เวลานี้เชื่อว่าคงไม่มีคออาหารญี่ปุ่นสไตล์ อิซากายะ ไม่รู้จักร้านดัง แปลก มันส์ ฮา อย่างร้าน Shakariki 432 แล้วละคะ ร้านนี้ว่ากันว่าสามารถขยายสาขาได้มากกว่า 20 สาขา ภายในเวลาไม่นาน แถมมีกำลังพนักงานที่เหนียวแน่น คอยช่วยสานเจตนารมณ์ของคุณชิมิสึเจ้าของร้านอีกด้วย
ช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา ANNGLE ได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับทีมเมเนเจอร์คนไทยของร้าน Shakariki 432 มาค่ะ โดยเป็นผู้ดูแลด้านอาหารในครัวสองท่านคือ คุณนรินทร์ , คุณจีรศักดิ์ และอีกสองท่านที่ดูแลด้านการบริการลูกค้าในร้านคือ คุณวิภา , คุณวาสนา พนักงานทั้ง 4 ท่านล้วนแต่ทำงานกับร้าน Shakariki 432 มาแล้วกว่า 5 – 6 ปี ส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับร้านอาหารญี่ปุ่นมาบ้างแล้ว แต่ก็มีบางท่านที่ไม่เคยทำงานทางด้านร้านอาหารมาก่อนเลย…อะไรกันนะทำให้พนักงานที่นี่ใช้เวลาชีวิตทุ่มเทในการทำงานอยู่ในร้าน Shakariki 432 ได้นานถึงขนาดนี้ แถมทุกคนมีท่าทางที่รักและผูกพันธ์กับร้านนี้ เป็นอย่างมาก ที่ร้านนี้มีเคล็ดลับอะไรกันนะถึงรักษาคนในองค์กรได้ยอดเยี่ยม ว่าแล้วเราไปอ่านบทสัมภาษณ์กันค่ะ
เกือบ 6 ปี กับการทำงาน @shakariki 432
ทำงานที่ร้านกี่ชั่วโมง มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรกันบ้าง
คุณนรินทร์ : ราวๆ 12 ชั่วโมงครับ ส่วนมากจะเป็นการดูแลพนักงานมากกว่า งานที่สอนไปแล้วพนักงานทำงานกันออกมาดีหรือเปล่าถ้าไม่ดีก็คอยปรับเปลี่ยนส่วนมากจะไม่ค่อยลงมือทำเอง แต่ถ้ามีเมนูใหม่เข้ามาก็จะต้องทำให้เขาดู ให้ทำตามขั้นตอน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ 100 % เวลาทำงานหยุดอาทิตย์ละหนึ่งวัน ส่วนลาพักร้อนเป็นไปตามปกติของบริษัททั่วไปและจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามอายุงาน
มีเคล็ดลับในการดูแลพนักงานอย่างไรกันบ้าง
คุณนรินทร์ : ในด้านการทำอาหาร ถ้าเวลาพนักงานทำดี ทำสวยเราก็ต้องชม แต่เวลาทำผิด เราก็ต้องว่าเขา แต่เวลาว่าพนักงานก็จะเครียด แล้วเราก็จะชมในตอนท้าย เพื่อให้เขามีกำลังใจ ให้เหตุผลว่า เปลี่ยนเเบบนี้ดีกว่านะ เพื่อให้ร้านเราดีขึ้น ถ้าเราชมเขา เวลาทำจานต่อมาเรื่อยๆ เขาก็ต้องทำสวยเหมือนเดิม
คุณวาสนา : มีการสอนงาน ทั้งเรื่องชื่ออาหาร การคุยกับลูกค้า เสิร์ฟอย่างไร ทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่าต้องทำอย่างไร
ร้าน Shakariki 432 มี 20 สาขา มีการจัดการทำงานกันอย่างไร
คุณวาสนา : แบ่งกันไปตามแต่ละสาขา โดยหนึ่งคนจะดูแล 2 – 3 สาขา
คุณนรินทร์ : มีการประชุมเดือนละครั้งครับ แต่หากสาขาไหนมีงานเยอะมากๆ หรือมีเรื่องฉุกเฉินก็จะไปช่วยกัน ส่วนมากเราจะอยู่ประจำ 2-3 สาขา กันประมาณ 2-3 เดือนแล้วค่อยสลับสับเปลี่ยนกัน
คุณจีรศักดิ์ : ปกติแล้วผู้จัดการจะมีแนวทางเดียวกันอยู่แล้ว การบริหารในร้านก็จะเน้นไปในทางเดียวกัน
