ใครที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่น เมื่อเริ่มเรียนตัวอักษร ก็ต้องคุ้นเคยกับการท่อง あいうえお かきくけこ… (อะอิอุเอะโอะ คะคิคุเคะโคะ…) หรือหากท่องเป็นวรรคก็จะท่องว่า あかさたな はまやらわ (อะคะสะทะนะ ฮะมะยะระวะ) แล้วทุกคนเคยสงสัยกันไหมคะ ว่าทำไมถึงต้องมีการเรียงลำดับในลักษณะนี้ ดูเหมือนว่าจะได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นมาด้วยนะ!
ก่อนที่จะไปทราบที่มาของการเรียงลำดับตัวอักษร เรามาทำความรู้จักตาราง 50 เสียงกันก่อน 50 เสียงหรือ 五十音 (โกะจูอน) เป็นคำที่ใช้เรียกจำนวนพยางค์ในภาษาญี่ปุ่นพื้นฐาน มีตัวอักษรคานะทั้งหมด 46 ตัว ประกอบด้วยสระ 5 ตัว คือ あいうえお (อะอิอุเอะโอะ) ในแนวนอน และพยัญชนะ 10 วรรค คือ あかさたな はまやらわ (อะคะสะทะนะ ฮะมะยะระวะ) ในแนวตั้ง รวมกันออกมาเป็นตาราง 50 เสียง

แต่ละพยางค์ในภาษาญี่ปุ่นจะเป็นการผสมพยัญชนะและสระ อย่างเช่น วรรค k + เสียงสระ a = ka แทนด้วยตัว か หรือ วรรค s + เสียงสระ u = su แทนด้วยตัว す
สำหรับที่มาของการผสมพยัญชนะกับสระและการเรียงลำดับตัวอักษร ต้องย้อนกลับไปในอดีต มีพระภิกษุชื่อเมียวกาคุ (หรือเมคาคุ) จากนิกายเทนไดในศาสนาพุทธ ท่านเดินทางไปยังวัด Hieizan Enryakuji และเรียนรู้อักษรสิทธัม ซึ่งเป็นตัวอักษรแบบหนึ่งของอินเดียตอนเหนือที่นิยมใช้เขียนภาษาสันสกฤต

สาเหตุที่ต้องเรียนรู้อักษรสิทธัมเนื่องจากในสมัยนั้นพระไตรปิฎกหรือตำราต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เขียนด้วยอักษรจีนและภาษาสันสกฤต หากพระภิกษุต้องการศึกษาตำรา จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งอักษรจีนและอักษรสิทธัมเพื่อให้ศึกษาคำสอนได้อย่างแตกฉาน
ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของสมัยเฮอัน ท่านได้ย้ายมายังวัด Yakuoin Onsenji จังหวัดอิชิคาว่า และสร้างงานเขียนมากมายเกี่ยวกับการศึกษาอักษรสิทธัม รวมทั้งงานเขียนที่ถอดตำราคำสอนจากภาษาจีนเป็นเสียงอ่านแบบญี่ปุ่น เช่น 悉曇要訣 (ชิทตังโยเคทสึ), 梵字形音義 (บงจิเกียวองกิ) รวมทั้ง 反音作法 (ฮันอนสะโฮ) จากปี 1093 ว่ากันว่านี่เป็นผลงานที่นำมาเป็นต้นแบบของระบบ 50 เสียงในภาษาญี่ปุ่นปัจจุบัน

สำหรับอักษรจีนนั้น หากไม่มีการกำกับคำอ่านก็จะไม่ทราบวิธีออกเสียง ใครที่เรียนภาษาจีนคงจะคุ้นเคยกับระบบพินอินที่ใช้กำกับวิธีการอ่านในปัจจุบัน แต่ในสมัยโบราณ จะใช้ระบบ Fanqie ซึ่งเกิดประมาณคริสศตวรรษที่ 3 ระบบนี้เป็นการใช้อักษรจีน 2 ตัวมาเขียนกำกับไว้ โดยตัวแรกแทนเสียงพยัญชนะ ตัวที่ 2 แทนเสียงสระและวรรณยุกต์ ก็จะแสดงวิธีการออกเสียงของตัวอักษรจีนตัวนั้น ๆ ได้ เช่นตัว 東 (dōng) จะเขียนกำกับด้วย 德紅反 คือใช้เสียง d จากตัวแรก เสียง ōng จากตัวที่ 2 และตัวที่ 3 เป็นตัวปิด หรืออย่างตัว 唐 (táng) จะเขียนกำกับด้วย 徒郎 คือใช้เสียง t จากตัวแรก เสียง áng จากตัวที่ 2

และระบบนี้ก็ถูกถ่ายทอดมาใช้กับอักษรคานะในภาษาญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น วรรค k + เสียงสระ a = ka ดังที่กล่าวไปนั่นเอง
แล้วเหตุใดเสียงสระจึงเรียงลำดับเป็น あいうえお (อะอิอุเอะโอะ) และพยัญชนะเรียงลำดับตามวรรค あかさたなはまやらわ (อะคะสะทะนะ ฮะมะยะระวะ) ที่มาไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะเป็นการเรียงลำดับตามอักษรในภาษาสันสกฤตนั่นเอง แต่นอกจากระบบตาราง 50 เสียงของเมียวกาคุแล้ว ในอดีตยังเคยมีระบบตารางรูปแบบอื่น ๆ ที่จัดลำดับแตกต่างกันไปอีกมากมาย เช่น กลอน iroha ที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง

ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าระบบการผสมเสียงในภาษาญี่ปุ่นจะลึกซึ้งและน่าสนใจขนาดนี้ ไม่ว่าจะภาษาไหนก็ต้องดึงเอาเอกลักษณ์จากภาษาอื่น ๆ มาบ้างไม่มากก็น้อย และปรับใช้จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่อรู้ที่มาแล้ว น่าจะช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นได้สนุกยิ่งขึ้นนะคะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan