สำหรับผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่น เรามันจะทราบกันว่าตัวอักษร 「日本」นั้นอ่านออกเสียงว่า “นิฮง” หรือทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า NIHON แต่ในขณะที่บางสื่อหรือบางหน่วยงานที่ใช้อักษร「日本」กลับใช้คำว่าอ่านว่า “นิปปง” หรือทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า NIPPON เช่น Bank of Japan (日本銀行) หรือธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น แทนที่จะอ่านออกเสียงว่า “นิฮงกิงโก” กลับออกเสียงว่า “นิปปงกิงโก”
อีกตัวอย่างหนึ่ง 日本列島 ที่แปลว่า เกาะญี่ปุ่น สำหรับใช้เรียกรวมทุกเกาะในญี่ปุ่นโดยไม่แยกว่านี่เป็นเกาะฮอกไก หรือเกาะฮอนชู ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี่คือญี่ปุ่น ก็ดันมีคำอ่านชวนให้สับสนทั้ง 2 แบบก็คือ “นิงฮงเรตโต” และ “นิปปงเรตโต” แล้วตกลงว่าชื่อประเทศญี่ปุ่น 「日本」นั้น อ่านว่าอะไรกันแน่?
ต้นกำเนิดของคำว่า “นิปปง” มาจากไหน?
ในสมัยเฮอัน (794 AD – 1185) หรือประมาณพันปีก่อน เป็นยุคที่จีนเจริญรุ่งเรืองและได้เริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาะญี่ปุ่น ซึ่งภาษาจีนในสมัยนั้นเขียนชื่อประเทศญี่ปุ่นด้วยอักษรคันจิ 2 ตัวคือ 「日 = เนี้ยตโตะ」ที่แปลว่า วัน/ดวงอาทิตย์「本 = ปวง」ที่แปลว่าหนังสือ เรื่อยมาจนเป็นเพี้ยนจากคำว่า “เนี้ยตโตะปวง” มาเป็นคำว่า “นิปปง” แม้ว่า ชาวจีนในปัจจุบันจะได้เปลี่ยนคำเรียกประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว จาก “เนี๊ยตโตะปวง” หรือ “นิปปง” มาเป็น “ยื่อเปิ่น” ซึ่งตรงกับคำอ่านของอักษร 2 ตัว 「日本」ในภาษาจีนกลางปัจจุบัน
ดังนั้น หลาย ๆ ทฤษฎีจึงเชื่อว่า คำอ่าน「日本」ว่า “นิปปง” นั้น ชาวญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากชื่อที่ชาวจีนใช้เรียกชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยเฮอันนั่นเอง
แล้วต้นกำเนิดของคำว่าว่า “นิฮง” หละมาจากไหน?
หลายทฤษฎีเชื่อว่า คำอ่านว่า “นิฮง” นี้ เริ่มมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) โดยเด็กในสมัยนั้นเวลาพูดจะพูดเร็วค่ะ ทำให้เสียงเพี้ยนจาก「นิปปง → นิฟวง → นิฮง」ในที่สุด
ดังนั้น พื้นที่ทางทิศตะวันออกของเมืองเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบัน จึงเรียกชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่เขียนด้วยอักษร 「日本」ว่า นิฮง เช่น 「日本橋」ย่านการค้าที่ถัดออกมาจากกินซ่า ก็มีชื่อเรียกว่า “นิฮงบาชิ” ไม่ใช่ “นิปปงบาชิ”
ในทางตรงกันข้าม พื้นที่ทางทิศตะวันตกของเมืองเอโดะ อย่างโอซาก้าและเกียวโตนั้น จะอ่านออกเสียงคำว่า 「日本」ว่า นิปปง ตามแบบดั้งเดิม แม้แต่คำว่า 「日本橋」ชาวโอซาก้าก็ยังออกเสียงเป็น “นิปปงบาชิ” (หมายถึงย่านนิปปงบาชิในโอซาก้า) ไม่ใช่ “นิฮงบาชิ” เหมือนที่คนฝั่งโตเกียวเรียกกัน
