สำหรับใครที่โตมากับนิยายแจ่มใสและนิยาย Dek-d น่าจะคุ้นเคยดีกับนามปากกา “เจ้าหญิงผู้เลอโฉม” ของ “คุณอาย” นักเขียนคนไทยที่เข้าสู่โลกของการเป็นนักเขียนตั้งแต่อายุ 12 ปี และฝากผลงานไว้ในใจนักอ่านมานับไม่ถ้วน ในโอกาสนี้ที่ซีรี่ย์ใหม่จาก GMMTV “นายคะอย่ามาอ่อย” กำลังจะเปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2020 นี้ ANNGLE ถือโอกาสต่อสายพูดคุยกับเจ้าหญิงผู้เลอโฉมเพื่อสัมภาษณ์ทำความรู้จักในฐานะนักเขียนและคนไทยที่ทำงานกับคนญี่ปุ่น รวมถึงเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังต่างๆ ในชีวิตนักเขียนของเจ้าหญิงผู้เลอโฉมด้วยค่ะ
เราเริ่มการเป็นนักเขียนอย่างไร มีใครเป็นแรงบันดาลใจ?
“เราเป็นคนชอบอ่านนิยายตั้งแต่สมัยเด็กน้อยเลย คุณพ่อเขาชอบอ่านหนังสืออย่างพล นิกร กิมหงวน เขาทิ้งไว้ในบ้านเราก็หยิบมาอ่าน ก็เลยชอบการอ่านมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่พอโตขึ้นมาก็มีแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนังสือราคาแพงเล่มแรกที่เราขอให้พ่อแม่ซื้อให้ ตอนแรกเขาก็บอกว่า เล่มหนาขนาดนั้นจะไปอ่านจบได้ยังไง ไม่ต้องอ่านหรอก ปรากฏว่าเราชอบ พอชอบปุ๊บก็เข้าสู่วงการการอ่าน อ่านเยอะมาก ตั้งแต่แฮร์รี่, ไวท์โร้ด, ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์
พอขึ้นม.ต้น อายุ 12-13 เพื่อนก็เริ่มดึงเข้าวงการนิยายรัก ตอนนั้นแจ่มใสเพิ่งทำนิยายแปลเกาหลี เรื่องหนุ่มฮอตสาวเฮี้ยว รักเปรี้ยวอมหวาน แต่มันเป็นนิยายรัก ปกติเราจะอ่านแนวแฟนตาซีอย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ พอมาเจอเราก็เลยแอนตี้ แต่เพื่อนก็บอกว่าสนุกมาก บังคับให้เราไปอ่าน พออ่านปุ๊บ ติด แล้วก็ไปหาเรื่องอื่นมาอ่านด้วย ก็อุ๊ย ชอบ นี่แหละ ทางของเรา สมัยนั้นแจ่มใสเขามีเปิดเว็บไซต์ให้ไปลงนิยายได้ สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครเขียนเท่าไหร่ เราเป็นรุ่นแรกๆ ที่ไปลงพร้อมๆ กับรุ่นแสตมป์เบอรี่ บ.ก.เข้าก็มาอ่าน เขาสนใจแล้วติดต่อมา ซึ่งเล่มแรกที่พิมพ์คือตอนอายุ 12 ชื่อเรื่องปิ๊งรักร้ายนายตัวแสบ”
ที่มาของนามปากกา “เจ้าหญิงผู้เลอโฉม”?
อย่างที่บอกว่าเริ่มเขียนตอนอายุ 12 นามปากกาก็ได้มาโดยความเด็ก เราอ่านชีวประวัติเจ้าหญิงไดอาน่า เขาเขียนว่าเจ้าหญิงไดอาน่าเป็นเจ้าหญิงผู้เลอโฉม เราเห็นเจ้าหญิงไดอาน่าเป็นไอดอล อยากเป็นเจ้าหญิงบ้าง ก็เลยใช้นามปากกานี้แล้วกัน ติดหูดี ซึ่งก็ติดจริงๆ คนได้ยินก็จะคลิกเข้ามาดูว่าคนนี้เป็นใคร ทำไมตั้งชื่อแบบนี้ บ.ก. เขาก็บอกว่าแปลกดีไม่ต้องเปลี่ยนหรอก ใช้ชื่อนั้นแหละ พอหนังสือเล่มแรกออกไปแล้วก็เลยเปลี่ยนไม่ได้ ก็กดดันนิดนึงเวลาขึ้นเวทีแล้วต้องพูดว่า สวัสดีค่ะ เจ้าหญิงผู้เลอโฉมค่ะ บางทีออกงานก็ต้องซื้อมงกุฎมาใส่ คนดูก็จะอ๋อ คนนี้คือเจ้าหญิงฯ อาจจะมีคนด่าอยู่ในใจแต่ก็ไม่รู้เหมือนกันฮ่าๆๆ”
เรื่องแรก “ปิ๊งรักร้ายนายตัวแสบ” มีอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นบ้างหรือเปล่า?
