สำนวนสุภาษิตแมว ๆ น่ารู้ในภาษาญี่ปุ่น

ภาษาญี่ปุ่นมีสำนวนสุภาษิตที่น่าสนใจเยอะแยะมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่สื่อถึงวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นในสมัยก่อนได้อย่างดี วันนี้เรายกตัวอย่างสำนวนที่เกี่ยวกับแมวมาให้ทุกคนได้เรียนรู้กันค่ะ เพราะแมวก็ถือเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่คู่บุญคนญี่ปุ่นมานานแสนนาน แน่นอนว่าต้องมีสำนวนแมว ๆ ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

鳴く猫は鼠を捕らぬ (nakuneko ha nezumi wo toranu)

สำนวนนี้แปลว่า แมวที่ส่งเสียงร้องจะจับหนูไม่ได้ ใช้เปรียบเทียบว่าคนที่พูดมาก พูดเยอะ จะไม่สามารถทำงานให้เสร็จลุล่วงได้ สำนวนนี้มาจากการเปรียบเปรยว่าแมวที่ไม่ส่งเสียงร้องดังและเก็บเล็บเอาไว้นั้น มักจะจับหนูได้มากกว่า กลับกัน หากเป็นแมวที่เอาแต่ส่งเสียงร้อง มักจะจับหนูไม่ค่อยได้

猫に鰹節 (neko ni katsuobushi)

สำนวนนี้แปลว่า ปลาโอแห้งใกล้แมว ใช้หมายถึงสภาพการณ์ที่เตือนให้มีความระมัดระวัง อย่าประมาท อย่าชะล่าใจ เพราะการที่มีของที่ชอบหรือสิ่งที่ต้องการอยู่ใกล้ ๆ อาจทำให้ขาดความยับยั้งช่างใจและทำอะไรผิดพลาดได้ง่าย สำนวนนี้มาจากการเปรียบเปรยว่าปกติแล้วแมวเป็นสัตว์ที่ชอบกินปลา โดยเฉพาะปลาโอแห้งจะยิ่งชอบมาก ถ้าหากวางปลาโอแห้งไว้ใกล้ ๆ แมว ก็ไม่รู้เลยว่ามันจะแอบกินตอนไหน เมื่อไหร่ จึงต้องคอยระวังเอาไว้ บางครั้งอาจใช้เป็น 猫に鰹節あずける (neko ni katsuobushi azukeru) ถ้าเป็นในสมัยก่อนจะพูดว่า 猫にかつぶし (neko ni katsubushi)

猫に小判 (neko ni koban)

สำนวนนี้แปลว่า แมวได้เหรียญกษาปณ์ทอง ใช้เปรียบเทียบว่าถึงแม้จะได้ของสำคัญหรือมีค่าแค่ไหน แต่หากผู้ที่ได้รับไม่รู้วิธีใช้หรือคุณค่าของสิ่งนั้น ก็ไม่มีประโยชน์อะไร สำนวนนี้มาจากการเปรียบเปรยว่าการนำเหรียญกษาปณ์ทองที่แสนมีค่าไปให้แมวที่ไม่สามารถใช้เงินได้ก็ไม่มีความหมายหรือมีประโยชน์อันใด คล้ายกับสำนวน “ไก่ได้พลอย” หรือ “วานรได้แก้ว” ของบ้านเรา คำว่า 小判 (koban) จะหมายถึงเหรียญกษาปณ์ทองที่ใช้แทนเงินกันในสมัยเอโดะ

 

猫に木天蓼 (neko ni matatabi)

สำนวนนี้แปลว่า แมวได้เถาวัลย์เงิน ใช้หมายถึงของที่ชอบมาก ๆ อีกทั้งยังใช้ในความหมายว่า ถ้าให้สิ่งนั้น ๆ แล้วก็จะมีประโยชน์อย่างแน่นอน สำนวนนี้มาจากการเปรียบเปรยถึงเถาวัลย์เงินหรือมาทาทาบิ ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่แมวชอบมาก ถ้าได้กินเข้าไปก็จะเคลิบเคลิ้มเมามาย และอาจเปรียบได้อีกว่าการให้เถาวัลย์เงินแก่แมว ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าการให้อย่างอื่น สำนวนนี้มักจะตามด้วย お女郎に小判 (ojyorou ni koban) ให้เหรียญกษาปณ์ทองแก่โสเภนี

猫の食い残し (neko no kuinokoshi)

สำนวนนี้แปลว่า กินเหลือเหมือนแมว ใช้หมายถึงนิสัยที่มักจะทานอาหารเหลือไว้ ไม่ทานให้หมด สำนวนนี้มาจากการเปรียบเปรยว่าคนที่ทานอาหารไม่หมด เหลือทิ้งไว้เป็นประจำจนเคยตัว เหมือนกับแมวที่มักจะทานอาหารเหลือทิ้งไว้บ่อย ๆ ไม่ทานให้หมดจาน คาดว่าใช้ในการตักเตือนว่าไม่ควรทานอาหารเหลือทิ้ง ควรทานให้หมดจาน

猫の首に鈴 (neko no kubi ni suzu)

