สวัสดีครับ วันนี้มีข่าวเกี่ยวกับผู้สูงอายุในญี่ปุ่นที่ในอนาคตข้างหน้าอาจมีแนวโน้มจะป่วยเป็น โรคสมองเสื่อม มาฝากกัน
คนญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวแล้ว และไทยเราก็เช่นกัน เวลาพูดถึงแนวโน้มผู้สูงอายุ มีสองคำที่ควรจะรู้ คำแรกคือ “อายุขัย” หรือ Average life span ภาษาญี่ปุ่นใช้ว่า เฮคินจุเมียว (平均寿命) หมายถึง ช่วงชีวิตของคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ส่วนอีกคำก็คือ “อายุคาดเฉลี่ย” หรือ Average Life expectancy ภาษาญี่ปุ่นใช้ว่า เฮคินโยะเม (平均余命) ที่แบ่งตามอายุต่าง ๆ เช่น อายุคาดเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปี หมายถึง เมื่อคนคนหนึ่งมีอายุ 60 ปีแล้วคาดว่าจะมีอายุต่อไปได้อีกกี่ปีจนกว่าจะเสียชีวิต เป็นต้น
ทุกปีกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นจะออกรายงาน “ตารางชีวิต” ที่จะระบุถึงความเป็นไปได้ที่ประชากรในวัยต่าง ๆ จะเสียชีวิตภายในหนึ่งปี และจำนวนปีเฉลี่ยที่ประชากรจะมีชีวิตอยู่หลังจากถึงวัยนั้น
ตามรายงานฉบับล่าสุดสำหรับปี 2020 ระบุว่า อายุขัยเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นเพศชายอยู่ที่ 81.64 ปี และเพศหญิงที่ 87.74 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยปีก่อนหน้าอยู่ที่ 0.22 ปี และ 0.30 ปีสำหรับเพศชายและเพศหญิง อายุคาดเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นเพศชายและหญิงในวัย 60 ปี มีแนวโน้มมีชีวิตอยู่ได้อีก 24.21 ปีและ 29.46 ปีตามลำดับ
เมื่อดูค่าอายุย้อนไปพบว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 1947 อายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นสำหรับเพศชายอยู่ที่ 50.06 ปี และเพศหญิงอยู่ที่ 53.96 ปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มว่าคนเราจะสามารถมีอายุยืนนานได้ถึง 100 ปี ก็ยังมีเรื่อง “โรคสมองเสื่อม” ในผู้สูงอายุที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย กระทรวงสาธารณสุขฯ ของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า “ในปี 2025 ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประชากรประมาณ 7 ล้าน 3 แสนคน หรือ จำนวน 1 ใน 5 ของประชากรอายุ 65 ปีจะเป็นโรคสมองเสื่อม” และในอีก 5 ปีให้หลังจากนั้นหรือปี 2030 จะมีคนวัย 65 ปีเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นอีกถึง 1 ล้านคน
โรคสมองเสื่อม คืออะไร?
โรคสมองเสื่อม (Dementia) คือภาวะความรู้และทักษะที่เคยมีอยู่บกพร่องหรือเสื่อมลงจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและบุกคลิก เช่น ความสามารถในการสื่อสาร การคำนวณ การตัดสินใจ รวมถึงการสูญเสียความสามารถแม้ในพฤติกรรมง่าย ๆ เช่น การติดกระดุมเสื้อ โรคสมองเสื่อมถือว่าเป็นโรคร้ายแรงที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดที่ต้องดูแล
อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองเสื่อมแตกต่างจากภาวะหลงลืม การหลงลืมที่เกิดจากการที่มีอายุมากขึ้นนั้น ความทรงจำยังคงหลงเหลืออยู่ในส่วนลึกและสามารถรื้อฟื้นความทรงจำได้จากคำใบ้ และยังสามารถรับรู้บอกกล่าวถึงสถานที่และสภาวะรอบตัวได้
ภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะสมองเสื่อมจากการสูญเสียเซลส์ประสาทในสมองที่รู้จักกันดีในชื่อ “โรคอัลไซเมอร์” (Alzheimer’s disease) โดยพบได้ในชาวญี่ปุ่นที่มีภาวะสมองเสื่่อมถึง 67.6% ภาวะสมองเสื่อมจากปัญหาจากหลอดเลือดในสมอง 19.5% ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากสาร Lewy Bodies ที่สะสมในสมอง เป็นต้น
จากการวิจัยพบว่าภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์และปัญหาหลอดเลือดมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรค NCDs (Non-communicable diseases) หรือโรคที่เกิดจากตัวบุคคลหรือเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ดังนั้นการให้ความสำคัญกับสมดุลอาหารและออกกำลังกายมีส่วนช่วยในการลดภาวะสมองเสื่อมได้ครับ
นอกจากนี้ หากสามารถตรวจพบภาวะสมองเสื่อมในระยะเริ่มแรกและได้รับการรักษาที่เหมาะสมด้วยการให้ยา อาจช่วยชะลอการเสื่อมของสมองได้ ขณะนี้บริษัทยาหลายแห่งในญี่ปุ่นกำลังทำการวิจัยร่วมกับบริษัทยาในประเทศตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ยาบางตัวได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขและให้ใช้กับผู้ป่วยได้แล้ว และยังมีอีกหลายตัวที่ยังอยู่ขั้นตอนทดลองในคลินิก เชื่อกันว่าความต้องการของยาชะลอภาวะสมองเสื่อมจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุประชากรที่เพิ่มขึ้น
อย่างที่กล่าวไปว่าอาหารและการออกกำลังกายมีส่วนช่วยในการลดภาวะสมองเสื่อม และยังมีข้อดีในการป้องกันโรคอื่น ๆ ด้วย สำหรับคนวัยกลางคน ตอนนี้ยังไม่สายที่จะเริ่มหันมาดูแลตัวเองนะครับ สวัสดีครับ
สรุปเนื้อหาจาก Ichiyoshi, Thonburi Hospital