ในภาษาญี่ปุ่น มีตัวอักษรคันจิมากมายหลายตัวที่สามารถอ่านได้เหมือนกันว่า かかわる (kakawaru) แต่ตัวคันจิหลัก ๆ ที่คนญี่ปุ่นใช้และคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นก็น่าจะเห็นกันบ่อย ๆ ก็คือตัว 関わる และ 係る ทั้ง 2 ตัวนี้ ถึงแม้จะมีความหมายเหมือนกัน แต่ก็มีอะไรที่ต่างกันอยู่ เราไปเรียนรู้เกี่ยวกับคำว่า かかわるให้มากขึ้นกันค่ะ
ทั้ง 関わる และ 係る สามารถอ่านได้เหมือนกันว่า かかわる (kakawaru) มีความหมายโดยทั่วไปคือ เกี่ยวข้อง, เกี่ยวกับ นอกจากนี้ยังมีตัว 拘る ซึ่งก็อ่านเหมือนกันได้อีกด้วย แต่คันจิตัวนี้จะหมายถึงการใส่ใจในสิ่งที่ไม่จำเป็นขนาดนั้น หรือก็คือการเอาใจใส่ พิถีพิถัน เพิ่มเติมหรือแก้ไขเข้าไปมากกว่าความจำเป็น ตัว 拘る สามารถอ่านได้อีกอย่างว่า こだわる (kodawaro) โดยเราจะคุ้นชินกับการอ่านว่า こだわる มากกว่า かかわる
สำหรับเอกสารทั่วไปหรือเอกสารราชการ ปกติแล้วจะใช้ตัว 関わる เป็นหลัก เนื่องจากเป็นคันจิที่อยู่ในลิสท์ของโจโยคันจิ หรือคันจิที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งกำหนดขึ้นโดยกระทรวงศึกษา แต่ตัว 係る ไม่ได้อยู่ในลิสท์ของโจโยคันจิ จึงไม่นิยมใช้ตัวนี้กัน ดังนั้น ส่วนใหญ่คำว่า かかわる จึงมีแนวโน้มจะใช้คันจิ 関わる กันเสียมากกว่า
แต่ 2 ตัวนี้ก็มีการแยกใช้กันบ้างในบางกรณี ตัวอย่างเช่น หากพูดถึงการมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เรื่องราวทั่วไป จะใช้ 関わる แต่หากพูดถึงการมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับชีวิต จะใช้ 係る นอกจากนี้ยังสามารถใช้ 係る เพื่อเน้นย้ำสิ่งที่พิเศษหรือข้อยกเว้นได้อีกด้วย
ดังที่กล่าวไป ทุกวันนี้ คำว่า かかわる มีทั้งคันจิตัว 関わる และ 係る แต่ในอดีต คนญี่ปุ่นใช้คำนี้เป็นตัวอักษรฮิรางานะเท่านั้น ยังไม่มีการใช้เป็นคันจิแต่อย่างใด แถมโจโยคันจิที่ประกาศออกมาในปี 1981 ก็ยังไม่มีคันจิตัว 関わる อยู่ในลิสท์ ทำให้ในอดีตจึงใช้เป็นตัวฮิรางานะเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อมีการแก้ไขโจโยคันจิในปี 2010 ทางกระทรวงก็ได้เพิ่มคันจิตัว 関わる เข้าไป ทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มหันมาใช้คำว่า かかわる เป็นตัวคันจิ 関わる แทน
สำหรับตัวคันจิ 係る ไม่ใช่แค่อ่านว่า かかわる ได้เท่านั้น แต่สามารถอ่านว่า かかる (kakaru) ได้อีกด้วย และแน่นอนว่า คำอ่านเปลี่ยน ความหมายก็เปลี่ยน โดยหากอ่านเป็น かかる จะแปลว่า แบบนี้, อย่างนี้ อย่างเช่นวลี 係る所業 หมายความว่า พฤติกรรมแบบนี้
ไหน ๆ ก็พูดถึงคำว่า かかる แล้ว ก็จะขอเสริมตัวคันจิอื่น ๆ ที่อ่านว่า かかる ได้เหมือนกัน ซึ่งก็มีดังนี้
- 掛かる
ตัวนี้แปลว่า แขวน, ห้อย หมายถึงอะไรสักอย่างที่ห้อยย้อยลงมา โดยทั่วไป เมื่อพูดถึงคำว่า かかる คนก็จะนึกถึงคันจิตัวนี้เป็นพื้นฐาน นอกจากนี้ยังใช้ในความหมายว่า ขึ้นอยู่กับอะไรบางอย่าง รวมถึงแปลว่า (เครื่องจักร) เริ่มทำงาน, การเดินเครื่อง - 架かる
ตัวนี้แปลว่า ทอด แต่ไม่ใช่ทอดในกระทะนะคะ หมายถึงการทอดข้าม ใช้พูดถึงเวลาที่มีวัตถุยาว ๆ พาดจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง อย่างเช่น ทอดสะพาน หรือใช้กับรุ้ง สายรุ้งทอดยาว ก็ใช้คันจิตัวนี้เช่นกัน - 罹る
ตัวนี้แปลว่า ป่วย หมายถึงการป่วย ติด หรือเป็นโรคอะไรบางอย่าง หลาย ๆ ครั้งก็ใช้ในกรณีที่นอนป่วยอยู่กับเตียงเนื่องจากสภาพร่างกายไม่ดี มีคำที่ความหมายเหมือนกันคือ 病む (yamu) และ 患う (wazurau) - 懸る
ตัวนี้จะเหมือนกับ 掛かる คือแปลว่า แขวน, ห้อย หรือการตั้งอยู่บนที่สูง เช่น พระจันทร์อยู่บนท้องฟ้า นอกจากนี้ยังใช้ในความหมายว่า ขึ้นอยู่กับอะไรบางอย่าง
สรุปเนื้อหาจาก fundo