คุณนรินทร์ : โดยก่อนที่จะมีการเปลี่ยนสาขา เราจะมาประชุมกันก่อนเพื่อส่งงานต่อ
คุณจีรศักดิ์ : ข้อที่ควรปรับปรุงของพนักงานแต่ละสาขาก็จะส่งต่อข้อมูลกัน
คุณนรินทร์ : ร้านเราหนึ่งปีจะเปิดเพิ่ม 3 สาขา ก็จะมีงานต่อๆกันมา จะแยกกันดู ผู้จัดการร้านคนหนึ่งก็ดูเรื่องการเปิดร้าน คนหนึ่งก็คอยฝึกอบรมพนักงานในสาขาเพื่อให้พนักงานไปเปิดร้าน ใครทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องคอยฝึกพนักงานเพื่อให้หมุนเวียนขึ้นมา เพราะว่าเปิดสาขาแต่ละร้านต้องใช้พนักงานเยอะเหมือนกัน บางทีก็สอนไม่ทันก็มี แต่ก็ต้องช่วยกันเรื่อยๆ
ทุกคนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเมเนเจอร์ได้?
คุณนรินทร์ : พนักงานทุกคนสามารถเป็นเมเนเจอร์ได้ ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้งาน เวลาประชุมก็จะพูดว่า เราอยู่ด้วยกัน บางคนอาจไปเป็นเมเนเจอร์ของสาขาเพราะว่าร้านเราเปิดเยอะ หัวหน้าคนเดียวดูแลไม่ไหว ก็ต้องสอนงานเขา
ร้านshakariki แตกต่างกับร้านอาหารญี่ปุ่นที่เคยทำงานมาก่อนอย่างไรบ้างคะ
คุณนรินทร์ : ที่นี่บรรยากาศการทำงานแตกต่างจากร้านอื่นมาก มีการดูแลจากคนญี่ปุ่นส่งมาถึงผู้จัดการร้านและพนักงานอย่างดีครับ อย่างเช่นร้านอาหารญี่ปุ่นที่อื่นบางร้าน หากมีคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานร้านอาหารมาก่อนจะไม่รับเข้าทำงาน แต่ว่าร้าน Shakariki 432 รับทั้งหมดและสอนงานให้ทั้งหมดทุกอย่าง ไม่มีปิดบังเคล็ดลับอะไร เพราะสอนให้เพื่อทุกคนมาอยู่ด้วยกันและทำงานช่วยกัน อย่างเช่น เรื่องสูตรอาหารทุกอย่างก็ต้องสอน บางทีสูตรเหมือนกันแต่วิธีทำไม่เหมือนกัน รสชาติก็เปลี่ยนได้ ก็ต้องทำตามขั้นตอนตามระบบ
คุณวาสนา : ที่นี่อยู่กันเป็นแบบครอบครัวการสอนงาน การเตรียมงาน ทำงานด้วยกัน จะเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่ใช่ว่าจะแยกส่วนคนไทย คนญี่ปุ่น เพราะว่ามีคนชาติอื่นๆเช่น คนพม่า คนลาวที่เข้ามาร่วมงานด้วยกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้น
คุณจีรศักดิ์ : ผมเริ่มมาจากทำอะไรไม่เป็นเลย ไม่เคยลองทำงานด้านอาหารญี่ปุ่น แต่ตอนนั้นเห็นร้าน Shakariki 432 เปิดใหม่ เลยอยากลองเปลี่ยนอาชีพ จากที่ทำอะไรไม่เป็นเลย ก็มาเรียนรู้ที่ร้าน Shakariki 432 ซึ่งทางร้านก็สอนให้ คนญี่ปุ่นใจดีนะครับ
ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเมนูแปลกๆของร้าน รู้สึกอย่างไรบ้าง
รู้สึกตลก ขำมาก แต่รู้สึกภูมิใจเพราะว่าเมนูเหล่านี้ทำให้ลูกค้าสนุก ได้รับการตอบรับจากลูกค้า เป็นสร้างสีสันบรรยากาศให้กับร้าน และทำให้รู้สึกว่าอยากคิดเมนูใหม่ที่สนุกและตอบโจทย์ลูกค้าในสไตล์โอซาก้า
เมนูเด็ดที่อยากแนะนำลูกค้า
เมนูฟุนะโมริซาชิมิ เป็นเมนูปลาดิบรวมทุกชนิด แล้วก็นาเบะหม้อไฟ และคุชิคัตสึสไตล์โอซาก้า เป็นเมนูที่มาแล้วต้องสั่งเลย!
