ไขข้อข้องใจ! ทำไมแคชเชียร์ซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นถึงนั่งไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ เราพอจะเห็นพนักงานแคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ตนั่งทำงานอยู่บนเก้าอี้บ้าง แต่รู้ไหม? ถ้าเป็นในซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นล่ะก็ พนักงานแคชเชียร์มักจะยืนให้บริการอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีเก้าอี้อยู่ใกล้ๆ ให้เห็นเลย ทำไมพนักงานแคชเชียร์ญี่ปุ่นถึงต้องยืนตลอดเวลาหรือมีกฎเกณฑ์อะไรหรือเปล่า? มาหาคำตอบกัน!

ความเห็นชาวเน็ต: จะดีกว่าไหม? ถ้าพนักงานแคชเชียร์จะได้นั่งทำงานกับเขาบ้าง

ถ้าเพื่อนๆ ได้เข้าซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นจะเห็นว่าในโซนแคชเชียร์จะมีเครื่องชำระเงินด้วยตนเอง (セルフレジ) ที่ลูกค้าสามารถสแกนบาร์โค้ดและจ่ายค่าสินค้าเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพนักงาน  และเครื่องชำระเงินกึ่งให้บริการตนเอง (セミセルフレジ) ที่พนักงานจะสแกนบาร์โค้ดสินค้าให้ ส่วนลูกค้าจะเป็นคนหยอดเงินหรือรูดบัตรชำระที่เครื่องเอง ซึ่งที่ไทยเองก็มีเครื่องแคชเชียร์แบบนี้ให้เห็นอยู่บ้างเหมือนกัน ถึงอย่างนั้น ที่ญี่ปุ่นยังถือว่าสัดส่วนของพนักงานแคชเชียร์มีมากกว่าเครื่องแคชเชียร์อัตโนมัติเหล่านี้

セルフレジ
เครื่องให้บริการชำระเงินด้วยตนเอง

โดยปกติแล้ว พนักงานแคชเชียร์ที่ญี่ปุ่นจะยืนทำงานกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นตอนหยิบยกตะกร้าสินค้า หรือตอนยิงบาร์โค้ดเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการให้พนักงาแคชเชียร์ได้นั่งทำงานบ้างนั้นเริ่มมาจากชาวเน็ตในทวิตเตอร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีทวิตของ National Supermarket Association of Japan (全国スーパーマーケット協会) เมื่อปี 2019 ที่กล่าวขอบคุณชาวเน็ตที่ช่วยกันเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ร้านค้าขนาดเล็กเริ่มจ้างแรงงานกลุ่มนี้กันทั่วไปมากขึ้น อีกทั้งถ้าเป็นร้านที่มีพื้นที่กว้างล่ะก็ การจะนำเก้าอี้เข้ามาใช้หรือการทดลองเปลี่ยนรูปแบบการทำงานก็น่าจะง่ายขึ้นด้วย

อีกทวิตหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือทวิตที่มีรูปพนักงานแคชเชียร์ในต่างประเทศเช่นเนเธอร์แลนด์และเกาหลีใต้ที่นั่งทำงานได้ โดยมีข้อสังเกตว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้มีซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้ารายย่อยที่ให้พนักงานแคชเชียร์นั่งทำงานกันมากขึ้นเพื่อถนอมสุขภาพของพนักงาน จึงเป็นจุดที่ทำให้ชาวเน็ตย้อนกลับมาดูสภาพแวดล้อมการทำงานที่ญี่ปุ่นกัน

ในจำนวนนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “ดูเหมือนว่าในต่างประเทศก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากเกิดขึ้นตามโจทย์ของประเทศนั้นๆ แม้ในต่างประเทศจะยังไม่ถือว่าการนั่งทำงานเป็นเรื่องปกติเสมอไป แต่เท่าที่เคยไปซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 600 แห่งทั่วญี่ปุ่นมา ยังไม่เคยเห็นพนักงานแคชเชียร์คนไหนนั่งทำงานเลย”

คุณซุกาวาระ โยชิมิ (菅原佳己) จาก Go-to-chi Supermarket Associaton (全国ご当地スーパー協会) ที่เป็นผู้รู้เรื่องซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศเข้ามาให้คำอธิบายเรื่องการยืนทำงานว่า “การยืนน่าจะช่วยให้พนักงานสามารถยกตะกร้าใส่สินค้าที่หนักได้ง่ายกว่าการนั่งแล้วยก อีกทั้งฉันยังเคยเห็นพนักงานที่เคาะเท้าให้จังหวะตัวเองตอนยิงบาร์โค้ดเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้นด้วย ดังนั้นการนั่งทำงานอาจจะทำให้ลดประสิทธิภาพในการทำงานตอนยิงบาร์โค้ดก็เป็นได้”

เหตุผลที่ว่าทำไมพนักงานแคชเชียร์ถึงต้องยืนทำงาน

ผู้รับผิดชอบของ All Japan Supermarket Association (オール日本スーパーマーケット協会) เองก็กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ปัจจุบัน ในบรรดาสมาชิกสมาคมนั้นไม่มีที่ไหนที่มีการนำเก้าอี้เข้ามาใช้ อีกทั้งที่ผ่านมายังไม่เคยได้ยินว่ามีที่ไหนนำเก้าอี้เข้ามาด้วย”