“ยุคแรก เล่มแรกเป็นแนวเกาหลี เพราะว่าตอนแรกที่อ่านคืออ่านนิยายรักเกาหลี ก็เลยเข้าทางเกาหลีก่อน”
หลังจากนั้นเราเปลี่ยนมาสายญี่ปุ่นได้อย่างไร? เพราะเริ่มจากเกาหลี บางคนอาจจะคิดว่าเราคงพัฒนาไปเรียนภาษาเกาหลีเพื่อต่อยอดต่อไป
“จริงๆ เป็นคนชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เล่มที่สองเลยเป็นแนวญี่ปุ่น เราชอบวัฒนธรรมฝั่งเอเชีย ชอบอ่านการ์ตูน ดูอนิเมะ พอขึ้นม.4 ก็เลยไปต่อสายศิลป์ญี่ปุ่นเตรียมอุดมฯ ตั้งใจว่าจะไปสายนั้นเลย พอม.5 ก็ไปแลกเปลี่ยน AFS จริงๆ เลือกญี่ปุ่นแต่ว่าได้ไปอเมริกาแทน กลับมาก็ขึ้นม.6 เลย มันเลยหายไปปีนึง เราสอบไม่ทันเขา เรียนตามไม่ทัน เพราะคันจิปีนึงต้องเรียนหลายพันตัวอยู่ แต่ก็ไม่อยากซ้ำชั้น เลยไปเรียนมหาลัยจนจบสี่ปี แล้วก็รู้สึกเสียดายภาษาญี่ปุ่นเพราะอุตส่าห์เริ่มเรียนมาแล้ว อยากต่อยอดมันหน่อย พอจบมหาลัยยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ยังไม่ตั้งใจว่าจะทำงาน ก็เลยไปเรียนภาษาต่อที่โอซาก้าปีนึง”
นิยายหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่อ่านตอนเด็กแล้วได้แรงบันดาลใจมาเขียนนิยายมีเรื่องอะไรบ้าง?
“โห เลือกยากอ่ะ…ชอบที่สุดคือ ONE PIECE หรือถ้าการ์ตูนสาวน้อยชอบ Stroke Edge กับจะชอบการ์ตูนสาวน้อยที่เก่ามากๆ อย่าง ตะวันรักที่ปลายฟ้า คำสาปฟาโรห์ (ที่ไม่จบ)
ทั้งนี้ทั้งนั้นการ์ตูนญี่ปุ่นที่ชอบอ่านมีมากกว่านี้ ซึ่งก็อ่านมาตลอดแล้วก็ชอบความเป็นญี่ปุ่น ตอนไปญี่ปุ่นเลยยิ่งได้แรงบันดาลใจมากขึ้นเพราะเราได้ไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ ได้เห็นการใช้ชีวิต ได้เห็นวัฒนธรรม เห็นอะไรที่เราเอามาเขียนได้ ยิ่งพอได้มาทำงานบริษัทญี่ปุ่นยิ่งได้คลุกคลีกับคนญี่ปุ่นจริงๆ ทำให้ได้ไอเดียว่าคนญี่ปุ่นเหล่านี้คาแรคเตอร์เหมือนพระเอกในการ์ตูนเลย เราก็เลยหยิบคาแรคเตอร์เขามาเขียน”
ตอนที่เอาคาแรคเตอร์ญี่ปุ่นหรือความเป็นญี่ปุ่นมาเขียนนิยาย มีอะไรที่รู้สึกว่าเอามาถ่ายทอดแล้วสนุก หรือเอามาถ่ายทอดได้ยากบ้าง?
“คิดว่าคนญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่นค่อนข้างมีความเฉพาะตัว ถ้าเราไม่รู้จักจริงๆ เราจะสื่อสารให้คนไทยเข้าใจได้ลำบาก เช่น ทำไมคนญี่ปุ่นถึงคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ ตอบแบบนี้ ซึ่งมันอยู่ที่วัฒนธรรมของเขา เรื่องง่ายๆ อย่างการเรียกชื่อเขาก็เขินกันได้ เพราะปกติเขาจะเรียกนามสกุลกัน เราก็เอามาใช้ในเรื่องให้เป็นลูกเล่นเล็กๆ ได้ เพราะถ้าเป็นคนไทยก็จะเรียกชื่อกันไปเลยปกติ นี่ก็เป็นส่วนเล็กน้อยที่แตกต่างไปจากธรรมดา (ของไทย)
อย่างเรื่องนายคะอย่ามาอ่อยเป็นเรื่องเกี่ยวกับบริษัทญี่ปุ่นในไทย ซึ่งเท่าที่อ่านมาเยอะก็ยังไม่ค่อยเห็นมีใครเขียนแนวนี้เท่าไหร่ อาจจะไม่ค่อยมีล่ามที่ไหนมาเขียนนิยายรักที่ผสมเอาเรื่องการทำงานกับคนญี่ปุ่นเข้าไป สำหรับเรื่องนี้จะไม่ได้มีแค่เรื่องของความรักอย่างเดียว เพราะว่าลักษณะการทำงานในบริษัทไทย ญี่ปุ่น ฝรั่ง ก็ต่างกัน พอเรามีประสบการณ์ตรงว่า คนญี่ปุ่นทำงานลักษณะการประชุมจะเป็นแบบนี้นะ ลักษณะการจัดการกับปัญหาจะเป็นแบบนี้นะ ซึ่งต่างกับบริษัทไทย เราก็สามารถนำมาเล่น มาต่อยอด เป็นจุดเปลี่ยนเหตุการณ์ต่างๆ ในนิยายได้”
ในเรื่องนายคะอย่ามาอ่อย มีฉากไหนที่ชอบหรือฉากไหนที่เขียนสนุก?
