การตั้ง “ชื่อเล่น” สำหรับพวกเราชาวไทยแล้วถือเป็นเรื่องปกติที่ทำกันมานาน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นชื่อเล่นที่พ่อแม่ผู้ปกครองตั้งให้ แต่ในสังคมญี่ปุ่นนั้นการตั้งชื่อเล่นให้ใครสักคนมีทั้งแง่ดีและแง่ลบ ยกตัวอย่างการเรียกชื่อเล่นของตัวละครในการ์ตูนชื่อดังเรื่อง “โดราเอม่อน” ไม่ว่าจะเป็น “โนบิตะ-คุง” เติม คุง ลงท้ายสำหรับการเรียกเด็กผู้ชาย, “ชิซูกะ-จัง” เติม จัง ลงท้ายสำหรับการเรียกเด็กผู้หญิง หรือการเรียก “โกดะ ทาเคชิ” ว่า “ไจแอนท์” ตามลักษณะรูปร่างของตัวละครที่สูงใหญ่กว่าเด็กทั่วไป
เมื่อการเรียกเพื่อนด้วย “ชื่อเล่น” กำลังจะหายไปจากสังคมโรงเรียนญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมการเรียกเพื่อนร่วมชั้นด้วย “ชื่อเล่น” ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นกำลังจะหายไปจากสังคมโรงเรียนญี่ปุ่นในปัจจุบัน มีการออก “กฎห้ามตั้งชื่อเล่นในโรงเรียนประถม” เมื่อปี ค.ศ. 2013 เพื่อเป็นการป้องกันการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน นักเรียนจะต้องเรียกเพื่อนร่วมชั้นด้วย “นามสกุล” และเติม “ซัง” ลงท้ายชื่อ เพื่อความสุภาพ เป็นการให้เกียรติอีกฝ่าย และป้องกัน “การตั้งชื่อเล่นไม่พึงประสงค์” ที่อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้ง
“ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ชายหรือผู้หญิง ทุกคนจะต้องเรียกชื่อเพื่อนโดยเติม ซัง ลงท้ายชื่อเมื่อพูดคุยกับคุณครู และเด็ก ๆ จะเรียกกันและกันด้วย นามสกุล เสมอ” หญิงชาวญี่ปุ่นวัย 48 ปี ผู้ปกครองของเด็กหญิงสองพี่น้องวัยประถมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 1 จากเขตยาโอะในโอซาก้ากล่าวให้สัมภาษณ์ เธอเล่าต่ออีกว่า แม้จะรู้สึกอ้างว้างกับการไม่มีวัฒนธรรมเรียกชื่อเล่นที่อาจทำให้เด็ก ๆ สนิทสนมกันง่ายขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ “ช่วยไม่ได้” หากคิดถึงในแง่ความเสี่ยงที่เด็กอาจถูกเรียกด้วยชื่อเล่นที่ตัวเขาเองไม่ชอบใจเท่าไหร่นัก
คุณครูอาวุโสจากโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในจังหวัดเฮียวโงะเล่าว่า ในสังคมโรงเรียนเมื่อราว 15 ปีก่อน มีการออกคำสั่งให้ทุกคนเรียกเพื่อนร่วมชั้นด้วยนามสกุลและเติม “ซัง” ลงท้าย ซึ่งไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งแบบในปัจจุบัน แต่เพื่อเป็นการสร้างความเท่าเทียบให้กับเด็ก ๆ ทุกคนในสมัยนั้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนตุลาคมปี 2020 “กฎห้ามเรียกชื่อเล่นในโรงเรียนประถม” กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลมีเดีย สื่อผู้ทำแบบสอบถามบนอินเทอร์เน็ตอย่าง “Japan Trend Research” ได้ทำการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชายและหญิงจำนวน 1,400 คนเมื่อเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกัน ในหัวข้อเกี่ยวกับการออกกฎห้ามเรียกชื่อเล่นในโรงเรียนประถม โดยผลสำรวจของผู้ที่ “เห็นด้วย” มีจำนวน 18.5%, “ไม่เห็นด้วย” 27.4% และผู้ตอบแบบสอบถามเกินกว่าครึ่งหรือ 54.1% ตอบว่า “ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง”
มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 69% ตอบว่า “เคยมีชื่อเล่นสมัยเรียนประถม” และในจำนวนนั้นมี 36.7% ที่ตอบว่า “มีประสบการณ์ไม่ดีกับชื่อเล่น” อยู่ด้วย โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า “เพราะเป็นชื่อเล่นที่ดูหมิ่นดูแคลนลักษณะเด่นในร่างกาย”, “จะเป็นชื่อเล่นที่ดีหรือไม่ดีนั้น มีแค่ผู้ที่ถูกเรียกเท่านั้นที่จะเข้าใจ” แต่ในทางกลับกันก็มีผู้ที่มองในมุมต่างว่า “การเรียกชื่อเล่นทำให้รู้สึกสนิทสนทกันมากขึ้น และช่วยลดระยะห่างทางใจกับเพื่อน ๆ ได้”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการออกกฎห้ามเรียกชื่อเล่นในโรงเรียนประถม แต่สถิติการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียนก็ไม่ได้ลดลงอย่างที่คาดไว้ จากผลสำรวจโดยกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น (MEXT) เกี่ยวกับ “สถิติการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในปี 2019” พบว่า มีสถิติการกลั่นแกล้งจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 612,496 คดี ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามีสถิติบันทึกไว้เพียง 68,563 คดีเท่านั้น โดยสาเหตุที่มีคดีกลั่นแกล้งพุ่งสูงเช่นนี้เกิดจาก “การพูดนินทาว่าร้ายบนอินเทอร์เน็ต” จากสมาร์ทโฟนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
การเรียกชื่อเล่นจะไม่ส่งผลร้าย หากใช้พื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม คุณฮาตาโนะ ทากาฟุมิ (อายุ 50 ปี) อาจารย์พิเศษคณะสาธารณสุขศาสตร์และความเป็นอยู่ที่ดี จากมหาวิทยาลัย Kansai University เล่าว่า สมัยที่เคยไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาช่วงอายุ 20-30 ปี เขามีชื่อเล่นว่า “Tick Tack” จากลักษณะนิสัยที่เป็นคนคิดบวกและชอบเผชิญหน้าแก้ปัญหาเช่นเดียวกับเข็มนาฬิกาที่จะเดินหน้าเสมอ ซึ่งเขาก็ชื่นชอบชื่อเล่นนี้ด้วยเช่นกัน
หลังจากกลับมาญี่ปุ่น คุณฮาตาโนะได้ร่วมจัดโปรแกรมอบรมกับ Japan Adventure Leadership Training ซึ่งเป็นองค์กรจัดอบรมภาวะผู้นำและการสื่อสารในญี่ปุ่น เขาได้นำเทคนิคการเรียกชื่อเล่นมาใช้ในการอบรบ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ที่เพิ่งเคยพบกันเป็นครั้งแรก และคุณฮาตาโนะก็ได้รับชื่อเล่นใหม่จากการเสนอของผู้ร่วมอบรมว่า “ทาโกยากิ” เพราะเขาเกิดที่โอซาก้าและมีลักษณะใบหน้ากลม จากกิจกรรมตั้งชื่อเล่นนี้ก็กลายเป็นแรงจูงใจที่เชื่อมโยงความรู้สึกระหว่างคุณฮาตาโนะและผู้ร่วมอบรมได้เป็นอย่างดี โดยคุณฮาตาโนะอธิบายเพิ่มเติมว่า “การละทิ้งตำแหน่งฐานะทางสังคม จะทำให้คุณเป็นตัวของตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น”
แม้ในการจัดอบรมจะยังคงมีกิจกรรมตั้งชื่อเล่นอยู่ก็ตาม แต่ในปัจจุบันกลับมีข้อสังเกตที่แตกต่างจากสมัยก่อนคือ “มีเด็กรุ่นใหม่ที่อยากให้เรียกเขาด้วยชื่อธรรมดา ๆ เพิ่มมากขึ้น” คุณฮาตาโนะกล่าว พวกเขาจะรู้สึกปลอดภัยหากถูกเรียกด้วยชื่อที่คนรอบข้างส่วนใหญ่ใช้เรียกกัน “และนั่นก็ทำให้กิจกรรมตั้งชื่อเล่นในโปรแกรมอบรมต้องถูกยกเลิกไป” คุณฮาตาโนะกล่าว
อย่างไรก็ตาม คุณฮาตาโนะได้แสดงความคิดเห็นว่าอยากให้มีการเรียกชื่อเล่นภายในโรงเรียนต่อไป โดยแนะนำว่า “หากมีคนที่เรียกเราด้วยชื่อเล่นที่ไม่พึงประสงค์ ก่อนอื่น ให้บอกลักษณะเฉพาะตัวในตัวคุณให้เขารับรู้ จากนั้นก็ให้ตั้งชื่อเล่นที่คุณรู้สึกยอมรับและชื่นชอบมัน”, “การเรียกชื่อเล่นจะไม่ส่งผลร้าย หากใช้พื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และการเรียกด้วยชื่อเล่นที่เราอยากให้อีกฝ่ายเรียก จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันได้มากยิ่งขึ้นด้วย” คุณฮาตาโนะกล่าว
สรุปเนื้อหาจาก : sankei