เคล็ดลับมัดใจพนักงานฉบับ Shakariki 432
อะไรที่ทำให้ทำงานอยู่ที่นี่นานถึง 5-6 ปี
คุณนรินทร์ : อยู่ที่ร้านนี้แล้วรู้สึกว่าเป็นกันเอง เหมือนอยู่บ้านเรา เหมือนครอบครัวเรา มันรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวไปแล้ว อยู่แล้วสบายใจครับ
คุณวาสนา : คุณชิมิสึใจดีค่ะ ทำอะไรให้เราหลายๆ อย่าง ทำให้พนักงานอยากอยู่ด้วยนานๆ
คุณนรินทร์ : คุณชิมิสึเขาเป็นคนที่เวลางานก็จะทำงานเต็มที่ แต่เวลาที่สนุกก็จะสนุกเต็มที่ครับ ถ้าทำงานก็คืองาน เล่นก็คือเล่น ถ้าเปรียบเทียบกับร้านอาหารญี่ปุ่นร้านอื่นที่เคยทำงานมาด้วย ปกติเจ้าของร้านหรือแม้แต่ผู้จัดการร้านเอง บางทีก็คุยกันน้อย แต่ที่นี่เจ้าของร้านคุยกับทุกคน พนักงานมีถึง 500 คน แม้กระทั่งคนล้างจานก็คุย ถึงสารทุขสุขดิบ เขาจำชื่อได้หมดทุกคน ว่าใครชื่ออะไรบ้าง เขาใส่ใจถึงขนาดนี้เลยล่ะครับ ก็เลยรู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ได้นานเพราะเขามีความใส่ใจเรา
คุณจีรศักดิ์ : ที่จริงแล้วเจ้านายญี่ปุ่นเป็นคนที่เข้าถึงตัวพนักงานและช่วยส่งเสริมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภาษาญี่ปุ่น การอบรมเกี่ยวกับการดูแลบริหารจัดการร้าน ดูเหมือนเจ้านายคนญี่ปุ่นจะไว้ใจและอยากให้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสำหรับคนที่อยากจะเข้ามาร่วมงานกับเรา แค่เพียงสนใจ ใส่ใจ ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองก็เพียงพอแล้ว เพราะเจ้านายที่นี่จะหยิบหยื่นโอกาสให้เราอยู่เสมอๆ
เคยคิดหรือมีความรู้สึกไหมว่า อยากลาออก
คุณวิภา : เป็นบางช่วงนะคะ หรือเวลาที่เหนื่อยมากๆ แต่ก็เป็นเพียงแค่ความคิด บางครั้งมีปัญหาที่คิดไม่ออก เป็นช่วงอารมณ์ชั่ววูบ พอไปนอนพักตื่นขึ้นมาก็ คิดว่า โอเคล่ะ เป็นวันทำงานเราต้องสู้ เพราะถ้าเราไม่สู้พนักงานก็อยู่ไม่ได้ เพราะทำงานนี้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว
ที่ร้าน Shakariki 432 มีระบบให้พนักงานซื้อหุ้น? แล้วได้ซื้อหรือเปล่า?
คุณนรินทร์ : พนักงานที่มีอายุงาน 3 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสได้ซื้อหุ้นครับ ผลกำไรที่ได้ แล้วแต่เปอร์เซนต์ที่เราซื้อ ซึ่งจะได้เงินปันผลกำไรปีละ 2 ครั้ง ซึ่งนี่ก็มีส่วนที่ทำให้อยากจะอยู่ที่นี่ด้วย
คุณจีรศักดิ์ : บางครั้งพนักงานไม่มีมอเตอร์ไซค์ เจ้านายก็ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ขี่มาทำงาน ที่ร้านนี่มีถึง 20-30 คัน
ไม่แบ่งชนชั้น ไม่ว่าคนไทยหรือคนเมียนม่า ก็มีสิทธิ์ได้เป็นเมเนเจอร์!
