ちんぷんかんぷん (chinpunkanpun) เป็นคำศัพท์อีกคำที่คนญี่ปุ่นใช้ในชีวิตประจำวัน มีความหมายว่า ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะรู้ที่มาที่ไปของคำ ๆ นี้ เรามาเรียนรู้กันค่ะว่าคำภาษาญี่ปุ่นที่ออกเสียงน่ารัก ๆ คำนี้มีความเป็นมาอย่างไร
ちんぷんかんぷん (chinpunkanpun) ตามพจนานุกรมหมายความว่า ไม่เข้าใจ, (พูด)ไม่รู้เรื่อง, ไม่เป็นภาษา เป็นคำที่ใช้เมื่อไม่เข้าใจคำพูดหรือเหตุการณ์บางอย่าง หรือใช้ในความหมายว่าไม่สามารถสื่อสารเรื่องราวหรือเนื้อหานั้นได้ ยกตัวอย่างประโยค เช่น
- 本を読んでみましたが、ちんぷんかんぷんです。(hon wo yondemimashita ga, chinpunkanpun desu)
อ่านหนังสือแล้ว แต่ก็ไม่รู้เรื่อง - 先生の説明はちんぷんかんぷんでした。(sensei no setsumei ha chinpunkanpun deshita)
ไม่รู้เรื่องที่อาจารย์อธิบาย
สำหรับคันจิของคำว่า ちんぷんかんぷん จะใช้เป็น 珍紛漢紛 ถ้าดูจากความหมายของคันจิแต่ละตัว จะเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความหมายของคำ ๆ นี้เลย แต่เป็นเพียงการยืมเสียงอ่านของคันจิมาใช้เท่านั้น คำลักษณะแบบนี้จะเรียกว่า 当て字 (ateji) ก็คือคำที่ใช้แค่เสียงอ่านจากคันจิโดยไม่เกี่ยวข้องกับความหมายนั่นเอง
จริง ๆ แล้วที่มาของคำว่า ちんぷんかんぷん นั้นไม่แน่นอน แต่ก็มีทฤษฎีที่กล่าวถึงอยู่บ้าง อย่างเช่นมีทฤษฎีหนึ่งบอกว่า มาจากภาษาจีน 2 คำ คือ 听不懂 อ่านว่า ทิงปู้ต่ง แปลว่า ฟังไม่เข้าใจ กับ 看不懂 อ่านว่า ค่านปู้ต่ง แปลว่า ดูไม่รู้เรื่อง เมื่อมารวมกันแล้วออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่น ก็จะกลายเป็น chinputon kanputon และเมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ย่อเหลือเพียง chinpunkanpun
มีอีกทฤษฎีเล่าว่าเป็นคำที่ใช้ในการเยาะเย้ยพวกนักปราชญ์ที่ชอบใช้คำศัพท์ยาก ๆ ในสมัยเอโดะ ในอดีต พวกนักปราชญ์ขงจื๊อมักจะใช้ภาษาจีนที่เข้าใจยาก จึงเกิดการคิดคำขึ้นมาเองเพื่อนำมาพูดล้อเลียน แต่บางทฤษฎีก็บอกว่าเป็นการพูดล้อเลียนภาษาของชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาในญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองทฤษฎีนี้ล้วนเกิดจากพวกชาวบ้านธรรมดาที่ไม่รู้หนังสือ
อีกคำหนึ่งที่มีความหมายคล้ายกันคือคำว่า とんちんかん (tonchinkan) หมายความว่า ไม่สมเหตุสมผล ไร้เหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะใช้กับคนที่มีการกระทำที่ขัดแย้ง ไม่เข้ากัน อีกทั้งยังใช้เมื่อการสนทนาพูดคุยไม่สอดคล้องกัน บางครั้งยังใช้หมายถึงเซ่อซ่า มีความหมายในเชิงดูถูกเหยียดหยามอีกฝ่ายที่ไม่เข้าใจ ไม่เก็ท ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร
ที่มาของคำว่า とんちんかん เป็นคำเลียนเสียงในการทำงานของช่างตีเหล็ก โดยเวลาที่ทำดาบ ช่างตีเหล็กจะต้องตีเหล็กให้ขึ้นเป็นรูปดาบ ในกระบวนการนั้นช่างที่เป็นอาจารย์หรือผู้ชำนาญกว่าจะเป็นคนที่ตีก่อน และลูกศิษย์ก็จะตีตามมาในจังหวะที่ว่างอยู่ แต่ถ้าจังหวะการตีไม่สอดคล้องกัน เสียงในการตีดาบก็จะแปลกไป กลายเป็นเสียง ตง จิง คัง ถ้าจังหวะการตีไม่เข้ากัน ก็จะไม่สามารถตีดาบออกมาได้ดี คำนี้จึงมักใช้เรียกคนที่มีลักษณะขัดแย้ง เลอะเทอะ ไม่เข้าร่องเข้ารอย
สรุปเนื้อหาจาก fundo