คนที่ทำสายงานญี่ปุ่นคงจะทราบกันดีว่าบริษัทญี่ปุ่นบางแห่งนั้นค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องความสุภาพของการแต่งกายและสีผม แตกต่างจากบริษัทสัญชาติตะวันตกที่ไม่ค่อยเคร่งเรื่องกฎระเบียบมากนัก แต่ถ้าสายงานนั้นจำเป็นต้องพบปะลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสัญชาติใดก็ต้องคำนึงถึงระดับความสุภาพตามความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่ความจริงแล้วบริษัทญี่ปุ่นมีข้อห้ามเรื่องการทำสีผมในที่ทำงานอยู่จริงหรือ?
เครือ Pan Pacific International Holdings Corporation (PPIH) เช่น “ดงกิโฮเตะ (Don Quijote)” ได้ให้การยอมรับเรื่องการอนุญาตให้พนักงานสามารถทำสีผมตามอิสระได้แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.2022 เป็นต้นมา และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ก็ได้ผ่อนผันเรื่องกฎระเบียบการทำสีผมรวมถึงการแต่งกายของพนักงานด้วย มาถึงตอนนี้แล้วผลเป็นอย่างไรมาดูกันค่ะ
เครือ PPIH ได้มีการยอมรับเรื่องบุคลิกและเอกลักษณ์ที่หลากหลายของแต่ละบุคคลจึงได้ผ่อนผันเรื่องกฎระเบียบการแต่งกายของพนักงาน โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับการให้บริการใหม่ๆ อีกด้วย ซึ่งร้านดงกิโฮเตะเองก็ได้เริ่มผ่อนปรนเรื่องการแต่งกายรวมถึงให้อิสระกับพนักงานในการทำสีผมอีกด้วย
ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน บริษัทเครือ Uny ที่เป็นเจ้าของซูเปอร์มาเก็ต “Apita”, “Piago” (จังหวัดไอจิ) เองก็ได้ตัดสินใจให้พนักงานทำสีผมได้อย่างอิสระด้วยเช่นกัน จากกฎระเบียบเดิมที่ให้พนักงานมี “ผมสีดำหรือย้อมสีน้ำตาลเข้ม” ได้เท่านั้น
นอกจากนี้การผ่อนผันกฎระเบียบดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะอนุญาตให้เฉพาะแค่พนักงานหน้าร้านเท่านั้น แต่ยังอนุญาตให้กับพนักงานที่ทำงานเบื้องหลังอยู่ในออฟฟิศอย่าง ฝ่ายบุคคล, ฝ่ายกฎหมาย, ฝ่ายจัดการระบข้อมูล, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นต้นอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในรอบ 50 ปีเลยก็ว่าได้
ความรู้สึกของฝ่ายที่ “เหมือนได้กลับเป็นตัวเองอีกครั้ง”
とても良い。こういう衝突のない多様性はどんどん進めてほしい。店舗スタッフはすでに自由化していたが、人事や法務、情報システム、広報などに従事する社員も自由な髪色が認められるように。/ドンキ、「金髪OK」を管理部門にも拡大 ルール緩和がもたらした効果とは https://t.co/h4NcxmALtc
— 佐々木俊尚 (@sasakitoshinao) March 8, 2023
ใครจะคิดว่าการผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นผลได้แทบจะในทันที เนื่องจากตามหน้าร้านของแต่ละสาขามีจำนวนคนที่มาสมัครเป็นพนักงานพาร์ทไทม์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่เหมือนถูกจำกัดความชอบและอิสระเสรีในการเลือกย้อมสีผม แต่เมื่อจำเป็นต้องทำงานจึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของแต่ละบริษัท บางคนถึงขนาดคิดเรื่องเปลี่ยนที่ทำงาน แต่เมื่อได้ยินว่ามีการผ่อนปรนกฎระเบียบการทำสีผม ก็คิดว่าจะตั้งใจทำงานที่บริษัทนี้อีกครั้ง
ซึ่งพนักงานบางคนไปเปลี่ยนสีผมทันทีหลังจากบริษัทผ่อนปรนกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายและการทำสีผม และยังกล่าวอีกว่า “เหมือนได้กลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง” อีกด้วย
บริษัทญี่ปุ่นบังคับพนักงานทำผมเข้มได้เท่านั้นจริงหรือ?
ก่อนหน้านี้มีกรณีที่พนักงานขับรถของบริษัท Osaka Municipal ยื่นฟ้องต่อบริษัทเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกของพนักงานที่ควรได้รับอิสระแถมยังชนะคดีอีกด้วย คคีฟ้องร้องดังกล่าวเกิดจากการที่บริษัทในโอซาก้าสั่งห้ามคนขับรถไว้หนวดเครา โดยอ้างว่า “การไว้หนวดเคราทำให้ดูไม่สะอาด” ทำให้พนักงานคนขับรถไม่พอใจจึงได้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
บริษัทที่เข้มงวดเรื่องกฎระเบียบในการทำงานมักเป็นโรงงานผลิตต่างๆ ซึ่งความจริงแล้วการทำงานในโรงงานนั้นมีโอกาสที่จะออกไปพบปะลูกค้าหรือคนภายนอกบริษัทน้อยมาก การบังคับเรื่องสีผมอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่อย่างไรก็ตามความเหมาะสมก็ยังขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจของโรงงานนั้นๆอยู่ดี โดยส่วนใหญ่ข้อบังคับต่างๆ ตามโรงงานนั้นกำหนดขึ้นมาเพื่อป้องกันด้านความปลอดภัยหรือความสะอาด เช่น โรงงานอาหารจะมีกฎข้อบังคับให้พนักงานเก็บผมในหมวกให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยผมยาวออกมาเพื่อป้องกันเส้นผมหรือสิ่งแปลกปลอมร่วงหล่นลงไปในสินค้า หรือป้องกันผมเข้าไปพันในเครื่องจักรจนอาจเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายร้ายแรง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ในความจริงแล้วไม่ว่าจะทำงานในบริษัททั่วไปหรือในโรงงานก็ตาม นอกจากยูนิฟอร์มที่บริษัทกำหนดแล้วกฎหมายไม่ได้มีกำหนดเป็นข้อห้ามชัดเจนว่าควรทำสีผมแบบไหน แถมกฎหมายยังบอกอีกว่า “สีผมและทรงผมควรได้รับการเคารพในฐานะเสรีภาพส่วนบุคคล” กล่าวคือ ทั้งสีผมและทรงผมนั้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพส่วนบุคคล ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้วบริษัทจึงไม่สามารถกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดกับเรื่องนี้ได้
การทำสีผมและทรงผมในที่ทำงานจึงควรจะเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างอิสระ ถึงแม้ปัจจจุบันจะเริ่มมีบริษัทที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่ใช่ว่าทุกที่จะผ่อนปรนให้เสียหมด เมื่อเราตัดสินใจเข้าทำงานในบริษัทไหนก็ตาม ก็จำเป็นต้องเคารพกฎระเบียบของบริษัทนั้นๆ หลังจากนี้แนวโน้มของเทรนด์ดังกว่าวจะขยายไปได้กว้างขวางแค่ไหนก็ยังคาดเดาไม่ได้ คงต้องรอดูกันต่อไปแล้วล่ะค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก itmedia.co.jp, koujoukyujin.work