“ชอบฉากการทำงานนะ คิดว่าเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งในเรื่องที่พออ่านแล้วเราจะรู้สึกอิน ไม่ใช่แค่เป็นนิยายรักที่อยู่ดีๆ มาเจอกันแล้วก็คบกัน อย่างนางเอกเป็นล่ามบวกเลขาก็เป็นประสบการณ์ตรงเลย เพราะเราเคยทำล่ามบวกเลขามาก่อน ถึงแม้ว่านายในชีวิตจริงจะไม่ได้อู้หู หล่อเหลาเหมือนในเรื่องก็ตาม ที่ชอบฉากการทำงานมากที่สุดเพราะมันเหมือนการเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตจริงของเรามาเขียน หรือบางทีถ้าเจอปัญหาในงานจริงๆ แล้วรู้สึกว่าเครียดจังเลย เราก็คิดอีกแง่ได้ว่าเออ เราเอามาเขียนนิยายก็ได้นะ ในนิยายก็เลยจะมีหลายฉากที่นางเอกเจอปัญหานู่นนี่นั่นซึ่งเป็นสิ่งที่เราเจอมาจริงๆ นอกจากนี้ก็ชอบเขียนฉากที่เขาจีบกันเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเราเคยอ่านการ์ตูนหรือเคยเจอตอนอยู่ญี่ปุ่นว่าคนญี่ปุ่นเขาจีบแบบนี้จริงๆ เราก็เลยเออ เอาไปเขียนนิยายก็ได้”
ในทางกลับกัน มีฉากไหนที่เขียนยากไหม? แบบ Writer Block ไปหลายวันกว่าจะเขียนได้
“ฉากเลิฟซีน”
ตอนเขียนเรื่องนายคะอย่ามาอ่อย เราวางเค้าโครงไว้แต่แรกแล้วเขียนไปเลย หรือค่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ ทีละนิด?
“สิ่งที่คิดไว้คือโครงสร้างบริษัทในเรื่อง ว่ามีตัวละครไหนตำแหน่งอะไรบ้างซึ่งดึงมาจากชีวิตจริง เซ็ตติ้งในหัวคือเราสร้างบริษัทนึงขึ้นมาเป็นบริษัทเอเจนซี่โฆษณาญี่ปุ่นในไทย เราจะมีตัวละครแบบไหนบ้าง คาแรคเตอร์แบบไหนบ้าง แล้วเอานางเอกใส่เข้าไป คือสร้างบริษัทตรงนี้และตัวละครแค่นี้แล้วก็เขียนไป ไม่ได้คิดจนถึงตอนจบ
ตอนแรกที่เขียนก็กังวลนิดนึง เพราะว่าที่ผ่านมาไม่เคยเขียนตัวละครวัยทำงานเลย มีแต่วัยมัธยม ม.ปลาย หรือมหาลัย ตอนแรกก็เลยกังวลว่าคนจะชอบไหม เพราะส่วนใหญ่จะคิดเองว่านักอ่านเป็นเด็ก แต่หลังๆ ก็คิดว่า อืม เราโตแล้วนะ แล้วเราเอาตรงนี้มาเขียนมันก็สนุกดี เราชอบ และด้วยความที่วัยเราตรงกับตัวละครในเรื่องเราก็จะอินมากขึ้น เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือปมปัญหาชีวิตต่างๆ ถ้าเรากำหนดอยู่แค่วัยเรียน เราก็จะได้แค่ปัญหาของวัยเรียน แต่พอขึ้นมาวัยทำงานมันมีหลายอย่างให้เล่นได้
ถามว่าตันไหม พอเขียนมาได้ประมาณครึ่งนึง นิ่งเลย เพราะว่าโพสต์ลง Dek-d แล้วคนชอบเยอะกว่าที่คิด มีคอมเม้นต์เข้ามาเยอะ มีคนมาติดตาม ทำให้ตั้งตัวไม่ทัน อยู่ดีๆ ก็มีคนมาติดตามเยอะขนาดนี้ ตอนแรกเราตื่นเต้นมากอยากเขียน สนุกสนาน พอเอาไปลงปุ๊บมันก็ไม่ใช่แค่ว่าเราสนุกอย่างเดียวแล้ว เริ่มลังเลว่ามันจะดีหรือเปล่า เขียนแบบนี้ดีไหม กลายเป็นกลัวและนิ่งไปแป๊บนึง มีคอมเม้นต์มาว่า ฉันเคยทำงานบริษัทญี่ปุ่นมาฉันไม่เคยเจอแบบนี้ หรือถ้าฉันเป็นล่ามจะไม่ตอบแบบนี้ ก็เข้าใจได้ว่าแต่ละที่ไม่เหมือนกัน และเพราะครึ่งนึงเป็นชีวิตจริงด้วย คนที่เอาชีวิตจริงมาเชื่อมโยงเขาก็จะแย้งมาแบบนี้ เราก็ต้องพยายามให้เขาเข้าใจว่าเรื่องมันไม่ได้จริงทั้งหมดนะ มีที่เราเพิ่มความเป็นนิยายเข้าไปด้วย”
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ดีนะที่เหมือนเขาอินกับนิยายของเรา
“ใช่ๆๆ เหมือนเราเขียนได้เหมือนจริง แต่พอเขียนเรื่องนี้แล้วก็ได้รู้ว่ามีคนทำงานล่ามค่อนข้างเยอะในประเทศไทย แต่งานล่ามมันเหนื่อยเนอะ พอเริ่มส่งเข้าสำนักพิมพ์ก็จะมีเรื่องเดดไลน์มากดดันอีก ก็เลยจะมีช่วงที่ค้างไปเลยสักพักหนึ่ง ท่อนสุดท้ายส่งไม่ได้ ฉันไม่กล้าเขียนอ่ะ กลัวมันไม่ดี”
แล้วสุดท้ายเราเขียนท่อนนั้นได้ยังไง มีอะไรจุดประกายเรา?
