4 ภาษาถิ่นฮอกไกโดน่ารู้ ที่คนฮอกไกโดเองยังนึกว่าเป็นภาษากลาง!?

เมื่อไปท่องเที่ยวในภูมิภาคต่าง ๆ เรามักจะได้ยินภาษาถิ่นที่คนในท้องถิ่นนั้นพูดคุยกัน ภาษาถิ่นบางท้องที่ก็ฟังดูคล้ายกับภาษากลางมากจนคนในท้องถิ่นเองก็คิดว่านี่คือภาษากลาง แต่ความจริงกลับไม่ใช่ เราจะพาไปดูคำภาษาท้องถิ่นฮอกไกโดที่คนฮอกไกโดเองยังคิดว่าเป็นภาษากลาง จะมีคำไหนที่น่าสนใจบ้างนะ

てんきっといて (tenkittoite)

คำนี้คนฮอกไกโดมักจะใช้ดันเวลาเล่นไพ่ มาจากคำกริยา てんをきる (ten wo kiru) เป็นภาษาถิ่นฮอกไกโดที่หมายถึงการสับไพ่ บางครั้งก็ใช้ てんきる (tenkiru) หรือ てんきって (tenkitte)

ตัวอย่างที่ 1 : トランプ全然てんきれてないよ (toranpu zenzen tenkiretenaiyo)
ความหมาย : ไพ่ยังไม่ได้สับเลย
ตัวอย่างที่ 2 : 負けた人てんきって (maketa hito tenkitte)
ความหมาย : คนแพ้สับไพ่

จากภาษากลางที่ต้องพูดว่า トランプを混ぜて (toranpu wo mazete) พอพูดเป็นภาษาถิ่นสั้น ๆ ว่า てんきって ก็สะดวกดีเหมือนกันนะคะ

つっぺ (tsuppe)

คำนี้มักใช้เวลาที่เลือดกำเดาไหล ไม่เพียงแต่คนฮอกไกโดเท่านั้น แต่ในบางท้องที่ก็ใช้คำนี้ด้วยเช่นกัน คำนี้หมายถึงจุก (ที่ใช้ในการปิดรูสิ่งต่าง ๆ) หากเป็นคำกริยาจะใช้ つっぺする (tsuppe suru) จะตรงกับภาษาไทยว่า อุด(รู) หรือ ปิด, กั้น(ทางเข้าออก)

ตัวอย่างที่ 1 : 鼻につっぺしときなさい (hana ni tsuppeshitokinasai)
ความหมาย: อุดจมูกไว้ซะ (ด้วยทิชชู่ สำลี ฯลฯ)
ตัวอย่างที่ 2 : こぼれないように、ビンにつっぺして
ความหมาย : ปิดขวดไว้จะได้ไม่หก
ตัวอย่างที่ 3 : 買い物行くときは、裏の戸につっぺしていってね (kaimono iku toki wa, ura no to ni tsuppeshiteittene)
ความหมาย : เวลาไปซื้อของ เอาไม้กั้นที่ประตูหลังไว้ด้วยนะ

やめれ (yamere)

คนที่เคยอาศัยอยู่ในฮอกไกโด จะต้องเคยได้ยินคำนี้แน่นอน หากเป็นภาษากลาง จะใช้คำว่า やめろ (yamero) แต่สังเกตได้ว่าภาษาถิ่นฮอกไกโดมีการใช้ れ (re) ต่อท้ายเพื่อให้กลายเป็นรูปคำสั่ง จริง ๆ ในภาษาถิ่นฮอกไกโดคำอื่น ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็มักมีการเติม れ ต่อท้าย อย่าง 食べれ (tabere) และ すれ (sure)

ตัวอย่างที่ 1 : まかすからやめれ!(makasu kara yamere!)
ความหมาย : หยุด! เดี๋ยวมันจะหก
まかす (makasu) ในภาษากลางหมายถึง こぼす (kobosu) คือ ทำหกหรือทำให้เอ่อล้นออกมา
ตัวอย่างที่ 2 : はんかくさいからやめれ!(hankakusai kara yamere!)
ความหมาย : ไร้สาระ หยุดเถอะ!
はんかくさい (hankakusai) ในภาษากลางหมายถึง あほくさい (ahokusai) คือ ไร้สาระ โง่ บ้า

押ささった (osasatta), 書かさった (kakasatta)

〜さる (~saru) ที่อยู่ท้ายกริยาใช้เพื่อเน้นว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นจากความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ มันเกิดขึ้นเอง อย่างเวลาที่กดปุ่มรีโมทผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ ในภาษากลางจะใช้ 押しちゃった (oshichatta) ซึ่งจะให้ฟีลลิ่งเหมือนว่าเราเป็นคนผิด เราต้องรับผิดชอบ แต่หากเป็น 押ささった (osasatta) จะฟังเหมือนกับว่ามันเกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจทำมัน

ตัวอย่างที่ 1 : 書かさる (kakasaru)
เวลาที่ถือปากกาอยู่ในมือแล้วเหม่อไปด้วย และเผลอขีดเส้นลงไป กรณีนี้ก็จะพูดว่า 書かさっちゃった (kakasacchatta) เพื่อบ่งบอกว่าเราไม่ได้ตั้งใจขีดเส้นลงไป
ตัวอย่างที่ 2 : 撮らさる (torasaru)
ตอนที่ไปถ่ายรูปแล้วกดชัตเตอร์รัว ๆ ก็สามารถพูดว่า たくさん撮らさっちゃった (takusan torasacchatta) หรือถ้ารูปเบลอหรือภาพหลุดโฟกัสที่เราไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายให้เป็นแบบนี้ ก็สามารถใช้เป็น いつのまにか撮らさってたみたい (itsunomanika torasattetamitai)
ตัวอย่างที่ 3 : 送らさる (okurasaru)
ตอนที่กำลังแชทกับเพื่อนแต่บังเอิญเผลอไปกดส่ง ก็อาจจะมีอุทานในใจว่า やば、送らさっちゃった (yaba, okurasacchatta)

เห็นได้ว่าสามารถใช้กับความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นการกลบเกลื่อนได้ แต่หากเป็นการกระทำที่เราตั้งใจให้เกิดขึ้นหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ก็ไม่ควรใช้จะดีกว่า

เรียกได้ว่าแต่ละคำนี้น่าสนใจมากจนอาจจะสามารถนำมาใช้เป็นภาษากลางได้ หากลองใช้ในการสนทนากับคนที่ไม่ได้อยู่ในฮอกไกโด ก็น่าจะมีสีสันขึ้นนะคะ ^^

สรุปเนื้อหาจาก gunosy

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save