คนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นคงจะทราบกันดีใช่มั้ยคะว่า คำว่า “อากาศดี” ในภาษาญี่ปุ่นจะใช้คำว่า “天気がいい” (Tenki ga ii) ซึ่งก็แปลตรงตัวได้ว่าอากาศดีเหมือนในภาษาไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่าอากาศดีของคนไทยกับคนญี่ปุ่น เป็นอากาศในแบบเดียวกันรึเปล่านะ?
ในมุมของคนไทย ถ้าพูดถึงอากาศดี เราจะนึกถึงอากาศแบบไหนกันคะ? ส่วนใหญ่ก็คงจะเป็น
- อากาศที่ไม่ร้อนเกินไป
- มีลมพัดเย็น ๆ
- มีเมฆบ้าง
- มีแดดส่องเบา ๆ หรืออาจจะไม่มีแดด
หากคนญี่ปุ่นเห็นสภาพอากาศแบบนี้ก็อาจจะสงสัยนะคะว่าทำไมคนไทยถึงชอบอากาศแบบนี้ เนื่องจากว่าหากมีเมฆ อากาศก็จะดูอึมครึม ขมุกขมัว ไม่สดใส ดูไม่สดชื่น แต่ในมุมของคนญี่ปุ่น ถ้าพูดถึงอากาศดี อาจจะนึกถึงประมาณนี้ค่ะ
- อากาศที่ไม่หนาวไม่ร้อนเกินไป
- ท้องฟ้าแจ่มใส
- ไม่มีเมฆ หรือมีเมฆบ้างนิดหน่อย
- มีแดดส่อง
ซึ่งคนไทยเราก็อาจจะคิดไปเหมือนกันว่าอากาศดียังไง? มีแดดก็ร้อนจะตาย ทำให้ไม่อยากออกไปข้างนอกเลยแม้แต่นิดเดียว
ด้วยความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ที่ตั้งของประเทศ การรับรู้ทางสภาพอากาศจึงต่างกันไปด้วย สำหรับเมืองหนาวอย่างเกาะญี่ปุ่นนั้น ยิ่งในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศจะดูไม่สดใส ไม่ค่อยมีแดด มีเมฆมาก อากาศก็หนาวเย็นจนแทบจะไม่อยากออกจากผ้าห่ม คนญี่ปุ่นจึงชื่นชอบสภาพอากาศที่มีแดดส่องและท้องฟ้าปลอดโปร่งมากกว่า
แต่สำหรับเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เป็นที่รู้กันดีว่าแสงแดดแรงมากจนทำลายผิวได้ เดินออกไปไหนก็เหงื่อไหลไคลย้อยกันเป็นแถบ ๆ ราวกับนั่งอยู่ในซาวน่า ยิ่งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิก็ยิ่งสูงมาก คนไทยส่วนมากจึงชอบสภาพอากาศที่มีลมพัดผ่าน ไม่มีแดด เพราะทำให้รู้สึกสบายตัวมากกว่า
แม้จะพูดคำคำเดียวกันว่า “อากาศดี” แต่ด้วยความแตกต่างทางสภาพอากาศของแต่ละประเทศ คำว่า “อากาศดี” ก็แทบจะตรงข้ามกันเลยนะคะ จะเห็นได้ว่าภาษาเป็นสิ่งที่สะท้อนความคิด ความรู้สึก และวัฒนธรรมในชาตินั้น ๆ การเรียนรู้ภาษาควบคู่กับวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน มีหลายกรณีที่ถึงแม้จะใช้คำเดียวกัน แต่หากอีกฝ่ายมาจากต่างวัฒนธรรมต่างบริบท ก็อาจทำให้มีอิมเมจที่ต่างออกไปและเกิดปัญหาในการสื่อสารได้ การทำความเข้าใจในบริบทหรือมุมมองของอีกฝ่าย จะยิ่งช่วยให้สามารถสื่อสารกันได้ดีขึ้นด้วยค่ะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก thaislife