“ก็กลับไปนั่งอ่านคอมเม้นต์ของนักอ่านใหม่ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนสุดท้าย เขารออยู่ เราก็ต้องให้กำลังใจตัวเอง เรื่องแบบนี้คนอื่นมาบางทีพูดเราก็ไม่เชื่อหรอก แต่ว่าเราต้องปลุกใจตัวเองให้ได้ว่าจะเขียนต่อนะ อาจจะต้องพักสักหน่อย เพราะว่าถ้าเขียนด้วยความรู้สึกขุ่นมัวจะเขียนไม่ออกเลย”
หลังเขียนเรื่องนายคะอย่ามาอ่อยเสร็จแล้ว นานไหมกว่าเขาจะขอมาทำเป็นซีรีย์?
“ไม่นาน พอออกงานหนังสือในปี 2018 หรือ 2019 หลังจากนั้นไม่กี่เดือนเขาก็มาติดต่อขอซื้อไป และปีที่แล้วก็เพิ่งประกาศ Teaser ก็ใช้เวลาประมาณปีนึงมั้งนะ”
ตอนเห็น Teaser รู้สึกหรือมีรีแอคชั่นเป็นไงบ้าง?
“ตอนแรกที่เขามาซื้อทำละครเราก็ยังคิดอยู่ว่า เอ๊ะ จะทำออกมาเป็นยังไงนะ ยังนึกภาพไม่ออก ตอนหลังไปดูไอจีแล้วก็เห็นไอจีของผู้ชายคนหนึ่ง เป็นลูกครึ่งอเมริกันญี่ปุ่น ตอนแรกไม่รู้นะว่าเขาจะได้เล่น ก็คิดว่าคนนี้เหมาะจังเลย ตรงกับคาแรคเตอร์ที่เราคิดไว้พอดี แต่เขาเป็นแค่นายแบบ เป็นยูทูบเบอร์ ก็คิดว่าหรือเราจะเสนอแกรมมี่ให้เอาคนนี้ไปเล่นดีไหม พอคิดๆ แป๊บนึงคนที่เล่นเป็นนางเอกก็ทักมาเล่าว่าพระเอกน่าจะเป็นคนนี้นะ แล้วส่งไอจีมาให้ดู ปรากฏว่าเป็นคนเดียวกันกับที่เราคิดไว้”
ว้าว แสดงว่าทีมแคสต์เก่งมาก
“แคสต์เก่งมาก แบบไปหามาได้ไง ใช่เลย แต่ตัวพระเอกเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นที่พูดญี่ปุ่นไม่ได้ แต่เรื่องคาแรคเตอร์เนี่ยใช่เลย รูปร่างหน้าตา จังหวะมันใช่พอดี เพราะเราเคยคิดอยู่แล้วว่าทุกอย่างในชีวิตมันอยู่ที่ Timing อะไรที่มันมาตรงจังหวะพอดีมันก็จะใช่ๆๆ ไปหมด
เรารู้จักกับน้องที่เขียนบทนายคะอย่ามาอ่อย เขาบอกว่าส่วนใหญ่เขาก็จะยึดตามในหนังสือเลย ไม่ค่อยเปลี่ยนอะไรมาก เสริมๆ เข้าไปนิดเดียว เราก็บอกว่าให้ทำไปเลย เราจะรอดู เป็นคนดูคนหนึ่ง พอมาดู Teaser ก็รู้สึกเหมือนเขาเอามาจากในเรื่องจริงๆ ทุกอย่างเหมือนหมดเลย เฮ้ยดีอ่ะ พระเอกตามที่คิดไว้เลย แล้วดูฟีดแบคนักอ่านที่อ่านมาแต่ต้นเขาก็บอกว่าเหมือนคาแรคเตอร์ที่เขาจินตนาการไว้ตอนที่อ่าน ตอนนี้ก็กดดันเหมือนกัน กลัวว่าจะเหมือนตอนเขียนนิยาย ว่าคนที่เคยทำงานแบบเดียวกัน (ล่าม) เขาจะเคยประสบอีกอย่างมา อาจจะแอนตี้หรือเปล่า แล้วก็จริงๆ ในบทจะมีพี่ล่ามใจร้ายคนหนึ่ง เราก็เสียดาย อยากจะไปแคสต์บทนี้มาก เพราะมันเหมาะกับเรามาก”
ฮ่าๆๆ แต่ก็เก๋ไก๋ดีนะ เป็น Cameo คนเขียนอยู่ในละครด้วย
“ใช่ จะไปบอกผู้กำกับว่าหนูอยากเล่นด้วย ให้หนูเป็นแม่บ้านก็ได้ เข้าฉากไปหนึ่งตอนไปนั่งถูพื้นฮ่าๆๆ เอ้อแล้วก็ตอนจะเขียนช่วงสุดท้ายเรามีออกแบบชื่อบริษัท โลโก้ นามบัตรต่างๆ ทำเป็นของแถมไปกับหนังสือด้วย แล้วพอทำเป็นซีรีย์ปุ๊บเราได้เห็นสิ่งที่เราจินตนาการไว้ออกมาเป็นจริง แม้กระทั่งชื่อบริษัทและนามบัตรที่เราเคยคิดไว้ ตำแหน่งต่างๆ โครงสร้างองค์กร เขาไปออกแบบมาแล้วทำเหมือนในนิยายเป๊ะเลย เพราะผู้กำกับบอกว่าเขาจะ Keep ทุกอย่างให้เหมือนนิยาย เราดีใจนะ เหมือนกับว่า พูดยังไงดี เหมือนเขาให้เกียรติเรา”
