เพื่อน ๆ คนไหนที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่น นอกจากเราจะต้องฝึกเขียนตัวฮิรางานะ คาตาคานะ คันจิแล้ว เรายังต้องจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นอีกเป็นร้อยเป็นพันคำ แถมคำศัพท์บางคำยังมีความหมายที่ใกล้เคียงกัน พอแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษใช้คำเดียวกัน แต่พอเป็นภาษาญี่ปุ่นดันใช้กันคนละบริบทเสียนี่ ไม่ใช่แค่คนไทยเรานะคะที่งงงวยกับคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น ชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน วันนี้เราได้รวบรวมคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น 7 คำ ที่ชาวต่างชาติบอกว่าแปลเป็นภาษาอังกฤษยากสุด ๆ มาแนะนำกันค่ะ
อิคิไก (生きがい)
คำว่า อิคิไก เราสามารถแยกออกมาได้ 2 ส่วน ได้แก่ อิคิ และ ไก ส่วนแรก อิคิ มาจากคำกริยา อิคิรุ (生きる) แปลว่า มีชีวิต และส่วนที่สอง ไก (がい) เป็นคำที่ใช้ต่อจากคำกริยา แปลว่า คุ้มค่าที่จะทำกริยานั้น ๆ
เพื่อน ๆ บางคนอาจจะเคยเห็นคำนี้มาแล้ว เพราะไม่นานมานี้หนังสือชื่อ “The Little Book of Ikigai : อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่” แต่งโดย Ken Mogi แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ได้กลายเป็นหนังสือโด่งดัง ยอดขายติดท็อปในประเทศไทย ถ้าจะให้แปลคำว่า อิคิไก ออกมาให้ดูดีและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ก็คงจะแปลว่า ความหมายของการมีชีวิตอยู่ ตามชื่อหนังสือนั่นแหละค่ะ แต่ความจริงแล้ว คนญี่ปุ่นได้อธิบายไว้ว่า คำว่า อิคิไก มันไม่ได้มีความหมายหนักแน่นหรือยิ่งใหญ่เท่ากับคำว่า ความหมายของการมีชีวิตอยู่ แบบที่คนต่างชาติหรือคนไทยเรานึกถึงกัน แต่มันอาจเป็นสิ่งเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ ที่ทำให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้ต่อไปอย่างไม่ต้องมานั่งกุมขมับว่า ฉันทำอะไรอยู่ หรือ ฉันมีชีวิตต่อไปทำไม
คะโรชิ (過労死)
ถ้าดูคันจิ 3 ตัวของคำว่า คะโรชิ (過労死) ตัวแรก 過 มีความหมายว่า เกินไป ตัวที่สอง 労 มีความหมายว่า การใช้กำลังทุ่มเท ตัวสุดท้าย 死 มีความหมายว่า ตาย พอรวมกันแล้ว แปลได้ว่า การทำงานหนักมากเกินไปจนเสียชีวิต แต่ความจริงแล้ว คนญี่ปุ่นบอกว่า เราต้องดูไปถึงสาเหตุที่ทำงานหนักด้วย คำว่า คะโรชิ จะเป็นกรณีที่ต้องทำงานหนักเพราะถูกสั่งงานเยอะ เพราะถูกกดดัน เพราะมีความรับผิดชอบเยอะ จนกลายเป็นกดดันตัวเอง เสียสละเวลา ร่างกาย และจิตใจของตัวเองเพื่อมุ่งทำงานหนักจนร่างกายและจิตใจทนไม่ไหว ล้มป่วยหรือตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากปัญหาขององค์กรเสียมากกว่าเป็นปัญหาส่วนตัว
ชินริงโยะคุ (森林浴)
คำว่า ชินริง (森林) แปลว่า ป่า ส่วน โยะคุ (浴) แปลว่า อาบ รวมกันแล้วแปลได้ว่า การอาบป่า เพื่อน ๆ คงงงกันว่าแล้วจะอาบยังไง ต้องหอบอ่างอาบน้ำเข้าไปกลางป่าหรือไม่ ความจริงแล้วการอาบป่านี้ ก็คือการที่เราเข้าไปเดินป่าหรือปีนเขา เพื่อซึบซับบรรยากาศและพลังจากป่าไม้ธรรมชาติ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สงบจิตสงบใจ สดชื่นขึ้นมาใหม่นั่นเอง ANNGLE เคยมีบทความแนะนำเรื่องชินริงโยะคุมาแล้ว หากเพื่อน ๆ คนไหนสนใจอยากรู้รายละเอียดมากขึ้น ตามไปอ่านที่บทความนี้ได้เลยค่ะ
