูดว่า へば、またね (Heba, matane) ก็จะเหมือนกับ それじゃあ、またね (Sorejaa, matane) หรือหากพูดว่า へばね (Hebane) ก็นิยมใช้กันเยอะเหมือนกับ またね (Matane)
ごしゃぐ (Goshagu)
แปลว่าโกรธ เหมือนกับ 怒る (Okoru) สามารถทำเป็นรูปถูกกระทำได้เป็น ごしゃがれだ (Goshagareda) เหมือนกับ 怒られた (Okorareta)
なげる (Nageru)
ในภาษากลาง คำนี้จะแปลว่าขว้าง ปา แต่สำหรับคนอาคิตะจะแปลว่าทิ้งค่ะ ถ้ามีคนอาคิตะพูดขึ้นมาว่า これなげて良い?(Kore nagete ii?) (ทิ้งอันนี้ได้มั้ย ?) ถ้าเป็นคนที่ไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่นก็คงจะแอบตกใจเบา ๆ นะคะ55555

นอกจากนี้เรายังมีภาษาท้องถิ่นอาคิตะน่ารัก ๆ มาฝากเป็นของแถมอีก 2 คำด้วยค่ะ
ねねね (Nenene)
เป็นคำท้องถิ่นที่น่ารักมาก ๆ เลยนะคะสำหรับ ねねね ถ้าเป็นภาษากลาง อาจจะเหมือนกับว่ากำลังเรียกอีกฝ่ายอยู่ (คล้ายกับภาษาไทยว่า นี่ๆๆ) แต่สำหรับอาคิตะ ねねね จะหมายความว่า 寝なければならない (Nenakerebanaranai) (ไม่นอนไม่ได้ / ต้องนอน)
けけけ (Kekeke)
อีก 1 คำที่เราอยากแถมให้ก็คือคำว่า けけけ พอลองออกเสียงดูก็แอบตลกดีเหมือนกันนะคะ คำนี้จะแปลว่า 食べるならこっちに来て食べなさい (Taberunara kocchi ni kite tabenasai) (ถ้าจะกินก็มากินตรงนี้) จีเนียสมากเลยนะคะที่ย่อประโยคยาว ๆ ให้เหลือแค่ตัวอักษร 3 ตัว
หวังว่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ หากได้ไปเที่ยวจังหวัดอาคิตะ ก็ลองนำไปใช้พูดกับผู้คนในท้องถิ่นดูค่ะ รับรองว่าจะทำให้การไปท่องเที่ยวอาคิตะสนุกขึ้นได้แน่นอน ^^
อ้างอิงเนื้อหาจาก cherish-media