ที่เขาติดต่อมาขอทำนิยายนี้คือเรามีไปคุยกับใครก่อนหน้านี้ไหม หรือว่าเขาติดต่อมาเลยว่าอยากจะขอเอาไปทำละคร
“เขาติดต่อผ่านสำนักพิมพ์ ตอนนั้นได้คุยกับผู้กำกับตอนงานแถลงข่าวว่าเขาเป็นคนไปซื้อหนังสือมาอ่านเอง เขาไปงานหนังสือเพื่อไปดูว่ามีอะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วเขาก็บอกว่าเห็นคนวิ่งไปซื้อเรื่องนี้ที่บูธ เขาเลยหยิบมาดูแล้วก็ตกใจชื่อเรื่อง แบบ อะไรอ่ะ นายคะอย่ามาอ่อย แต่ก็ซื้อกลับไปอ่าน พออ่านแล้วก็ปรากฏว่าชอบ ชอบในความที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน เพราะว่าผู้กำกับคือคุณชาย เขาเคยทำหนังพระนเรศวร หรือผีห่าอโยธยา ซึ่งเป็นคนละแนวกัน เราก็สงสัยอยู่ว่าเขาไม่เคยทำแบบนี้แล้วมันจะออกมาเป็นยังไง แต่พอดู Teaser แล้วก็คือดี ตรงตามที่คิดไว้ ตอนนี้ก็ตื่นเต้น”
ขอเปลี่ยนมาเรื่องในวงการนักเขียนบ้าง สำหรับตอนนี้ที่มีแพลตฟอร์มต่างๆ ให้นักเขียนเผยแพร่งานเขียนของตัวเองได้ง่ายขึ้น และเชื่อว่าในกลุ่มนักอ่านของ ANNGLE เองก็คงมีนักอ่านที่อยากเป็นนักเขียนเหมือนกัน ในฐานะที่เราเป็นนักเขียนที่อยู่ในวงการมานาน พอจะมีคำแนะนำอะไรสำหรับนักอ่านที่อยากผันมาเป็นนักเขียนบ้าง?
“ตอนนี้จะว่าง่ายกว่าสำหรับคนอยากเขียนหรือยากกว่าก็ได้ทั้งคู่ ที่บอกว่าง่ายกว่าก็เพราะมีช่องทางเยอะขึ้นในการที่จะเอาผลงานออกไปให้โลกได้เห็น มีหลายแพลตฟอร์ม มีอินเทอร์เน็ต มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีช่องทางในการโปรโมตเยอะกว่าสมัยก่อน แต่ก่อนครึ่งหนึ่งเป็นออฟไลน์ การติดต่ออาจจะยากนิดนึง
แต่อีกข้อนึงคือความที่มันเข้าถึงง่าย ใครๆ ก็เข้าถึงได้ทั้งนั้น หมายถึงเรามีคู่แข่งเยอะขึ้น ก่อนที่คนจะมาเห็นเรา เขาอาจจะเห็นคนอื่นมาอีกหนึ่งแสนคน พันห้าร้อยคนกว่าจะถึงเรา เพราะงั้นเราก็ต้องหนึ่ง พยายามพัฒนาตัวเองด้วย สอง ไม่ท้อเมื่อเห็นคนอื่นดังมากกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่าเรา แล้วก็สาม ต้องหาแนวของตัวเองให้เจอ เพราะว่าด้วยความที่คนเขียนมีเยอะ ทั้งหมดบนโลกนี้มันมีคนเขียนมาแล้วแหละ แต่เราจะเขียนยังไงให้มันเป็นงานของเรา ให้มันสนุก และมีคนอยากติดตามต่อ แต่ถามว่าทำยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะว่าต้องลองผิดลองถูกเอง บางคนถนัดแนวตลกก็ไปทางตลก ถนัดแนวดราม่าก็ไปทางดราม่า ไม่ควรเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่เขียนแนวตลกแล้วดังมาก หรือว่าคนที่เขียนแนวดราม่าแล้วคนอิน ทางใครทางมัน เขียนอะไรที่เราชอบที่เราสนุกจริงๆ อย่าไปฝืนว่าทำไมเขียนได้ไม่ดีเท่าเขา เพราะว่างานแต่ละชิ้นไม่เหมือนกันอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะไปทางไหน
