ช่วงฤดูร้อนในญี่ปุ่น ปัญหาสำคัญจากการรับประทานปลาดิบ คืออาหารเป็นพิษจาก พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis) ซึ่งเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี มารู้สาเหตุของอาหารเป็นพิษและวิธีการป้องกันพยาธิอะนิซาคิสจากคำแนะนำของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยวัสดุนาโนอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยคุมาโมโตะ ดร. ทาคาโอะ นามิฮิรา (Takao Namihira) กันค่ะ
รู้จักพยาธิอะนิซาคิสและอันตรายจากพยาธิชนิดนี้
พยาธิอะนิซาคิส เป็นพยาธิที่พบเริ่มแรกในอวัยวะช่องท้องของปลาวาฬ มีลักษณะคล้ายไส้เดือน มีความหนา 0.5 – 1.0 มิลลิเมตรและมีความยาว 2 – 3 เซนติเมตร ปัจจุบันพบในปลาอีกหลากหลายชนิดได้แก่ ปลาแมคเคอเรล ปลาหมึก ปลาทูแขก ปลาซันมะ รวมถึงปลาแซลมอนและปลาตาเดียว สาเหตุที่พบพยาธิชนิดนี้ในปลาชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะเส้นทางว่ายน้ำของปลาวาฬเปลี่ยนไป เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนปลาวาฬและปัญหาโลกร้อน ซึ่งทำให้ปลาชนิดอื่นๆ กินมูลของปลาวาฬซึ่งมีไข่ของพยาธิเข้าไปมากขึ้น พยาธิชนิดนี้จะอยู่ในอวัยวะช่องท้องของปลาที่ถูกจับมารับประทาน แต่เมื่อปลาตาย อวัยวะในช่องท้องเริ่มเน่าเสีย พยาธิจะไชเคลื่อนที่ไปตามเนื้อปลา โดยปกติพยาธิชนิดนี้จะตายเมื่อนำปลามาแช่แข็งที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสมากกว่า 24 ชั่วโมง แต่ด้วยระบบการขนส่งที่ดีขึ้นในปัจจุบันที่ไม่ทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่ายแม้จะใช้อุณหภูมิตู้เย็น นั่นเป็นเหตุให้ตัวอ่อนของพยาธิมีเวลาในการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวน โดยบางครั้งพบพยาธิถึง 100 ตัวในท้องของปลาแมคเคอเรล การเพิ่มจำนวนของพยาธิในช่องท้องปลาก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้พยาธิไปอาศัยอยู่ตามเนื้อปลามากขึ้น และหากนำปลามารับประทานแบบดิบๆ ก็จะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษขึ้น จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น พบว่าในปีนี้มีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากพยาธิอะนิซาคิสแล้วถึง 124 ราย
อาการอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการรับประทานพยาธิอะนิซาคิส
พยาธิอะนิซาคิสใช้หนามขนาดเล็กที่บริเวณปากและปลายหางแหลมในการไชผนังของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทําให้เกิดแผลขนาดเล็กและอาจทําให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้และปวดท้องอย่างรุนแรง หลังจากรับประทานอาหารที่มีพยาธิอะนิซาคิสเข้าไปเพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยอาการอาจคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหากมีแผลในกระเพาะอาหารขนาดใหญ่
พยาธิชนิดนี้ถูกหุ้มไว้ด้วยเปลือกที่แข็งคล้ายพลาสติก ทำให้มันทนต่อน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและมีชีวิตอยู่ในร่างกายได้นานเป็นสัปดาห์ ดังนั้นหากมีอาการอาหารเป็นพิษดังกล่าว ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้หมอเอาพยาธิอะนิซาคิสออกจากร่างกาย
วิธีการป้องกันอาหารเป็นพิษจากพยาธอะนิซาคิส
สามารถป้องกันได้โดยการนำเครื่องในปลาออกจากตัวปลาทันทีที่ซื้อมาจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต หากจะรับประทานเป็นปลาดิบ ต้องตรวจดูโดยการใช้ไฟฉายแบล็คไลท์ส่อง นำปลาแช่ช่องแข็งที่อุณหภูมิประมาณ -18 องศาเซลเซียสเป็นเวลาตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป หรือปรุงสุกด้วยความร้อนที่สูงกว่า 70 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าพยาธิ
อ่านข่าวแล้วก็เพียงแค่ระวังไว้โดยไม่จำเป็นต้องกลัวจนไม่กล้ารับประทานปลาดิบค่ะ หากชอบปลาดิบก็เลือกร้านอาหารที่สะอาดและมีหลักปฏิบัติเพื่อเตรียมอาหารที่ถูกสุขอนามัย หากซื้อปลาดิบมาหั่นเองก็ลองใช้ไฟฉายแบล็คไลท์ส่องดูให้ดี หรือนำเนื้อปลามาแช่แข็งที่ -18 องศาเซลเซียสเป็นเวลาตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป ก็จะปลอดภัยจากพยาธิร้ายค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก news.yahoo