เราต้องปรับตัวในการทำงานกับคนญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง
คุณจีรศักดิ์ : ตอนแรกก็ยากนิดหนึ่งครับกับการทำงานเพราะเราไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นเลย บางทีชื่ออาหารเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเราก็ไม่รู้ เมื่อก่อนคุณมิชิสึเขาก็ทำอาหารอยู่ด้วย เริ่มตั้งแต่ทำและเช็คทุกอย่าง จนมีพนักงานเข้ามาเยอะๆ ก็ค่อยให้พนักงานเมเนเจอร์ ดูแล
คุณนรินทร์ : ถ้าทำงานกับคนญี่ปุ่น เราต้องฟังอย่างเดียวแล้วทำตาม รับฟังบางอย่างแล้วอาจจะเถียงไม่ได้ ในเมื่อเขาสั่งให้ทำแบบนี้ก็ทำแบบนี้ก่อน เรื่องเวลาสำคัญมากต้องตรงเวลาเป๊ะ ความมีระเบียบ หากต้องทำแบบนี้ คือต้องทำแบบนี้
คุณชิน : ภาษาเป็นสิ่งสำคัญค่ะ การสื่อสาร การบอกงานคนญี่ปุ่นบางครั้งต้องใช้ภาษามือช่วยอธิบายให้เราเข้าใจ พอเราเริ่มเข้าใจแล้วก็ต้องเริ่มจำภาษาญี่ปุ่นบ้าง เวลาพูดก็จะได้เข้าใจกัน ต้องพยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าผ่านจุดนี้ ไปได้ การทำงานก็จะราบรื่นอีกขั้น
คุณนรินทร์ : บางครั้งเจ้านายเองก็ถามเราว่าตอนนี้คิดอย่างไร อยากจะทำอะไรหลังจากนี้ อยากจะเป็นอย่างไร
ทำงานกับคนญี่ปุุ่นเคยมีเรื่องลำบากใจหรือมีปัญหาอะไรกันไหม
คุณชิน : ก็จะมาเป็นบางช่วงแต่ก็ไม่ได้มีบ่อย บางครั้งการทำงานก็จะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน อย่างเช่นคนญี่ปุ่นอยากจะให้เราทำแบบนี้แต่เราคิดว่า งานน่าจะออกมาเป็นแบบนี้มากกว่า เพราะเราดิลงานกับลูกค้าและกับพนักงานโดยตรงมากกว่า คนญี่ปุ่นแค่เช็คงานเฉยๆ แต่การลงมือทำนั้นผู้จัดการสาขาจะเป็นคนสานต่อให้พนักงาน บางครั้ง คนญี่ปุ่นให้คำแนะนำแบบนี้ ให้ทำแบบนี้ แต่เราเองสาขาปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้นความคิดเห็นไม่ตรงกันก็มีบ้าง แต่สุดท้ายแล้วเรามานั่งคุยกันว่า เปลี่ยนแบบไหนถึงจะดีกว่า ต้องใช้เวลาปรับตัวถึงจะเข้าใจกัน
คุณนรินทร์ : สุดท้ายทุกคนต้องมาประชุมหาข้อสรุป เพราะว่าทุกคนคิดเพื่อร้าน อยากให้ร้านออกมาดีทั้งหมด แต่ทางไหนถึงจะดีกว่านั้น เราก็จะมานั่งคุยหาข้อสรุปกันแล้วนำไปปฏิบัติ
เวลาพนักงานทะเลาะกันแก้ไขปัญหาอย่างไร
คุณจีรศักดิ์: เราก็ต้องเรียกมาคุยก่อนว่า สาเหตุมาจากอะไร
คุณนรินทร์ : ถามถึงสาเหตุแล้ว ก็มาวิเคราะห์กัน สุดท้าย เราไม่อยากจะพูดว่า ใครถูกใครผิด แต่อยากให้หาวิธีแก้ไขให้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม ซึ่งในการแก้ปัญหาเราจะแก้กันเองก่อนในสาขา เพราะถ้าแจ้งทางญี่ปุ่นจะเป็นเรื่องที่ใหญ่แล้ว
มีความรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องทำงานกับพนักงานชาวพม่าที่มีจำนวนมาก
คุณนรินทร์ : ก็ดีนะครับ เหมือนอยู่ต่างประเทศ (หัวเราะ) วันแรกในเรื่องภาษาก็ต้องปรับตัวกัน บางทีมาใหม่ภาษาไทยเขาก็ยังพูดไม่ชัด ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะเราสอนด้วยวิธีการทำครับ ให้ค่อยๆ ซึมซับไปเรื่อยๆ จนเขาสามารถพูดภาษาไทยได้และทำขึ้นมาได้ หลายๆคนที่สอนมาก็ไปเป็นเมเนเจอร์สาขาอื่นก็มีเยอะครับ ก็พยายามบอกคนเมียนม่าที่เข้ามาทำงานว่า เวลาที่เข้ามาทำงานในจุดนี้ เขาให้โอกาสเราทำจริงๆ เราก็ต้องตั้งใจ ลองดูว่าจะทำได้ถึงจุดไหน ทำได้นั้นดีแน่นอน ก็ให้ได้เต็มที่ ถ้าคุณทำได้ ถึงจะมาพร้อมกัน ก็อยู่ที่คุณทำงานว่าคุณจะทำได้เยอะแค่ไหน เราไม่จำกัด ไม่แบ่งส่วนว่าเป็นคนเมียนม่า คนไทย เราก็อยู่ด้วยกัน ถึงไม่เป็นงาน ก็สามารถมาทำงานที่นี่ได้ ที่สอนให้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าคุณตั้งใจจริงหรือเปล่า
มีอะไรอยากบอกพนักงานที่ทำงานอยู่ ณ ปัจจุบันนี้หรือเปล่า
คุณนรินทร์ : ทุกคนเท่าเทียมกันอยู่ที่ว่าใครจะขยันกว่ากัน ในเมื่อได้รับโอกาสมาทำงานร้านในจุดนี้แล้วก็ขอให้ตั้งใจ ทุกคนสามารถขึ้นมาเป็นเมเนเจอร์ได้ทุกคน อยู่ทีความตั้งใจของเราทุกคน ถ้าตั้งใจจริงอยากฝากบอกว่า ทำให้เต็มที่ จะถึงจุดนั้นแน่นอน
คุณวาสนา : สอนพนักงานด้วยใจ ไม่แบ่งชนชั้น
ฝากถึงคุณชิมิสึเจ้าของร้าน Shakariki 432
อยากขอบคุณที่ให้โอกาสจนมีถึงวันนี้ได้ ไม่เคยทำงานที่ไหนได้นานขนาดนี้ รู้สึกว่า เป็นกันเอง เป็นครอบครัว รู้สึกดี อยากขอบคุณที่ได้มาเจอ พยายามสอนและผลักดัน เพื่อให้เรามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ร้านShakariki 432 และได้ช่วยรับผิดชอบต่างๆ ที่สำคัญเราได้รับความไว้วางใจในการดำเนินงาน และได้มาเจอเจ้านายแบบนี้ เราได้แบบอย่างมาจากเจ้านายคนญี่ปุ่น และเขาไม่ทิ้งพนักงาน ประทับใจมากๆ
ไม่ว่าจะทำงานที่ไหน เงินเดือนจะสูงหรือไม่ ยังไม่สำคัญเท่า สะดวกใจในการทำงานเลยว่าไหมคะ จะซื้อใจคนได้ ก็ต้องใช้ใจซื้อเท่านั้น แฟนๆ ANNGLE คิดว่า อย่างไรกันบ้างคะ …
อ่านบทสัมภาษณ์ คุณคุณชิมิสึ โทโมฮิโกะ เจ้าของร้านชาการิกิ 432 ที่นี่ : ล้วงลึกเคล็ดลับความสำเร็จจากเจ้าของ ชาการิกิ 432″ ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังที่มีสาขาทั่วกรุงเทพ!
ขอบคุณร้าน ชาการิกิ 432