แต่สิ่งที่ต้องกล้าคือกล้าเขียน และกล้าเอาออกไปให้คนอื่นอ่าน เพราะบางทีเราก็เป็น เราเขียน เราชอบ แต่กลัวที่จะให้คนอื่นอ่าน ก็มีกำแพงนิดนึง อย่างเรื่องนายคะอย่ามาอ่อยที่มันประสบความสำเร็จเนี่ย เล่มต่อมาคนเขาก็จะคาดหวังแล้วว่ามันต้องดีมากกว่าเล่มที่แล้ว ถ้าเอาชนะความกลัวตรงนั้นไม่ได้ก็จะอยู่ที่เดิม แล้วยังไงต่อ ถ้าเราไม่เขียนต่อมันก็จบแค่นี้แหละ ไม่มีใครมาว่าหรอก แต่ก็ไปไหนไม่ได้เหมือนกัน ก็จะอยู่แค่ตรงนี้ เราก็ต้องฮึบขึ้นมา
นี่ขนาดเซ็ตนายคะอย่ามาอ่อยที่ออกมาสองเล่ม ก็จะมีคนที่ชอบเล่มแรกมากกว่า กับอีกคนที่บอกว่าเล่มแรกไม่ดีแต่เล่มสองดี แต่ในฐานะนักเขียนเราก็ตั้งใจกับทั้งสองเล่ม มันแค่ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องบอกตัวเองให้มูฟออน ไม่เสียกำลังใจกับคนที่มาติ แต่ในอีกแง่คนที่มาติก็คือคนที่อ่านนิยายเรานะ เขาอาจจะแค่ใช้คำพูดในแบบของเขา เราก็ต้องเลือกรับสิ่งที่มีประโยชน์ต่อเรา เขาอาจจะติในสิ่งที่เราเอามาใช้ต่อได้ หรือว่าเราเอาไปปรับกับเล่มต่อไปได้ แต่มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับนักเขียนจริงๆ ไม่ว่าจะเขียนมากี่ปีก็ตาม”
ก็จริง เพราะเดี๋ยวนี้เสียงตอบรับมันเร็วมาก ปล่อยงานเขียนปุ๊บเสียงกลับมาปั๊บ
“ใช่ มันเร็วมาก แต่ก็คิดว่าดีสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ด้วย เพราะว่าสมัยนี้ไม่ต้องหาอะไรแล้ว เขียนได้ปั๊บลงไปเลย สามารถขายงานทางออนไลน์ได้เลย เหมือนเป็นการหารายได้ แล้วก็ได้ทำในสิ่งที่ชอบไปด้วย”
แล้วตอนนี้มีผลงานใหม่ที่กำลังเขียนอยู่ไหม?
“ด้วยความที่ตอนนี้ทำงานประจำด้วยเลยจะเขียนช้าลง บางทีกลับบ้านมาเหนื่อยแล้ว นอนก่อน เมื่อก่อนสมัยเรียนเขียนได้ปีละตั้งเก้าเล่ม พอเริ่มทำงานก็จะเหลือปีละสองเล่มสามเล่ม มากสุดก็สี่”
แบบนี้แสดงว่ามีการจัดเวลาให้ตัวเองเขียน หรือตั้งเป้าว่าจะต้องเขียนให้ได้เท่านี้ในเวลานี้ด้วยหรือเปล่า?
“จริงๆ เดดไลน์จะมาจากบ.ก. ว่าอยากได้วันที่เท่านี้เพื่อจะออกเดือนนี้ ก็จะเอาเดดไลน์นั้นเป็นหลัก แต่ระหว่างนั้นก็แล้วแต่ Mood and Tone ของวัน บางวันกลับบ้านมามีไฟมาก เขียนได้สามสิบหน้า บางวันแบบกลับมานั่งจิ้มได้ประโยคเดียวก็เขียนไม่ออกเหมือนกัน ก็สลับๆ กันไป เป็นคนที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ คือมีเพื่อนคนนึงที่สามารถกำหนดได้ว่าวันนี้ต้องได้กี่หน้าแล้วทำได้จริงๆ คือมีไม่กี่คน นับถือจริงๆ ส่วนเราถ้าต้องส่งสิ้นเดือนหน้า วันนึงเขียนห้าสิบ วันนึงเขียนศูนย์ก็มีเหมือนกัน วันสุดท้ายเขียนแปดสิบก็มี
แต่เป็นคนที่จัด Priority จะว่าค่อนข้างดีไหมนะ คืองานประจำก็ต้องทำอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ถ้าต้องทำก็ทำ พอกลับมาบ้านก็เป็นเรื่องของเราคนเดียว เราต้องรับผิดชอบตรงนี้ (การเขียน) เอง แต่ไม่ว่าจะเป็นตอนเรียนหรือตอนทำงาน หน้าที่หลักของเราคือทำงานหรือเรียนให้ดีไว้ก่อน”
นิยายที่ผ่านมาทั้งหมด 70 เล่ม ทุกเล่มเป็นนิยายรักทั้งหมดเลย?