“เครื่องคิดเงินที่ใช้กันอยู่ ณ ปัจจุบันถูกออกแบบมาเพื่อการยืนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านความสูงของโต๊ะหรือตำแหน่งเครื่องอ่านบาร์โค้ด ดังนั้นการนั่งทำงานจึงน่าจะทำให้ทำงานได้ยาก รวมถึงการยืนทำงานน่าจะช่วยให้ยกเคลื่อนตะกร้าสินค้าหนักๆ หรือเคลื่อนไหวในที่แคบได้ง่ายด้วย”

เป็นความจริงที่ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศหลายแห่งให้พนักงานแคชเชียร์นั่งเก้าอี้ได้เพราะไม่จำเป็นต้องให้พนักงานย้ายหรือเก็บตะกร้าเหมือนในญี่ปุ่น เนื่องจากแคชเชียร์มีลักษณะเป็นสายพานลำเลียง ลูกค้าแค่วางสินค้าบนสายพาน สินค้าก็จะไหลไปทางพนักงานเอง (เหมือนในห้างฯ ซูเปอร์บ้านเรา) อาจจะกล่าวได้ว่าการยืนให้บริการเป็นสิ่งที่เกิดจากจิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่นก็ว่าได้

บนทวิตเตอร์ของ National Supermarket Association of Japan ก็มีทวิตวิเคราะห์ถึงบริบทที่ข้อเสนอนี้ไม่มีความคืบหน้าว่า “เคยมีการนำแคชเชียร์แบบสายพานที่นั่งทำงานได้รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตแบบฝรั่งเศสเข้ามาใช้ แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ เนื่องจากความยุ่งยาก และมีลูกค้าที่ไม่อยากวางของสดบนสายพาน แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้วและมีลูกค้าที่เข้าอกเข้าใจการทำงานของพนักงานในร้านมากขึ้น จึงคิดว่าอาจจะมีการพิจารณาให้นำเข้ามาใช้”

หรือจะเป็นการเพิ่มภาระมากกว่าเดิม?

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ที่อยากให้พนักงานแคชเชียร์นั่งทำงานจะมีอยู่ไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วการนั่งอาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับพนักงานก็เป็นได้ โดยเหตุผลหลักๆ นั้นมีเช่น ความเคยชินซึ่งพนักงานจะคุ้นเคยกับแคชเชียร์ญี่ปุ่นที่พนักงานจะหยิบของจากตะกร้ามายิงบาร์โค้ดแล้วย้ายไปใส่ตะกร้าใบใหม่ให้ลูกค้านำไปใส่ถุงผ้าที่เตรียมมาเอง ดังนั้นพนักงานจะหยิบจับได้ไม่สะดวกหากนั่งทำงาน อีกทั้งยังทำให้ต้องจำวิธีการทำงานใหม่ และกว่าจะปรับตัวได้ก็จะทำงานได้ช้าจนสร้างความไม่สะดวกให้กับลูกค้า รวมถึงการนำเครื่องแคชเชียร์ที่ออกแบบมาเพื่อนั่งทำงานเข้ามานั้นจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ ทำให้การนำมาใช้จริงนั้นทำได้ค่อนข้างยาก

อย่างไรก็ตาม มีบางซูเปอร์มาเก็ตที่มีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับแคชเชียร์ด้วยวิธีแบบนี้ด้วย เช่น “แคชเชียร์แบบช้า” (ゆっくりレジ) สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้เวลาในการจ่ายเงินและไม่ชินกับเครื่องคิดเงินอัตโนมัติกำลังได้รับความนิยม นอกจากจะไม่ต้องรีบแล้วยังมีบริการยกตะกร้าขึ้นรถเข็นให้ด้วย

แม้ว่าการบริการของพนักงานแคชเชียร์ที่มุ่งเน้นการยกย้ายของเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้านั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการนำเก้าอี้เข้ามาใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นลักษณะการบริการที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าด้วยเช่นกัน

ถ้างั้น การเปลี่ยนให้พนักงานแคชเชียร์ทำงานแบบนั่งเก้าอี้ได้นั้นมีมากน้อยแค่ไหนกัน? ผู้รับผิดชอบจาก All Japan Supermarket Association กล่าวว่า “ณ ปัจจุบันที่การนั่งงทำงานที่แคชเชียร์ถูกนำมาใช้แพร่หลายในต่างประเทศกันมากขึ้นนี้ มีความเป็นไปได้ว่าในญี่ปุ่นเองก็คงมีการนำเข้ามาปรับใช้เพิ่มขึ้นทีละนิดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่โจทย์ที่เพียงนำเก้าอี้เข้ามาวางแล้วจะจบเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของตัวเครื่อง ค่าใช้จ่าย และอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึง รวมถึงต้องมีช่วงลองผิดลองถูกในกลุ่มพนักงานแคชเชียร์ด้วยเช่นกัน”

ทุกคนคิดยังไงบ้างคะกับเรื่องนี้ พนักงานควรเก้าอี้นั่งไหม คิดว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อการทำงานของพนักงานมากกว่ากันคะ ส่วนตัวก็อยากให้ตัวคนทำงานเองได้มีสิทธิ์ออกเสียงในเรื่องนี้เพื่อร่วมกันปรับปรุงการทำงานที่ยั่งยืนต่อทั้งตัวบุคลากรเองและตัวลูกค้าค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก news.yahoo.co.jp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save