สำนวนนี้แปลว่า ผูกกระดิ่งที่คอแมว ใช้หมายถึงข้อเสนอหรือแผนการที่ฟังดูดีมาก แต่ทำให้เป็นจริงได้ยาก หรือไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ สำนวนนี้มาจากนิทานอีสปเรื่องผูกกระดิ่งแมว เล่าถึงกลุ่มหนูตัวเล็ก ๆ ที่รวมตัวกันประชุมว่าจะทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่รอดพ้นจากแมวตัวใหญ่ หนูตัวหนึ่งนำเสนอแผนว่าควรนำกระดิ่งไปผูกคอแมวไว้ จะได้รู้ว่าแมวอยู่ตรงไหน แต่เมื่อถามต่อว่าใครจะเป็นคนนำกระดิ่งไปผูกคอแมว กลับไม่มีหนูตัวไหนอยากไปเพราะเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย แผนการนำกระดิ่งไปผูกคอแมวจึงต้องล่มไป

猫の手も借りたい (neko no te mo karitai)

สำนวนนี้แปลว่า มือแมวก็อยากจะยืม ใช้หมายถึงในเวลาที่ยุ่งมาก ๆ ก็อยากขอยืมมือใครก็ได้ให้มาช่วยงาน สำนวนนี้มาจากการเปรียบเปรยว่าเวลาที่ยุ่งมาก ๆ จนไม่รู้จะทำยังไง แม้แต่มือแมวที่ดูท่าจะไม่มีประโยชน์อะไรแต่ก็อยากยืมมาช่วย ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงต้องเป็นแมวก็ยังไม่แน่ชัดนัก แต่เป็นไปได้ว่าในเวลายุ่ง ๆ ก็อยากจะยืมมือสัตว์เลี้ยงในบ้านมาช่วย อีกทั้งแมวยังเป็นสัตว์ที่จับหนูเก่ง ทำให้ดูเป็นสัตว์ที่แอคทีฟ

猫糞を決め込む (nekobaba wo kimekomu)

สำนวนนี้แปลว่า ปกปิดความผิด, เอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ใช้หมายถึงการปกปิดความผิดที่ทำเอาไว้แล้วทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ บางครั้งใช้กล่าวถึงเวลาที่เก็บของหายได้แล้วไม่นำไปคืนเจ้าของ แต่เก็บไว้เป็นของตัวเอง สำนวนนี้มาจากการเปรียบเปรยถึงเวลาที่แมวขับถ่ายเสร็จแล้วก็จะกวักทรายกวักดินมากลบไว้ ทำให้ไม่มีใครเห็นว่าตรงนั้นมีอึ๊แมวอยู่ อีกทฤษฎีหนึ่งเล่าว่า ในสมัยเอโดะมีหญิงชราที่มีนิสัยละโมบ แถมยังชอบแมวมาก ทำให้ในปัจจุบัน เวลามีคนที่เก็บของคนอื่นได้แล้วเอามาเป็นของตัวเองก็จะเรียกกันว่า ねこばば (nekobaba)

猫も杓子も (neko mo shakushi mo)

สำนวนนี้แปลว่า ทั้งแมวทั้งทัพพี ใช้หมายถึงรวมทั้งหมดทุก ๆ คน ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีความแตกต่าง ปกติจะใช้กับคนเท่านั้น ที่มาของสำนวนนี้มี 3 ทฤษฎีคือ 1. แมวและทัพพีตักข้าวเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน 2. รูปร่างของทัพพีตักข้าวมีลักษณะคล้ายมือแมว 3. เกิดจากการออกเสียงเพี้ยนของคำว่า 女子 (meko : เด็กสาว) กลายเป็น neko กับคำว่า 弱子 (jyakushi : เด็กเล็ก) กลายเป็น shakushi

猫をかぶる (neko wo kaburu)

สำนวนนี้แปลว่า คลุมร่างเป็นแมว ใช้หมายถึงการปกปิดนิสัยที่แท้จริง ทำทีเป็นคนเรียบร้อย หรือบางครั้งใช้ในอีกความหมายคือรู้ทุกอย่างแต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ สำนวนนี้มาจากการเปรียบเปรยถึงคนที่พยายามซ่อนนิสัยที่แท้จริงของตัวเองไว้แล้วแสดงออกว่าเป็นคนเรียบร้อย เปรียบกับแมวที่ปกติแล้วมักจะแสดงท่าทีนิ่ง ๆ สงบเสงี่ยมให้คนเห็นว่าเป็นสัตว์เรียบร้อย สำนวนนี้จะใช้เป็นเชิงลบเสียมากกว่า บางครั้งอาจใช้เป็น 猫かぶり (neko kaburi) อีกทั้งบางทฤษฎีกล่าวว่า คำว่า 猫 ไม่ได้หมายถึงแมว แต่หมายถึง ねござ (negoza) แปลว่าเสื่อปูนอน หรือก็คือ เอาเสื่อปูนอนมาคลุม

มีสำนวนแปลก ๆ ที่ไม่เคยได้ยินอยู่เยอะเลยนะคะ แถมฟีลลิ่งก็ต่างจากสำนวนไทยพอสมควร การเรียนรู้สำนวนสุภาษิตก็ช่วยให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต และแนวคิดของคนในชาตินั้น ๆ ได้มากขึ้น ครั้งหน้าจะมีสำนวนเกี่ยวกับอะไรมาอีก มาติดตามกันน้าา ^^

สรุปเนื้อหาจาก kotowaza

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save