“ใช่ แต่เราเปลี่ยนเซ็ตติ้ง มีแฟนตาซี มีต่อสู้ สืบสวน ฆาตกรรม”
ในบรรดา Genre ทั้งหมดที่เขียนมา มีอันไหนที่ยากไหม?
“สืบสวนยากมากเลย ชอบอ่านนิยายสืบสวนญี่ปุ่น พวกมินาโตะ คานาเอะ หรือคินดะอิจิคืออ่านทุกเล่ม อาจารย์เคโงะคือได้ทุกเล่มจริงๆ อยากเขียนแนวนั้นเหมือนกัน ซึ่งยาก ในหัวต้องเป็นคนฉลาดระดับนึง”
อันนี้ในฐานะคนอ่านคนนึงก็สงสัยเหมือนกันว่า เวลาเขียนนิยายแนวสืบสวนนี้ นักเขียนเขาออกแบบคดี หลักฐาน คนร้าย และอื่นๆ ยังไงบ้าง
“บางคนถนัดเขียนปมซับซ้อนที่หักหลายๆ รอบ เราชอบนะ ด้วยความที่อ่านนิยายสืบสวนมาเยอะก็เลยเหมือนเป็นการฝึกฝนตัวเองให้คิดตามเขาด้วย เราก็เลยมีการคิดโครงเรื่อง หักมุม ตามแบบสืบสวน สิ่งต่อมาที่ยากคือหาหลักฐานมาสนับสนุนให้เรื่องมีความสมจริง ตรงนี้ต้องรีเสิร์ช ไปนั่งอ่านหนังสือ Forensic หรือหนังสือนิติวิทยาต่างๆ ก็มี พอเรามีข้อมูลตรงนี้มากขึ้นเราก็จะมีลูกเล่นมาพลิกแพลงให้พล็อตเราเดายากขึ้น ต้องทำการบ้านเยอะ บางทีต้องไปปรึกษากับหมอ หรือไปคุยกับตำรวจ เพื่อหาว่าการสืบคดีความเป็นอย่างไร รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เวลาตำรวจคุยกัน คำพูดหรือสำนวนที่เขาใช้ที่คนนอกไม่รู้มีอะไรบ้าง ถ้าเรารู้เราเอามาเขียนก็จะยิ่งทำให้ดูเรียลมากขึ้น ซึ่งยากเหมือนกัน อย่างเล่มล่าสุดที่เขียนก็เป็นสืบสวนฆาตกรรมที่มีเรื่องรักด้วย เหมือนได้ใส่องค์ประกอบที่เราถนัดเข้าไปอีก”
แล้วในเรื่องที่เขียนมาชอบเรื่องไหนมากที่สุด?
“อันดับหนึ่ง นายคะอย่ามาอ่อย อันดับสอง Nippon Sweetie เป็นเรื่องรักๆ ญี่ปุ่นแต่เป็นไฮสคูล เป็นเรื่องของนางเอกที่เป็นคนไทยไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น เรื่องนี้อยากให้เป็นญี่ปุ่น แต่ก็อยากใส่ความไทยไปด้วย เราเลยเอานางเอกคนไทยใส่เข้าไป เลยเป็นลูกเล่นของทั้งเซ็ตว่านางเอกเป็นคนไทย พระเอกเป็นคนญี่ปุ่น แล้วก็เป็นวัยไฮสคูล เป็นอีกเซ็ตที่การตอบรับดี แล้วก็เป็นแนวที่เราชอบ พระเอกคือสเป๊กมากเลย เป็นหนุ่มซึนเดเระนิดๆ แล้วก็เป็นหนุ่มกินเนื้อ เป็นเซ็ตที่ใส่ทุกความเป็นญี่ปุ่นเข้าไป ทั้งสถานที่และมุกต่างๆ ที่คิดออกในความโชโจ เนื้อเรื่องก็แต่ละเล่มแต่ละคู่ตามแต่ละฤดู โดยทุกคู่จะรู้จักกัน ในนี้จะมีเล่มนึงที่เขียนตอนอยู่โอซาก้า ก็จะมีความคันไซ พระเอกเป็นหนุ่มโอซาก้า ใช้สำเนียงคันไซ ซึ่งเราเอาสิ่งที่เราเจอจริงๆ มาใส่ ไปเจอกันที่ฟุชิมิอินาริอะไรงี้ อ่านแล้วก็จะเหมือนได้ไปเที่ยวกับเราด้วย
ส่วนอันดับสาม…อะไรดี อืมๆๆ อันดับสามชอบเรื่องแวมไพร์ Passionate Fangs”
แวมไพร์นี่ได้แรงบันดาลใจจาก Twilight หรือเปล่า?
