ถ้าพูดถึงงานกีฬาสีเพื่อน ๆ นึกถึงอะไรบ้างคะ ถ้าที่ไทยคงจะเป็น เชียร์ลีดเดอร์ สแตนด์เชียร์ การแข่งฟุตบอล ใช่ไหมละคะ ที่ญี่ปุ่นเขาก็มีงานกีฬาสีเหมือนกันนะ เรียกว่า “ไทอิคุไซ” (体育祭) แต่ที่น่าสนใจคือกีฬาที่แข่งกันจะไม่ใช่กีฬาแบบที่คนไทยเราคุ้นเคย ออกจะเป็นการละเล่นเสียมากกว่า ส่วนงานแข่งกีฬาอย่างพวกฟุตบอล บาสเกตบอล แฮนด์บอล เขาก็มีเหมือนกัน แต่จะเรียกว่าคิวกิไทไก (球技大会) ซึ่งจัดแยกจากไทอิคุไซอีกทีหนึ่ง วันนี้เราจะพาไปดูว่าเด็กนักเรียนมัธยมญี่ปุ่นแข่งขันอะไรกันบ้างในไทอิคุไซ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าประเภทกีฬาที่หยิบยกมาให้ดูในบทความนี้เป็นกีฬาที่โรงเรียนมัธยมของผู้เขียนและเพื่อนของผู้เขียนได้จัดการแข่งขัน โรงเรียนอื่น ๆ อาจจะมีประเภทกีฬาหรือกติกาการแข่งขันที่แตกต่างกันออกไปได้นะคะ ว่าแล้วก็เปลี่ยนชุดพละแล้วไปลุยกันเลยค่ะ
ทามะอิเระ (玉入れ)
มาเริ่มกันที่กีฬาเบา ๆ กันก่อนอย่าง ทามะอิเระ หรือแปลเป็นไทยง่าย ๆ คือโยนบอลใส่ตะกร้า ที่โรงเรียนมัธยมของผู้เขียนกีฬาประเภทนี้จะเป็นการแข่งขันของนักเรียนหญิง โดยแต่ละทีมจะมีเสาสูงที่ติดถุงตาข่ายข้างบนเป็นของตัวเอง รอบ ๆ เสานั้นจะมีลูกบอลวางกระจายกันอยู่ พอกรรมการให้สัญญาณ เหล่าสมาชิกของแต่ละทีมต้องพยายามหยิบและโยนบอลให้เข้าตาข่ายของตัวเองให้ได้มากที่สุด พอหมดเวลาแล้วก็ค่อยมานับจำนวนบอลในตาข่ายกัน ใครได้เยอะกว่าก็ชนะไป กีฬาชนิดนี้จะไม่มีการปะทะกัน เพียงแต่ต้องการความพยายามของผู้เล่นแต่ละทีมเท่านั้น ทำให้ปลอดภัยสำหรับนักเรียนหญิงค่ะ
คิบะเซ็น (騎馬戦)
ต่อไปเป็นกีฬาที่อันตรายขึ้นมานิดหนึ่ง โดยเป็นประเภทการแข่งขันของนักเรียนชายค่ะ คิบะเซ็น แปลง่าย ๆ คือขี่ม้าทำสงคราม ส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นฐาน หรือม้าในที่นี้จะมีจำนวน 3-5 คน แล้วแต่โรงเรียน จะต้องแบกนักรบ หรือคนที่นั่งอยู่บนสุด 1 คน พาเคลื่อนไหวไปในสนามแข่งเพื่อปะทะกับทีมคู่ต่อสู้ หากนักรบคนไหนมือแตะพื้น หรือโดนแย่งผ้าที่ผูกอยู่บนหัวไปก็ถือว่าทีมนั้นแพ้ไปเลย ในการแข่งขันจริง ๆ กีฬาชนิดนี้ถือว่าดุเดือดเลยทีเดียว คนที่ถูกเลือกเป็นนักรบมักจะเป็นนักเรียนชายที่อยู่ชมรมยูโดหรือไม่ก็คนที่เล่นกีฬามีกล้ามเป็นมัด ๆ เพื่อจะได้ต่อกรกับทีมอื่นได้ค่ะ
มุคาเดะเคียวโซ (ムカデ競走)
กีฬาที่เน้นเสริมสร้างความสามัคคีอย่างมุคาเดะเคียวโซ มักถูกใช้เป็นประเภทกีฬาที่แข่งขันกันทั้งห้อง ใช้ผู้เล่นเยอะ ๆ แปลเป็นไทยได้ง่าย ๆ ว่า วิ่งแข่งตะขาบ โดยนักเรียนทั้งห้อง (ประมาณ 40 คน) จะต้องต่อแถวยาวเรียงหนึ่ง แล้วผูกขาตัวเองเข้ากับขาเพื่อนข้างหน้า เวลาเคลื่อนไหวต้องให้สัญญาณ หนึ่ง! สอง! เพื่อให้ทุกคนก้าวขวาซ้ายไปพร้อม ๆ กัน ทีมไหนวิ่งเข้าเส้นชัยได้ก่อนถือเป็นผู้ชนะไป กีฬาชนิดนี้ใช้ผู้เข้าแข่งขันเยอะ ต้องใช้เวลาฝึกซ้อม และใช้ความร่วมมือร่วมในของเพื่อน ๆ ทั้งห้องเลยล่ะค่ะ
