เคยไหม? เมื่อซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นและพนักงานถามว่า “รับถุงพลาสติกไหมคะ / ครับ?” คนญี่ปุ่นตอบว่า “ii desu” ที่ปกติน่าจะแสดงความหมายเห็นด้วยแต่พนักงานกลับเก็บถุงพลาสติกไป หรือบางครั้งเมื่อเราเก็บของที่ตกให้กับคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นกลับเอ่ยว่า “sumimasen” ที่หมายถึงการขอโทษได้เช่นกัน
คำเหล่านี้มักดูเหมือนจะเรียบง่าย แต่เมื่อนำไปใช้จริงเรากลับพบว่า “คำง่ายๆ ” เหล่านี้สามารถเปลี่ยนความหมายไปตามบริบทได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราลองมาดูตัวอย่างที่น่าสนใจของคำเหล่านี้ในภาษาญี่ปุ่นกัน
ii (いい)
ii คงจะเป็นคำแรกๆ ที่เราได้เรียนกันเมื่อเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น ซึ่ง ii สามารถมีความหมายได้ทั้ง “ดี” และใช้ปฏิเสธว่า “ไม่เป็นไร” ได้ด้วย
sumimasen (すみません)
sumimasen เป็นคำหนึ่งที่ค่อนข้างสะดวกและสามารถใช้ได้หลากหลาย โดยสามารถใช้ได้ทั้งเพื่อขอโทษในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือใช้เพื่อแสดงความขอบคุณที่แฝงด้วยคำขอโทษที่อีกฝ่ายเป็นธุระให้ และสามารถใช้เรียกทักผู้อื่นได้
sumimasen สามารถเขียนได้ด้วยคันจิ “済む” หรือ “澄む” ซึ่งทั้งสองคำนี้อ่านเหมือนกันว่า “sumu” โดย “済む” คำแรกมีความหมายว่า “เสร็จสิ้น” และ “澄む” คำที่สองมีความหมายว่า “สดใส” และเนื่องจากมีคันจิสองตัว ทำให้ความหมายของคำว่า sumimasen สามารถตีความหมายได้ทั้งสองอย่าง นั่นคือ “ความรู้สึกของฉันไม่มีวันสิ้นสุด” หรือ “ความรู้สึกของฉันไม่มีวันกลับมาสดใส” ซึ่งความหมายที่แฝงอยู่นี้ ต่างแสดงถึงความรู้สึกขอบคุณหรือขอโทษของผู้พูดที่ไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง
umai (うまい)
umai สามารถเขียนได้ด้วยคันจิ 上手い ที่หมายถึงการมีฝีมือ ทำให้ umai สามารถใช้กล่าวชมผู้อื่นว่ามีฝีมือหรือเก่งได้ หรือสามารถใช้ชมอาหารว่าอร่อยได้เช่นกัน เพราะการที่อาหารอร่อยหมายถึงพ่อครัว / แม่ครัวที่มีฝีมือนั่นเอง
sugoi (すごい)
sugoi เป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยกันมากที่สุดคำหนึ่งในฐานะคำอุทานของคนญี่ปุ่นที่แสดงความรู้สึกประทับใจ นอกจากนี้ sugoi ยังเป็นคำ Adjective ที่ใช้เพื่อแสดงความหมาย “มากๆ ” ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบได้อีกด้วย
yabai (やばい)
yabai โดยปกติหมายถึง “อันตราย” “ไม่ได้การ” หรือ “แย่แล้ว” แต่ปัจจุบันถูกนำมาใช้เป็นคำแสลงที่หมายถึง “เยี่ยม” หรือ “เจ๋ง” ได้อีกด้วย คล้ายกับคำว่า “Wicked” ในภาษาอังกฤษที่เดิมทีหมายถึง “ร้ายกาจ” แต่สามารถถูกใช้ในความหมาย “เยี่ยม” ได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของคำที่ดูเหมือนง่ายแต่ใช้ได้หลากหลายในภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากการทำความเข้าใจคำเหล่านี้จะช่วยให้เราได้รู้จักลูกเล่นสนุกๆ ในการใช้คำภาษาญี่ปุ่นแล้ว เรายังได้เข้าใจแนวคิดญี่ปุ่นเบื้องหลังคำเหล่านี้อีกด้วย ว่าแต่มีคำไหนอีกบ้างที่เพื่อนๆ รู้สึกว่ากำกวมในภาษาญี่ปุ่น? มาแบ่งปันความเห็นกันได้นะคะ