การโต้เถียงเรื่องคำอ่าน “นิปปง” และ “นิฮง” ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ในสมัยโชวะ (ค.ศ. 1926-1988) เริ่มมีการโต้เถียงกันถึงชื่อเรียกของประเทศญี่ปุ่นทั้ง 2 แบบ นั่นก็คือ “นิปปง” และ “นิฮง”
ข้อพิพาทครั้งที่ 1: ปีโชวะที่ 9 (ค.ศ. 1934)
ได้มีการรวบรวมข้อเสนอ “รวมชื่อประเทศญี่ปุ่นเข้าด้วยกันเถอะ” ไปยังรัฐบาล โดยมีการยื่นข้อเสนอเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า「国の呼び方をニッポンに統一しよう/ kuni no yobikata wo NIPPON ni tou-itsu shiyou」(สังเกตว่า ข้อเสนอนี้ก็ยังในคำว่า “นิปปง” ในข้อเสนออยู่ดี ) และก็ไม่ได้มีบทสรุปออกมาแต่อย่างใด
ข้อพิพาทครั้งที่ 2: ปีโชวะที่ 45 (ค.ศ. 1970)
ได้มีการนำข้อเสนอ “รวมชื่อประเทศญี่ปุ่นเข้าด้วยกันเถอะ” ในปีค.ศ. 1934 กลับมาถกกันอีกรอบ ก่อนที่จะมีการจัดงาน Japan Exposition (Osaka Expo) ว่าควรจะเรียกชื่อญี่ปุ่นว่าอะไร แต่สุดท้ายข้อพิพาทครั้งนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปออกมาเช่นเดิม
ข้อพิพาทครั้งที่ 3: ปีเฮเซที่ 21 (ค.ศ. 2009)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรค LDP ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีถึงข้อถกเถียงที่มีมาอย่างยาวนานว่า จริง ๆ เราควรเรียกชื่อประเทศญี่ปุ่นว่า “นิปปง” หรือ “นิฮง”กันแน่ ซึ่งได้รับคำว่าตอบว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องมาเถียงกันเรื่องนี้ จะอ่านว่าอะไรมันก็แปลว่าญี่ปุ่นเหมือนกันนั่นแหละ (อ้าว ท่านนายกตัดจบข้อถกเถียงที่มีมาอย่างยาวนานแบบนี้เลยค่ะ)
สรุปว่า จะอ่านว่า “นิปปง” หรือ “นิฮง” ก็ได้แล้วแต่ถนัด แต่หนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่นส่วนใหญ่ หรือแม้กระทั่งเล่มพื้นฐานอย่าง “มินนะ โนะ นิฮงโกะ” จะเขียนคำอ่านให้เราอ่าน「日本」ว่า “นิฮง” นะคะ ในขณะที่คู่มือผู้ประกาศข่าวของ NHK นั้น สถานการณ์ทั่วไปให้อ่านว่า “นิปปง” หรือ “นิฮง” ก็ได้ แต่ในการประชุมระดับประเทศหรือระดับนานาชาตินั้น ต้องอ่านออกเสียงว่า “นิปปง” ยกตัวอย่างเช่น กีฬาโอลิมปิก ที่ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ หากมีการกล่าวถึงญี่ปุ่นในข่าว ต้องอ่านว่า “นิปปง”
ส่วนตัวผู้เขียนเอง เมื่อปี 2016 ในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ก่อน ผู้เขียนเคยไปรอต้อนรับและฟังพระราชปฏิสันฐานจากสมเด็จพระจักพรรดิองค์ก่อน พระองค์เองก็ยังเรียกประเทศตัวเองว่าเป็น “นิปปง” โดยใช้คำตามแบบดั้งเดิมอยู่นะคะ แล้วเพื่อน ๆ ที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่หละ อ่านออกเสียงคำว่า「日本」ว่าอะไร?
อ้างอิงเนื้อหาจาก: dogatch
ผู้เขียน: A Housewife Wannabe