ถ้าใครเคยดูละครญี่ปุ่นน่าจะเคยสังเกตว่าก่อนทานอะไรก็แล้วแต่คนญี่ปุ่นจะพนมมือพร้อมกับพูดว่า “อิตาดาคิมัส (Itadakimasu, いただきます)” ถ้าจะให้แปลเป็นไทยแบบง่ายๆ ก็แปลได้ว่า “ขอทานนะคะ/ครับ” หรือ “จะทานละนะคะ/ครับ” แต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่า ภายใต้คำพูดง่ายๆ และคำแปลง่ายๆ นี้ มีความหมายที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่
บทความนี้จะขออธิบายความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำว่า “อิตาดาคิมัส” พออ่านจบแล้วเชื่อว่าทุกคนจะได้ซึมซับกับความหมายของคำๆ นี้ได้มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “อิตาดาคิมัส” ที่คนญี่ปุ่นพูดก่อนทานอาหาร
ความหมายที่ 1 พูดเพื่อขอบคุณ “คน” ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ทานในมื้อนั้นๆ
พูดว่า “อิตาดาคิมัส” เพื่อแสดงออกถึงการนึกถึงบุญคุณและขอบคุณทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับอาหารนั้นทั้ง คนทำอาหาร, คนเสิร์ฟอาหาร, คนปลูกผักที่เป็นวัตถุดิบของอาหาร, คนจับปลา เป็นต้น
ความหมายที่ 2 พูดเพื่อขอบคุณ “วัตถุดิบอาหาร”
คนญี่ปุ่นจะมีความคิดที่ว่า ไม่ว่าเนื้อหรือปลาต่างๆ ผักและผลไม้ ล้วนแล้วมี “ชีวิต” ด้วยกันทั้งหมด คนญี่ปุ่นจึงขอบคุณวัตถุดิบทุกอย่างที่นำมาทำเป็นอาหาร โดยมีนัยยะที่ว่า “ฉันขอชีวิตของ…ให้มาเป็นชีวิตของฉัน” เช่น “ฉันขอชีวิตของกะหล่ำปลีให้มาเป็นชีวิตของฉัน” ฟังแล้วอาจรู้สึกแปลกๆ แต่ความหมายนี้แหละที่ว่ากันว่าเป็นความหมายที่แท้จริงของคำว่า “อิตาดาคิมัส”
แถมท้าย ความหมายของคำว่า “โกะจิโซซามะ (Gochisosama, ごちそうさま)”
คำว่า “อิตาดาคิมัส” มักจะมาคู่กับคำว่า “โกะจิโซซามะ” คำนี้ใช้พูดเมื่อทานอาหารอิ่มแล้ว ความหมายของคำนี้ก็ใช้เพื่อขอบคุณคนที่เตรียมอาหารให้เราทานจนอิ่มนั่นเอง สมัยก่อนไม่สะดวกสบายเท่าสมัยนี้ คนเตรียมอาหารรับรองแขกต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการหาวัตถุดิบมาทำเป็นอาหาร คำนี้จึงใช้พูดเพื่อขอบคุณคนเตรียมอาหารที่ต้องลำบากเตรียมอาหารให้เรา และกลายมาเป็นคำพูดขอบคุณหลังจากทานอาหารอิ่มมาจนถึงทุกวันนี้ คำนี้ถ้าจะให้เพราะมากขึ้นควรใส่คำว่า “เดส” ไว้ที่ท้ายคำนี้ด้วยจะกลายเป็น “โกะจิโซซามะเดส”
แค่คำสั้นๆ สองคำก็แสดงออกถึงทัศนคติ วัฒนธรรมการกิน และนิสัยของคนญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีเลยว่าไหมคะ ในภาษาไทยของเราแม้จะไม่ได้มีคำเหล่านี้ไว้พูด แต่ผู้เขียนคิดว่าแนวคิดเกี่ยวกับการระลึกถึงบุญคุณคนนั้นมีอยู่ในสายเลือดของคนไทยอยู่แล้ว แต่การระลึกถึงบุญคุณของวัตถุดิบอาหาร หรือการขอบคุณส่ิงของของคนญี่ปุ่น ผู้เขียนคิดว่าแปลกดี และคิดว่าเป็นส่ิงที่ดีงามน่าเอาเป็นแบบอย่างและน่านำไปสอนลูกหลานนะคะ ว่ามั้ยคะ
สรุปเนื้อหาจาก : allabout