สึนะโดริ (綱取り)
สึนะโดริ หรือชักเย่อ เป็นกีฬาที่ประเทศไทยเราใช้แข่งเหมือนกัน โรงเรียนของผู้เขียนก็ใช้กติกาเหมือนเมืองไทยนี่แหละค่ะ ทีมไหนสามารถดึงเชือกผ่านเส้นที่กำหนดไว้ได้ก่อนถือว่าชนะไป แต่ที่น่าสนใจคือโรงเรียนชายล้วนแนวหน้าของญี่ปุ่นอย่างโรงเรียนไคเซ (開成高校) มีกติกาที่แตกต่างออกไป ไม่ใช่การดึงเชือก และเป็นการดันเชือกค่ะ แต่ละทีมจะตั้งแถวเรียงหน้ากระดาน แล้วพยายามดันเชือกจากด้านข้างให้เข้าไปในฝั่งของตัวเอง ใครทำได้ก่อนถือว่าชนะไป เพื่อนที่มาจากโรงเรียนไคเซบอกว่าที่กติกาเป็นแบบนี้เพราะพวกเขาคิดว่าการดันสามารถแสดงความแข็งเกร่งได้มากกว่าการดึงค่ะ
โบทาโอชิ (棒倒し)
มาถึงกีฬาสุดอันตรายที่เป็นไคลแม็กซ์ของไคอิคุไซอย่าง โบทาโอชิ หรือ แข่งล้มเสา แน่นอนว่าเป็นการแข่งขันของนักเรียนชายค่ะ แต่ละทีมจะมีเสาสูงเป็นของตัวเอง มีเหล่าสมาชิกที่คอยรองรับปกป้องเสาของตัวเอง และเหล่าสมาชิกที่วิ่งไปพยายามล้มเสาของทีมคู่ต่อสู้ มองเผิน ๆ เหมือนเป็นการต่อสู้ที่ใช้พละกำลัง แต่ความจริงแล้วจะต้องมีการวางแผนที่ดีว่าจะให้ใครปกป้องเสา จะให้ใครไปล้มเสาฝั่งตรงข้าม นอกจากนี้ ยังต้องคิดรูปแบบการวางกำลังพลเพื่อปกป้องเสาว่ารูปแบบไหนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกด้วย บอกเลยว่าเพื่อน ๆ ที่แข่งโบทาโอชินี้กลับมาด้วยสภาพยับเยินคลุกฝุ่นกันทุกคน
โอเอ็งกัตเซ็น (応援合戦)
ถ้าที่ไทยมีเชียร์ลีดเดอร์กับสแตนเชียร์ ที่ญี่ปุ่นก็มีโอเอ็งกัตเซ็นค่ะ เป็นการแข่งขันเชียร์ แต่จุดแตกต่างคือไม่ได้เต้นหรือใส่เสื้อผ้าทันสมัยแบบเมืองไทย แต่คนที่อยู่ในทีมโอเอ็งไม่ว่าจะหญิงหรือชายจะใส่กักกุรัน หรือ ชุดนักเรียนชายญี่ปุ่น แล้วออกมาแสดงท่าทางเข้มแข็ง ส่งเสียงคำเชียร์ที่ห้าวหาญ บางทีมอาจมีอุปกรณ์เสริมอย่างธงและพัด ทีมไหนทำได้เข้มแข็งปลุกใจได้มากที่สุดก็คือว่าชนะไป ส่วนโรงเรียนของผู้เขียนนั้น นอกจากจะมีโอเอ็งกัตเซ็นแล้วยังมีการแข่งขันเต้นที่นักเรียนเกือบทั้งห้องต้องร่วมแรงร่วมใจกันฝึกซ้อมด้วย แต่ที่ต่างจากเชียร์ลีดเดอร์ประเทศไทยคือไม่ได้เน้นความสวยงาม ไม่ได้มีรุ่นพี่หรือศิษย์เก่ามาฝึกสอน ไม่ได้ซ้อมจนดึกดื่นหรือซ้อมถึงวันเสาร์อาทิตย์ และไม่ได้เลือกเสื้อผ้าสวยหรู แต่จะเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกันช่วยกันคิดช่วยกันฝึกซ้อมในเวลาที่โรงเรียนกำหนด และชุดก็คือชุดพละธรรมดาเท่านั้นค่ะ
แม้ว่าประเภทกีฬา กติกา และรูปแบบการแข่งขันจะแตกต่างกัน แต่ผู้เขียนเชื่อว่างานกีฬาสีไม่ว่าจะประเทศไหนก็เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างเพื่อนพ้อง รู้จักแพ้ชนะ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และส่งผลดีต่อสุขภาพค่ะ ไม่ว่าจะแข่งกันจะเป็นจะตายแค่ไหน สุดท้ายเราก็จับมือร้องเพลงด้วยกัน แล้วแยกย้ายกลับบ้านด้วยหยาดเหงื่อและฝุ่นโคลน เป็นความประทับใจที่หลาย ๆ คนไม่อาจลืมได้เลยค่ะ