ชิกาตะ กะ ไน (仕方がない)
ชิกาตะ กะ ไน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า โช กะ ไน (しょうがない) อาจจะแปลเป็นภาษาอังกฤษยากหน่อย แต่สำหรับภาษาไทยแปลได้ว่า ช่วยไม่ได้ มักจะใช้กับเรื่องเล็กน้อย เช่น ลืมเอาร่มมา จะนัดเพื่อนแต่เพื่อนไม่ว่าง ไม่ได้ใช้กับเรื่องใหญ่ คอขาดบาดตายอะไรค่ะ
สึนโดคุ (積読)
คำว่า สึนโดคุ นี้ คันจิตัวแรก 積 มีความหมายว่า สะสม ทับถม ส่วนตัวที่สอง 読 มีความหมายว่า อ่าน (หนังสือ) พอรวมกันแล้วจะแปลได้ว่า การมีหนังสือที่อยากอ่านแต่ยังไม่ได้อ่านกองอยู่เป็นภูเขา ซึ่งเล่มที่อ่านอยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่จบสักที ลองนึกภาพง่าย ๆ เวลาเรากลับมาจากงานหนังสือพร้อมกับหนังสือใหม่เป็นตั้งที่เราซื้อมา แต่พอผ่านไป 3 เดือน หนังสือพวกนั้นก็ยังคงตั้งอยู่มุมห้องของเราเหมือนเดิม (ใครเป็นแบบนี้บ้าง ยกมือขึ้นค่ะ)
อิรุซึ (居留守)
คำว่า อิรุซึ เป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมาก ๆ เลย เพราะ อิ (居) แปลว่า อยู่ อาศัย ส่วน รุซึ (留守) แปลว่า ไม่อยู่ พอเอามารวมกัน จะมีความหมายว่า การอยู่บ้านแต่ทำเหมือนไม่อยู่ ยกตัวอย่างเช่น วันที่เราอยากเก็บตัว ไม่อยากเจอใคร ก็เลยปิดประตูหน้าต่างไว้สนิท ใครมากดกริ่งก็ไม่ตอบรับ ทำให้ผู้มาเยี่ยมเยือนเข้าใจว่าเราไม่อยู่บ้านนั่นเอง
อะเกะโอะโทะริ (上げ劣り)
แม้แต่คนญี่ปุ่นปัจจุบันยังแทบจะไม่รู้ความหมายของคำว่า อะเกะโอะโทะริ เลยนะคะ การจะเข้าใจคำนี้เราต้องย้อนกลับไปราว 1200 ปี ไปถึงสมัยนาราเลยค่ะ ในสมัยนั้นมีธรรมเนียมให้เด็กผู้ชายรวบผมขึ้นมัดตึงเพื่อแสดงถึงการบรรลุนิติภาวะ แต่ก็ใช่ว่าเด็กผู้ชายทุกคนจะเข้ากับทรงรวมมัดตึงนี้นะคะ คนที่ทำทรงนี้แล้วหน้าดูแย่ลง เขาเรียกว่า อะเกะโอะโทะริ ซึ่ง อะเกะ มาจากคำกริยา อะเกะรุ (上げる) แปลว่า ดึงขึ้น ยกขึ้น ในที่นี้หมายถึงการรวมผมขึ้นไป ส่วน โอะโทะริ มาจากคำกริยาเช่นกัน โอะโทะรุ (劣る) แปลว่า ด้อยกว่า อ่อนแอกว่า กลับมาที่สมัยปัจจุบันที่ไม่มีธรรมเนียมการรวมผมตึงแล้ว คำว่า อะเกะโอะโทะริ จึงกลายเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่ไปตัดผมมาแต่ดันไม่เข้ากับหน้า ทำให้หน้าตาดูแย่ลง จินตนาการง่าย ๆ เหมือนเราเข้าร้านทำผม ตัดผมทรงใหม่เสร็จ เหลือบมองตัวเองในกระจกตกใจ ไม่กล้าออกจากร้านนั่นเองค่ะ
7 คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติว่ากันว่าแปลยากเนี่ย เพื่อน ๆ อ่านดูแล้วแปลได้หรือเปล่าคะ บางทีเราเข้าใจความหมายของคำ แต่ไม่รู้จะพูดเป็นภาษาไทยอย่างไรดี ก็คงเหมือนวัฒนธรรมหรือแนวคิดบางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะของประเทศ ยากที่คนที่ไม่ได้เกิดหรือเติบโตในประเทศนั้นจะเข้าใจได้ค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก excite.co.jp