“โนวววว Vampire Knight จ้า แวมไพร์เรื่องเราไม่เรืองแสง ฮ่าๆๆ เป็นแนวแฟนตาซี มีห้าเล่มแล้ว เล่มหกยังไม่เขียน เราเขียนตอนม.3 แล้วมีนักอ่านบอกว่าพี่ หนูอ่านมาตั้งแต่ตอนมัธยมแล้ว จนตอนนี้หนูมีลูกแล้วเล่มหกก็ยังไม่มาเลยอ่ะ แต่พอเป็นเล่มสุดท้ายก็เลยกดดันอย่างที่บอก ว่าจะจบยังไงให้ดีๆ นะ…ถ้าไม่จบในปีนี้อาจจะโดนฆาตกรรม”
สุดท้ายนี้มีอะไรที่อยากฝากถึงคนอ่านหรือคนที่กำลังรอดูซีรีย์นี้ไหม?
“แพชชั่นในชีวิตเรานี้คือการเขียนนิยาย เป็นถึงขั้นที่ถ้าชีวิตนี้เขียนนิยายไม่ได้แล้วคือหมดเป้าหมายในชีวิต เหมือนมันเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเราให้เรามุ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ ตอนนี้เขียนนิยายมาทั้งหมด 16 ปี รวม 70 กว่าเรื่อง ถามว่าในนี้มัน Masterpiece ทุกเรื่องไหมก็ไม่ใช่ ช่วงแรกมันเป็นช่วงที่เราค้นหาตัวเอง แต่มันก็เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตว่าเราสู้ต่อมาจนถึงตอนนี้ที่เราเจอในสิ่งที่เราชอบจริงๆ เราตั้งใจกับทุกเล่ม ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามเราตั้งใจมากๆ อยากให้ทุกคนได้อ่านกันเยอะๆ สิ่งที่เป็นกำลังใจให้เราเขียนมาจนถึงตอนนี้ได้ก็คือนักอ่านด้วยเหมือนกัน เพราะว่ามีนักอ่านบางคนที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เล่มแรก เล่มแรกจริงๆ เป็นเด็กเหมือนกันด้วย แล้วตอนนี้เขาก็ยังอยู่”
ว้าว ก็คือโตมาด้วยกันเลย
“โตมาด้วยกัน จนเหมือนไม่ใช่แค่นักเขียนนักอ่านแล้วแต่เป็นเหมือนครอบครัว เป็นกลุ่มคนที่ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งไม่เหลืออะไรแล้วโลกนี้พังทลาย เขาก็จะยังอยู่กับเรา บางครั้งเราก็รู้สึกว่าเราทำอะไรให้เขาชื่นชอบได้ขนาดนั้นเหรอ สิ่งที่เราทำมันก็แค่การเขียนนิยายซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบ แต่เขาก็ยังคอยติดตามและคอยซัพพอร์ต บางทีก็มาจากต่างจังหวัด แวะเอาของขวัญมาให้เอาจดหมายมาให้ บางทีเราท้อแท้ติสต์แตกแบบไม่อยากเขียนแล้ว แล้วก็โพสต์ขอกำลังใจในเฟสบุ๊คหรือในเพจของเรา เขาก็มาบอกว่าเขาติดตามมาตลอดอยากเป็นกำลังใจให้นะ เป็นคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เราไปต่อได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า สมมติเขียนนิยายแล้วไปตันเอากลางทาง ก็รู้สึกว่าต้องสู้สิ มีคนรออยู่นะ
เรามีความฝันว่าเราอยากเขียนนิยาย และตอนเด็กๆ เราก็มีความฝันว่าอยากเห็นนิยายของเราเป็นละครบ้าง แต่ช่วงนั้นยังไม่ค่อยฮิตทำละครรักวัยรุ่น ที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นแนวผู้ใหญ่มากกว่า เลยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จนกระทั่งเริ่มมีแพลตฟอร์มช่องทางต่างๆ มากขึ้น มันก็เลยยังมีทางให้เราไปต่อ ให้เราได้ทำอะไรใหม่ๆ และท้าทายตัวเองมากขึ้น การทำเป็นแพลตฟอร์มอื่นอย่างละครจะเป็นการเปิดให้คนที่ยังไม่รู้จักเราได้มารู้จักเรามากขึ้น ซึ่งมันก็มาพร้อมกับความกดดันที่มากขึ้นแหละ แต่ก็เหมือนได้ท้าทายตัวเองไปอีกขั้น เราจะไม่หยุดอยู่ที่เดิม เป้าหมายของเราคือเขียนนิยายให้ครบ 100 เล่มก่อนตาย”
ได้ยินแบบนี้แล้ว เชื่อว่าแฟนๆ คงดีใจแน่นอนที่เราจะยังได้ติดตามผลงานของเจ้าหญิงผู้เลอโฉมกันไปอีกยาวๆ หวังว่าเพื่อนๆ ที่เป็นแฟนคลับได้จะรู้จักเรื่องราวของเจ้าหญิงผู้เลอโฉมและโลกของนักเขียนไทยกันมากขึ้นจากบทสัมภาษณ์ แล้วมาเอาใจช่วยและรอชมผลงานจากปลายปากกาเจ้าหญิงผู้เลอโฉมกันต่อไปนะคะ
ติดตามเจ้าหญิงผู้เลอโฉมได้ที่
Facebook: เจ้าหญิงผู้เลอโฉม
Twitter: เจ้าหญิงผู้เลอโฉม @kantarin_l
Instagram: prettyprincessjamsai
Website: Pretty Princess
สั่งซื้อหนังสือ: meb